เกษตรกรไทยก้าวไกลกับเทคโนโลยีดิจิทัล

ภาพ Pixabay

คอลัมน์ Smart SMEs
โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ธนาคารกรุงเทพ

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารสู่ตลาดโลกที่สำคัญ และภาคการเกษตรยังเป็นจักรกลสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2562 ว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 โดยตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. ปีนี้ ภาคการเกษตรมีมูลค่าส่งออกประมาณ 8.8 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรมักจะเผชิญกับปัญหาราคาพืชผลที่ไม่แน่นอน ราคาสินค้าเกษตรมีความผันผวนขึ้นลงตามภาวะตลาด ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญและพยายามหาทางแก้ไขมาโดยตลอด

ปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถช่วยยกระดับคุณภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ทั้งในระดับประเทศและระดับบุคคล โดยในปีนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศนำเทคโนโลยีขั้นสูง มาช่วยส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรไทยให้ก้าวไปสู่การทำการเกษตรแบบยั่งยืน ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาชาติ 20 ปี และไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ได้แก่ blockchain agriculture เพื่อช่วยบริหารจัดการพื้นที่ทางการเกษตรของทั้งประเทศที่มีประมาณ 149 ล้านไร่ เพื่อจัดการพื้นที่ว่างเปล่าและสนับสนุนเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ให้เลือกปลูกพืชที่เหมาะสม รวมถึงใช้ blockchain พัฒนาระบบชลประทานทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตรได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ยังใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) บินสำรวจพื้นที่ เพื่อจัดเก็บข้อมูลดิน ความชื้นในอากาศ และข้อมูลแร่ธาตุต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ด้วย big data analytics และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ทางเว็บไซต์ของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่นำเสนอราคาพืชผลเกษตร พยากรณ์อากาศ และวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ ไว้ให้ศึกษาอย่างพร้อมมูล

สำหรับประโยชน์ของเทคโนโลยีในระดับบุคคล หรือประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกรนั้น จากตัวเลขกระทรวงเกษตรฯแสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันเกษตรกรรุ่นใหม่ราว 2,000 คนทั่วประเทศ ได้ศึกษาและริเริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ รวมถึงใช้เป็นช่องทางสำหรับขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ

ผมขอแบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจของเกษตรกรก้าวหน้ารุ่นใหม่ท่านหนึ่ง ได้แก่ คุณนิธิภัทร์ ทองอ่อน ผู้ที่นำเทคโนโลยีมาพัฒนาสวนทุเรียนในจังหวัดระยองจนประสบผลสำเร็จ โดยใช้ internet of things (IOT) มาช่วยบริหารจัดการสวนทุเรียน ตั้งแต่ระบบสั่งการรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ผ่านโทรศัพท์มือถือ การตรวจสอบสภาพอากาศอันเป็นเรื่องสำคัญ การตรวจสอบแปลงเพาะปลูกและใส่ปุ๋ยอย่างทั่วถึงเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ รวมทั้งวางแผนการผลิตทุเรียนนอกฤดูทำให้ขายทุเรียนได้ราคาดี และยังใช้โซเชียลมีเดียเล่าเรื่องความเป็นมาของสวนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ทำให้มียอดขายดีขึ้น

นอกจากเทคโนโลยีแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ต้องการส่งออก นอกจากการรักษามาตรฐานของสินค้า และพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ผมอยากเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎระเบียบของประเทศปลายทาง รวมทั้งกฎระเบียบในประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาปัญหาหลักที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งอาหารและผลไม้ไทย คือ ผู้ประกอบการยังไม่เข้าใจถึงหลักเกณฑ์ มาตรฐานของประเทศปลายทาง ทำให้หลายครั้งจะพบกับปัญหาโรคพืชและแมลง ซึ่งอาจกลายเป็นประเด็นในการกีดกันทางการค้าของประเทศปลายทาง หรือทำให้คู่ค้าหนีจากประเทศไทยไปนำเข้าสินค้าเกษตรประเภทเดียวกันจากคู่แข่งได้

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ตามมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) ซึ่งมุ่งเน้นในด้านกระบวนการผลิตที่ต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมีไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีแหล่งน้ำที่สะอาดปราศจากสิ่งปนเปื้อนของวัตถุหรือสิ่งที่เป็นอันตราย พื้นที่เพาะปลูกต้องไม่มีสารเคมีตกค้างหรือปนเปื้อน การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรต้องสามารถอ้างอิงข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร หรือตามฉลากที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ การใช้สารเคมีที่ประเทศคู่ค้าอนุญาตให้ใช้ รวมทั้งการผลิตต้องปลอดจากศัตรูพืช เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านอาหารปลอดภัยและไม่เป็นพิษต่อผู้บริโภค


ผมเชื่อว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับภาคการเกษตรและการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน จะช่วยให้เกษตรกรยุคใหม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญอย่างราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรไทยให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ครับ