เศรษฐกิจดิ่ง “หนี้เสีย” ผงกหัว แบงก์เร่งสกัด-ตั้งทีมทวงหนี้

เศรษฐกิจแย่-หนี้เสียแบงก์ผงกหัว ! “กสิกรไทย” ประเมินปีหน้าเอ็นพีแอลแตะ 4% ฟาก “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” เผยสินเชื่อบุคคลเห็นสัญญาณหนี้เสียตั้งแต่ ส.ค.-ก.ย. “ฐากร” เร่งจัดทีม “หยุดเลือดไหล” ปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้าผิดนัดชำระก่อนเป็นเอ็นพีแอล เข้มปล่อยกู้ลูกค้าใหม่ เชื่อทุกแบงก์เจอปัญหาไม่ต่างกัน “กรุงไทย” เร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้าเอสเอ็มอี

กสิกรฯตั้งรับ NPL ปีหน้า 4%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและไทยอยู่ในทิศทางชะลอตัว โดยที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.8% จากเดิมที่คาดการณ์ 3.3% และล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้โต 2.9% ซึ่งได้สะท้อนผ่านคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงิน ที่พบว่าสถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนกันยายน2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากต้นปี โดยเฉพาะ3 ธนาคารใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพ, กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ ทั้งยังมีแนวโน้มจะขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงปีหน้า จากที่นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เป้าหมายทางการเงินปี 2563ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตเงินให้สินเชื่อรวมที่ 4-6% ขณะที่สัดส่วนเอ็นพีแอลปีหน้าอยู่ที่ 3.6-4.0% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นจากตัวเลข NPL ของธนาคารกสิกรไทย ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2562 อยู่ที่ระดับ3.53% ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ระดับ 3.34%

“เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังเผชิญความท้าทายจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังคงยืดเยื้อ เงินบาทที่ยังคงแข็งค่าส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คาดว่าปี 2563 การส่งออกไทยจะขยายตัวที่ -2% ด้านภาคเศรษฐกิจภายในประเทศจะเป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ จากการเดินหน้าโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทิศทางดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง ท่ามกลางหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง”

กรุงศรีฯหนี้เสียผงกหัว

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ค่อนข้างซบเซา พบว่าสัญญาณการจับจ่ายผ่านบัตรเครดิตชะลอตัวลง โดยเฉพาะในหมวดร้านอาหาร นอกจากนี้ พบว่าช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมาเห็นการผงกหัวขึ้นของตัวเลขเอ็นพีแอล โดยเฉพาะในสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ของกรุงศรี คอมซูมเมอร์ โดยเดือน ก.ย. 2562 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 2.5% จากช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.อยู่ที่ 2.3-2.4% ส่วนเอ็นพีแอลของบัตรเครดิตอยู่ที่ประมาณ 1.1% ยังค่อนข้างทรงตัว

“เมื่อ 3-4 เดือนก่อนเอ็นพีแอลพีโลนลดลงไปอยู่ในจุดต่ำสุดในรอบ 5-6 ปี และตั้งแต่เดือน ส.ค.ก็เริ่มไต่ขึ้นมา ก็สะท้อนวัฏจักรของเศรษฐกิจ” นายฐากรกล่าว

โดยช่วง 9 เดือนของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอยู่ที่ราว 2.7 แสนล้านบาท เติบโตประมาณ 11% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ขณะที่ยอดสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 7.2 หมื่นล้านบาทเติบโตราว 9% โดยยอดสินเชื่อคงค้างรวมอยู่ที่ 1.35 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 7%แบ่งเป็นในส่วนของบัตรเครดิตราว 7 หมื่นล้านบาท และพีโลน 6.5 หมื่นล้านบาท

จัดทีมตามหนี้-หยุดเลือดไหล

นายฐากร กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดการหนี้เสียของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ จะมีทีมติดตามทวงถามหนี้เอง ซึ่งเมื่อเริ่มเห็นสัญญาณเอ็นพีแอลกลับมาเพิ่มขึ้น สิ่งสำคัญคือการเตรียมทีมติดตามทวงถามหนี้ไว้ให้พร้อม

“พอรู้แล้วว่าเทรนด์เอ็นพีแอลกำลังมาก็ต้องมั่นใจว่าทีมทวงถามหนี้มีกำลังเพียงพอ เพราะแต่ละคนก็โทร.หาลูกค้าได้ในจำนวนจำกัด ขณะเดียวกัน ก็ต้องทยอยหยุดเลือด คือไม่ให้เอ็นพีแอลลุกลาม โดยต้องเข้าไปดูรายละเอียดลูกหนี้เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา เช่น ลูกหนี้ที่มีปัญหาเป็นลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยผิดนัดชำระมาก่อนหรือไม่ ถ้าเป็นแบบนั้นก็ต้องดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ซึ่งอาจเกิดจากสภาพเศรษฐกิจก็ได้ หรือลูกค้าเก่าซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมาไม่เคยผิดนัดเลย ก็ต้องดูว่าทำไมอยู่ดี ๆ ถึงผิดนัด คือต้องมีการพูดคุยกับลูกค้ามากขึ้น ไม่ใช่ทวงอย่างเดียว เปลี่ยนโรลการทำงานจากทวงหนี้เป็นการให้คำปรึกษา พูดคุยกับลูกหนี้เพื่อให้ปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ต้น ๆ โดยต้องเทกแอ็กชั่นให้เร็วที่สุดเพราะถ้าเลี้ยงไข้ไปก็อาจไม่เป็นประโยชน์” นายฐากรกล่าว

ประกอบกับตอนนี้กฎหมายการทวงถามหนี้ฉบับใหม่ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 21 พ.ย.นี้ ก็มีการกำหนดให้เจ้าหนี้ทวงถามหนี้ได้วันละ 1 ครั้งเท่านั้น ซึ่งก็ส่งผลกระทบให้กับการติดตามหนี้ของธนาคารเช่นกัน

เข้มปล่อยกู้รายใหม่

นายฐากร กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ก็ตรวจสอบข้อมูลลูกค้าผ่านเครดิตบูโรอย่างละเอียดมากขึ้น เพื่อดูพฤติกรรมการชำระเงิน พฤติกรรมการขอสินเชื่อ เช่น เมื่อลูกค้าเริ่มผิดนัดชำระ ก็ต้องเข้าไปเช็กเครดิตบูโรดูข้อมูลประวัติว่ามีการไปขอสินเชื่ออื่นเพิ่มมาหรือไม่ เพื่อวางแผนแก้ปัญหา หาทางออก เป็นต้น นอกจากนี้ ในสถานการณ์ที่เอ็นพีแอลเริ่มกลับมา ก็ต้องเข้มงวดการเพิ่มวงเงินชั่วคราวให้ลูกค้ามากขึ้น ซึ่งต้องดูวัตถุประสงค์รวมถึงจำนวนเงินที่ขอเพิ่ม

นอกจากนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ก็จะเข้มงวดการให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายใหม่ ๆที่เข้ามามากขึ้นด้วย โดยจะนำเกณฑ์ภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ที่ไม่เกิน 70% มาใช้ หากลูกค้ามี DSR เกินจากนี้ก็จะไม่ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะเริ่มในช่วงต้นปี 2563

นายฐากร กล่าวเสริมว่า ในส่วนของธนาคารกรุงศรีฯปัจจุบันเอ็นพีแอลถือว่ายังต่ำกว่าทั้งระบบแบงก์ อย่างไรก็ดี ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งคิดว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันเกือบทุกแบงก์

KTB เร่งปรับโครงสร้างหนี้ SMEs

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า เอ็นพีแอลรวมของธนาคาร ณ สิ้น ก.ย. 2562 มูลค่าอยู่ที่ 107,438 ล้านบาทโดยธนาคารจะพยายามลดให้ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ให้ได้ซึ่งการบริหารเอ็นพีแอลต้องดูราคาเพราะไม่สามารถขายเหมาเข่งทั้งพอร์ตได้ และต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบพอสมควร เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจจะต้องโดนตรวจสอบเข้มข้น ในขณะที่แบงก์พาณิชย์อื่น ๆ อาจจะใช้วิธีตัดหนี้เสียขายได้มากกว่า

ขณะที่นายวีระพงศ์ ศุภเศรษฐ์ศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเอ็นพีแอลสินเชื่อเอสเอ็มอีของกรุงไทยอยู่ที่ระดับ 2.1%และคาดว่าถึงสิ้นปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับปัจจุบัน ซึ่งถือว่าต่ำกว่าระบบอยู่ที่ 4-6% โดยสถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะลอตัวมีลูกค้าเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารมากขึ้นประมาณ 1,000 รายแต่ก็ยังไม่ถึง 10% ของพอร์ตเอสเอ็มอี

“ปีนี้ถือว่าธนาคารได้มีการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีให้เหมาะสมกว่าปีที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ลูกค้าเอสเอ็มอีของกรุงไทยแข็งแรงพอสมควร” นายวีระพงศ์กล่าว

ขณะที่นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้คาดว่าแบงก์จะดูแลแก้ปัญหาเอ็นพีแอลในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้เอ็นพีแอล ณ สิ้นปีออกมาต่ำกว่าไตรมาส 3 ที่หนี้เสียขยับตัวเพิ่มขึ้น โดยผ่านวิธีการต่าง ๆ เช่น เร่งปรับโครงสร้างหนี้ การขายหนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ สถานการณ์เอ็นพีแอลยังต้องติดตามใกล้ชิด เนื่องจากแปรผันตามภาวะเศรษฐกิจ