เกาะติดการลงทุนระบบหุ่นยนต์

คอลัมน์ Smart SMEs
โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ธนาคารกรุงเทพ

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ผมขอนำเสนอสถานการณ์การลงทุนในระบบหุ่นยนต์ของอุตสาหกรรมการผลิตในเอเชีย เนื่องจากธุรกิจหลายประเภทมีแนวโน้มนำระบบหุ่นยนต์เข้ามาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการทำงาน ตลอดจนลดต้นทุนการผลิต

รายงานวิเคราะห์อุตสาหกรรมการใช้งานเทคโนโลยีระบบหุ่นยนต์ (robotics) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) พบว่าประเทศจีนเตรียมลงทุนหุ่นยนต์มากถึง 27,293 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8 แสนล้านบาท) ในอีก 2 ปีข้างหน้า เพิ่มจากปี 2562 ที่มีมูลค่า 16,883 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5 แสนล้านบาท) ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียนก็มีแนวโน้มนำระบบหุ่นยนต์มาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้นเช่นกัน สำหรับไทย อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นกลุ่มที่มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้มากที่สุด โดยดีป้าคาดว่ามูลค่าการลงทุนในระบบหุ่นยนต์ของไทยจะเพิ่มจาก 1,581 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.7 หมื่นล้านบาท) ในปี 2562 เพิ่มเป็น 2,642 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.9 หมื่นล้านบาท) ภายในปี 2564

สาเหตุที่แนวโน้มการลงทุนในระบบหุ่นยนต์เพิ่มสูงขึ้น มาจากพัฒนาการของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ก้าวหน้าขึ้น จนทำงานที่มีความเสี่ยงสูงแทนมนุษย์ได้ จึงช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน ลดการบาดเจ็บ หรือสูญเสียของพนักงาน อีกทั้งหุ่นยนต์ยังทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยคุณภาพสม่ำเสมอ และทำการผลิตได้ตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ ภาครัฐก็มีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาใช้หุ่นยนต์มากขึ้น โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการในการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อช่วยเอสเอ็มอีไทยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมการเกษตร มุ่งหวังให้เกษตรกรนำหุ่นยนต์มาเป็นเครื่องมือทำการเกษตร โดยร่วมมือกันเป็นวิสาหกิจชุมชนและดำเนินการแบบ smart farming เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร โดยได้เริ่มนำร่องในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ เป็นต้น

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่ลงทุนในหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติเพื่อปรับปรุงการผลิต โดยยกเว้นภาษีเงินได้ให้ 3 ปี ในวงเงินที่ยกเว้นไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติ ซึ่งมีหลักเกณฑ์การพิจารณาทั้งในเรื่องการประหยัดพลังงาน การนำพลังงานทดแทนมาใช้ และต้องไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องมีการปรับปรุงเครื่องจักรในสายการผลิต เช่น การติดตั้งหุ่นยนต์ชุดป้อนวัตถุดิบอัตโนมัติ หรือการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ทำให้คุณภาพผลิตภัณฑ์ดีขึ้น หรือการนำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ

ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำแผนพัฒนา industrial transformation platform (ITP) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมมาตรการสนับสนุนการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (robotics & automation) เข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ แบบครบวงจรในจุดเดียว เริ่มต้นจากการขอรับการส่งเสริมการลงทุน การขอรับคำปรึกษา การประเมินความพร้อมและความคุ้มค่าในการลงทุน การจัดหาแหล่งเงินทุนและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงการจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการที่มีความชำนาญด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ หรือ system integrator (SI) โดยเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอุตสาหกรรม (I-industry) เพื่อช่วยวิเคราะห์และประเมินศักยภาพธุรกิจก่อนเริ่มลงทุนติดตั้งระบบสำหรับใช้งานในโรงงาน

ข้อมูลที่ผมนำมาเสนอทั้งหมดนี้ หวังว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ เพราะหากเราเริ่มปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่ระบบอัตโนมัติได้ก่อน ก็จะช่วยให้แข่งขันได้ในโลกยุคใหม่ และยังสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นด้วย