ผู้ว่าฯแบงก์ชาติพร้อมปรับดอกเบี้ย หากเศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด

“วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้ดอกเบี้ยนโยบายไทยที่ระดับ 1.25% ต่ำสุดในตลาดเกิดใหม่ฝั่งเอเชีย หวั่นไม่สามารถลดดอกเบี้ยรุนแรงได้หากสถานการณ์เศรษฐกิจแย่กว่าที่คาด

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การทำนโยบายการเงินของธปท.ยังคงยึดหลักการประเมินสถานการณ์ (Data Dependent) โดยจะพิจารณาถึงแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และจะดำเนินการนโยบายการเงินให้เท่าทันกับความเสี่ยง แม้ว่าธปท.จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปเมื่อเดือน ธ.ค.61 จาก 1.50% เป็น 1.75% แต่เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไปจากที่ประมาณการไว้ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาของ 2562 ธปท.เห็นว่ามาตรการกีดกันทางการค้าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จึงตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 เมื่อเดือน ส.ค. จาก 1.75% เป็น 1.50% และเดือน พ.ย. จาก 1.50% เป็น 1.25% ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2563 อยู่ระหว่างการประเมิน ซึ่งธปท.มีการปรับประมาณเศรษฐกิจทุกๆ ไตรมาสในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

“การทำนโยบายการเงินของเราใช้หลักการที่เรียกว่า ‘Data-Dependent’ ถ้าแนวโน้มเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดการณ์เอาไว้ เราก็พร้อมที่จะปรับนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในช่วงข้างหน้า และการทำนโยบายทุกอย่างนั้นมีต้นทุน ไม่มีอะไรที่ฟรี แต่ละนโยบายจึงมีผลข้างเคียงและข้อจำกัด เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ผู้ฝากเงินอาจไม่ได้รับการดูแล และส่งผลให้การออมของประเทศอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงส่งผลให้มีพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง” นายวิรไทกล่าว

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยต่ำสุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Markets) ในเอเชียที่ระดับ 1.25% ดังนั้น หากสถานการณ์เศรษฐกิจออกมาไม่ดีนัก ประเทศไทยจึงไม่สามารถลดดอกเบี้ยอย่างรุนแรงได้เหมือนกับช่วงที่เกิดวิกฤตการการเงินโลกระหว่างปี 2551-2552 ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังอยู่ในระดับที่สูงกว่านี้มาก

“การทำนโยบายการเงินจะต้องชั่งน้ำหนักกันระหว่างการเข้าไปช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงสั้น กับการรักษาขีดจำกัดในการทำนโยบายการเงินไว้ในระยะยาว รวมถึงผลข้างเคียงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย โดยย้ำว่าธปท.พร้อมใช้เครื่องมือด้านนโยบายการเงิน ถ้าเกิดว่าประมาณการทางเศรษฐกิจหรือแนวโน้มทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้” นายวิรไท กล่าว