“บิ๊กตู่” กู้ขาดดุลทะลุ 2 ล้านล้าน ปี’63 สูงเฉียด 6 แสนล. ทุบสถิติ

ปีงบประมาณ 2563 ที่รัฐบาลตั้งกรอบงบประมาณรายจ่ายรวมไว้ที่ 3.2 ล้านล้านบาท เป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุล 4.69 แสนล้านบาท

หมายความว่า รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 4.69 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลในปีงบประมาณ 2563 นี้ จะอยู่ที่ 5.69 แสนล้านบาท ถือว่าสูงเป็นประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีวงเงินกู้ชดเชยการขาดดุลที่เหลื่อมปีมาจากปีงบประมาณ 2562 ถึง 1 แสนล้านบาท

“ปีงบประมาณ 2563 จะมีวงเงินชดเชยขาดดุลที่วงเงินสูง เนื่องจากมีวงเงินของปี 2562 ที่มากู้เหลื่อมปีราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนวงเงินที่เหลื่อมปีมา 1 แสนล้านบาท สามารถดำเนินการกู้ได้ทันที แม้ในช่วงที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ยังไม่มีผลบังคับใช้ ส่วนอีกกว่า 4 แสนล้านบาทต้องรอกฎหมายงบประมาณบังคับใช้ก่อน ซึ่งจะไปเริ่มกู้ในไตรมาส 2 หรือประมาณเดือน ก.พ. 2563 เป็นต้นไป” แหล่งข่าวกล่าว

ดังนั้น ช่วงที่การจัดทำงบประมาณจะล่าช้ามากกว่า 1 ไตรมาสนี้ การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจะไม่สะดุด และไม่กระทบกับการออกพันธบัตรเพื่อหล่อเลี้ยงตลาด ซึ่งทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้หารือกับผู้ร่วมตลาดตราสารหนี้เพื่อทำความเข้าใจไปตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา

“ความต้องการระดมทุนในปีงบประมาณ 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 แสนล้านบาท ดังนั้น ก็จะกู้เฉลี่ยประมาณไตรมาสละ 5 หมื่นล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ หากย้อนไปตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 จนถึงปิดหีบปีงบประมาณ 2562 พบว่า รัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีการกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น 2,042,258 ล้านบาท ซึ่งหากปีงบประมาณ 2563 กู้เต็มเพดานที่ 5.69 แสนล้านบาท ก็จะทำให้การกู้เงินของรัฐบาลที่มี “บิ๊กตู่” เป็นแม่ทัพใหญ่จะพุ่งเป็น 2,611,258 ล้านบาท

ขณะที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 2561-ก.ย. 2562) ที่ผ่านมา รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้นกว่า 2.53 ล้านล้านบาท ขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 3.04 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลไปทั้งสิ้นกว่า 3.48 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 5.12 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นปีงบประมาณก่อน เงินคงคลังปลายงวดลดลงไปกว่า 1.2 แสนล้านบาท หรือ 19% ขณะที่การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลในปีงบประมาณ 2562 ต่ำกว่าปีงบประมาณก่อนกว่า 1.5 แสนล้านบาท หรือ 30.3%

โดยการกู้ชดเชยขาดดุลที่ลดลงในปีที่ผ่านมานั้น ก็เพื่อไม่ให้เกิดการสะดุดในช่วงรอยต่อที่มีการจัดทำงบประมาณปี 2563 ล่าช้าไปกว่า 1 ไตรมาสนั่นเอง