ก.ล.ต. ลงดาบ 5 ผู้บริหารบจ. ใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น ปรับรวมกว่า 7 ล้านบาท

ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง 2 กรณีความผิด บุคคลใช้ช้อมูลภายในขายหุ้น เผยเคสแรกพบผู้กระทำความผิด 2 ราย กรณีอาศัยข้อมูลภายในขายหุ้น AMC ส่วนอีกเคสมีผู้กระทำความผิด 3 ราย กรณีอาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น TRUBB

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดรวม 2 ราย ได้แก่ นางเพ็ญจันทร์ ยงวงศ์ไพบูลย์ กรณีใช้ข้อมูลภายในขายหุ้นบริษัท เอเซีย เมทัล จำกัด (มหาชน) (AMC) ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลอื่น และนายพิชิต ฉัตรสกุลวงศ์ กรณีช่วยเหลือให้เกิดการกระทำความผิดดังกล่าว โดยเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่ง รวมจำนวน 2,762,005 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามบุคคลทั้งสองเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร

หลังจากก.ล.ต. ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 นางเพ็ญจันทร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและรองกรรมการผู้จัดการของ AMC ได้รู้ข้อมูลจากการปฏิบัติหน้าที่ว่า งบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ของ AMC จะแสดงผลขาดทุนจำนวน 90.40 ล้านบาท นางเพ็ญจันทร์ จึงได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวซึ่งถือเป็นข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อราคาหลักทรัพย์ สั่งขายหุ้น AMC ที่อยู่ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายพิชิต เพื่อนของสามี ในช่วงระหว่างวันที่ 14 – 26 กรกฎาคม 2560 จำนวน 1,000,000 หุ้น ก่อนที่งบการเงินดังกล่าวจะเปิดเผยต่อสาธารณชนในวันที่ 11 สิงหาคม 2560 จึงทำให้นางเพ็ญจันทร์ หลีกเลี่ยงผลขาดทุนจากราคาหุ้น AMC ที่ลดต่ำลงได้

การกระทำของ นางเพ็ญจันทร์ เป็นการซื้อขายหลักทรัพย์โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 243(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 รวมทั้งใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลอื่นในการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 297 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ดังกล่าว

สำหรับ นายพิชิต เป็นการกระทำการด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่นางเพ็ญจันทร์กระทำความผิดตามที่บัญญัติในมาตรา 242(1) อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 315 ประกอบ มาตรา 242(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และเป็นการยินยอมให้นางเพ็ญจันทร์ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อปกปิดตัวตน เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อันเป็นการฝ่าฝืนและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 297 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ดังกล่าว

คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับ นางเพ็ญจันทร์และนายพิชิต โดยให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดให้แก่ ก.ล.ต. รวมเป็นเงิน 2,140,037.50 บาท และ 621,967.50 บาท ตามลำดับ และกำหนดระยะเวลาห้ามนางเพ็ญจันทร์และนายพิชิตเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 14 เดือน และ 9 เดือน ตามลำดับ

ทั้งนี้ การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์จะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง หากผู้กระทำความผิดทั้ง 2 รายไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ชำระค่าปรับทางแพ่งตามอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนด ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดให้แก่ ก.ล.ต. รวมทั้งขอให้ศาลแพ่งกำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเวลา 5 ปี และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 2 เท่าของระยะเวลาที่ ค.ม.พ. กำหนด นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังเปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดรวม 3 ราย ได้แก่ นางสาวปัญจมา เธียรวิวรรธน์ นายอรรถวิท เธียรวิวรรธน์ และนางทิพวรรณ สุธาทิพย์กุล กรณีใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้นบริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TRUBB) โดยเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่ง รวมจำนวน 4,598,967.29 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามบุคคลทั้งสามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร

ตามที่ ก.ล.ต.ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าผู้กระทำความผิด 3 ราย ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลประกอบการของ TRUBB ในช่วงต้นปี 2560 ที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยงบการเงินไตรมาส 1 มีกำไร 109 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขาดทุน 30.45 ล้านบาท และเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่กำไร 15.72 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้น TRUBB ก่อนที่ข้อมูลดังกล่าวจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

(1) นางสาวปัญจมา ขณะเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการของบริษัทย่อยของ TRUBB ซึ่งรู้ข้อมูลเกี่ยวกับผลประกอบการดังกล่าวของ TRUBB รวมถึงบริษัทย่อยที่ดีขึ้นในช่วงไตรมาสเดียวกัน จากการปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับข้อมูลภายในดังกล่าว ได้ซื้อหุ้น TRUBB ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 26 เมษายน 2560 จำนวน 647,500 หุ้น

(2) นายอรรถวิท ซึ่งเป็นพี่ชายนางสาวปัญจมา เชื่อได้ว่าได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในดังกล่าวจากนางสาวปัญจมา ได้ซื้อหุ้น TRUBB ผิดไปจากปกติวิสัยของตน ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง ระหว่างวันที่ 24 มีนาคม – 5 พฤษภาคม 2560 จำนวน 4,757,300 หุ้น

และ (3) นางทิพวรรณ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TRUBB และเป็นมารดาและภรรยาของกรรมการและผู้บริหาร TRUBB เชื่อได้ว่าได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในดังกล่าว ได้ซื้อหุ้น TRUBB ผิดไปจากปกติวิสัยของตน ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 จำนวน 4,000,000 หุ้น

โดยบุคคลทั้งสามได้ขายหุ้น TRUBB และได้กำไรจากการขาย ภายหลังจากที่ผลประกอบการถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนในวันที่ 9 พฤษภาคม 2560

การกระทำของผู้กระทำความผิดทั้ง 3 รายดังกล่าว เป็นการซื้อขายหลักทรัพย์โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ที่แก้ไขโดยฉบับที่ 5* สำหรับนางสาวปัญจมา ตามมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 243(3) นายอรรถวิท ตามมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 244(4) และนางทิพวรรณ ตามมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 244(1)(3)(5) นอกจากนี้ นางสาวปัญจมา ได้เปิดเผยข้อมูลภายในข้างต้นแก่นายอรรถวิทโดยรู้ว่านายอรรถวิทจะนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ในการซื้อหุ้น TRUBB อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 242(2) โดยการกระทำผิดของทั้ง 3 รายมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว

คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับนางสาวปัญจมา นายอรรถวิท และนางทิพวรรณ โดยให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดให้แก่ ก.ล.ต. สำหรับนางสาวปัญจมารวมเป็นเงิน 1,310,456.33 บาท นายอรรถวิท รวมเป็นเงิน 1,716,669.63 บาท และนางทิพวรรณ รวมเป็นเงิน 1,571,841.33 บาท

ค.ม.พ. ได้กำหนดระยะเวลาห้ามผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย เป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ สำหรับนางสาวปัญจมา เป็นเวลา 24 เดือน สำหรับนายอรรถวิท และนางทิพวรรณ รายละ 12 เดือน โดยจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง หากไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ชำระค่าปรับทางแพ่งตามอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนด ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดให้แก่ ก.ล.ต. รวมทั้งขอให้ศาลแพ่งกำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเวลา 5 ปี และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 2 เท่าของระยะเวลาที่ ค.ม.พ. กำหนด นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา