“สมคิด” กล่อมแบงก์พาณิชย์ลดค่าฟีซื้อสัญญาฟอร์เวิร์ดอุ้มผู้ส่งออกเอสเอ็มอี รับมือบาทผันผวน “เอ็กซิมแบงก์-บสย.” ทำมาตรการเสริมให้วงเงินฟอร์เวิร์ดพ่วงสินเชื่อส่งออกของทุกแบงก์-ไม่มีหลักประกันให้ บสย.ค้ำส่วนต่าง สศค. ชี้บาทแข็งกว่าประเทศคู่ค้า
ประชุมอุ้มส่งออกรายย่อย
แหล่งข่าวจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมมาตรการสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหนึ่งในประเด็นหารือคือ การเจรจากับสมาคมธนาคารไทย เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ลดค่าธรรมเนียมการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฟอร์เวิร์ด) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ให้แก่ผู้ส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอี เนื่องจากที่ผ่านมาจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่า ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่งขันทางการค้า
ขณะที่กระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้รับโจทย์ให้คิดหามาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการค่าเงิน ซึ่งจะเป็นมาตรการเสริม โดยเอ็กซิมแบงก์และเอสเอ็มอีแบงก์จะให้วงเงินสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน ส่วน บสย.จะค้ำประกันกรณีลูกค้าไม่มีหลักประกัน
“การประชุมวันที่ 12 ก.ค. จะมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีส่งออก โดยเฉพาะการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นการช่วยเรื่องผลกระทบเงินบาทแข็งค่าออกมา ประเด็นหลักอยู่ที่ต้องเจรจาค่าฟีสัญญาฟอร์เวิร์ดกับแบงก์พาณิชย์ ซึ่งปกติจะมีแต่โปรดักต์สำหรับลูกค้ารายใหญ่ ถ้าต้องการให้เอสเอ็มอีซื้อป้องกันความเสี่ยง ก็ต้องทำให้ต้นทุนต่ำลง ส่วนแบงก์รัฐจะออกมาตรการเสริม ซึ่งจะดึงธนาคารพาณิชย์มาร่วมด้วย”
EXIM ให้วงเงินฟอร์เวิร์ด-สินเชื่อ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทางเอ็กซิมแบงก์จะเข้าไปให้วงเงินฟอร์เวิร์ดพ่วงสินเชื่อเพื่อการส่งออกของแบงก์พาณิชย์ และเอสเอ็มอีแบงก์ และหากผู้ประกอบการรายใดไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็จะให้ บสย.เข้ามาค้ำประกัน โดยจะเป็นการค้ำประกันส่วนต่างที่เกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ประกอบการที่ซื้อฟอร์เวิร์ดไว้แล้ว แต่ค่าเงินไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ หรือเรียกว่า การค้ำประกันวงเงินสินเชื่อเพื่อรองรับส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน
“วงเงินฟอร์เวิร์ดที่เอ็กซิมแบงก์จะให้กับเอสเอ็มอีแต่ละราย ก็จะเท่ากับวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติจากแต่ละแบงก์ ซึ่งจะเหมือนกับโปรดักต์ที่เอ็กซิมแบงก์ดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่จะดึงแบงก์อื่นมาร่วมให้สินเชื่อพ่วงวงเงินฟอร์เวิร์ดนี้ด้วย จากปกติแบงก์อื่น ๆ จะให้แต่สินเชื่อไม่มีแถมฟอร์เวิร์ด คือต้องบูรณาการทุกฝ่ายมาร่วมกัน ส่วนการให้วงเงินก็จะขึ้นกับโปรดักต์ของแต่ละแบงก์ ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน” แหล่งข่าวกล่าว
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการเอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า อยากกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ส่งออกได้ตระหนักถึงการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยจากการหารือกับธนาคารพาณิชย์ พบว่า หลายแบงก์มีการให้วงเงินป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแก่ลูกค้าตัวเองอยู่แล้ว ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นลูกค้าแบงก์พาณิชย์ ตอนนี้กำลังหารือกันถึงมาตรการที่จะเข้าไปช่วยเหลือ
“ถ้าไม่ได้เป็นลูกค้าแบงก์พาณิชย์ แต่อยากป้องกันความเสี่ยง เรายินดีให้มาใช้บริการจากเอ็กซิมแบงก์ได้ โดยเรามีโปรดักต์อยู่แล้ว ซึ่งให้วงเงิน 2 ประเภท คือ วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาทที่ให้ทั้งวงเงินสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ที่ดอกเบี้ยแค่ 3.5% ต่อปี และวงเงินสำหรับทำประกันความเสี่ยงค่าเงินด้วย นอกจากนั้นยังมีบริการป้องกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับการชำระค่าสินค้า” นายพิศิษฐ์กล่าว
ปัจจัยลบส่งออกครึ่งปีหลัง
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. เอ็กซิมแบงก์ได้จัดสัมมนา “เงินบาทแข็งค่า…ธุรกิจจะต้านทานได้เแค่ไหน” ดร.วชิรา อารมณ์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ความท้าทายของภาคส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่างแรกก็คือเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ต่อเนื่องหรือไม่ สอง นโยบายกีดกันการค้าที่เริ่มรุนแรงขึ้น สาม มาตรฐานสินค้าสิ่งแวดล้อม สี่ ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ห้า เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และ หก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนนั้น จะยังมีความผันผวน จากปัจจัยนโยบายของสหรัฐ ราคาน้ำมัน และความเสี่ยงจากการเมืองโลก
ดร.วชิรากล่าวอีกว่า บทบาทของอัตราแลกเปลี่ยนมีผลบ้างกับการส่งออกอย่างน้อยก็ช่วยสภาพคล่องได้ในกรณีเอสเอ็มอี แต่ค่าเงินไม่ได้สำคัญต่อการส่งออกเท่ากับกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า
“ถ้าดูค่าความผันผวนของค่าเงินปีนี้ เราอยู่ที่ 3.8% ก็ผันผวนขึ้นถ้าเทียบกับช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังต่ำอยู่ระดับกลาง ๆ ของภูมิภาคไม่ได้ผันผวนมาก” ดร.วชิรากล่าว
บาทแข็งมากกว่าประเทศคู่ค้า
ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า หากมองในภาพรวมค่าเงินบาท เทียบกับอดีตที่ยาวออกไป ถือว่าไม่ได้แข็งค่ามากนัก เพราะเคยแข็งค่าไปถึงระดับ 28 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปี 2556 อย่างไรก็ดี แม้ตอนนี้ค่าเงินบาทจะยังไม่แข็งค่าเท่าอดีต แต่มองระยะสั้นช่วง 1-2 ปีก็ถือว่าแข็งค่าเร็ว ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจจะแข็งค่าไปถึงระดับในอดีตได้ ดังนั้นจึงต้องเตรียมการรับมือไว้
“เมื่อดูดัชนี NEER จากตัวเลขของ ธปท. ซึ่งเป็นค่าถัวเฉลี่ยค่าเงินกับประเทศต่าง ๆ ที่ไทยค้าขายด้วย จะพบว่าถ้าดูเงินบาทเทียบกับคู่ค้าที่สำคัญ เราแข็งค่าตลอดจากปี 2552 แข็งค่าขึ้นเกือบ 60% คือดูแล้วอาจจะไม่แข็งถ้าเทียบกับดอลลาร์ แต่ถ้าเทียบกับคู่ค้า เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยคู่ค้าของไทยหลัก ๆ ก็อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และยุโรป” ดร.ศรพลกล่าว
ด้านนายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในการประชุม กับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เป็นการหารือถึงมาตรการช่วยเหลือ สนับสนุน ผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มจากมาตรการช่วยเหลือเดิมที่มีอยู่ให้เข้มข้นขึ้น โดยจะร่วมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน บสย. เอสเอ็มอีแบงก์ สมาคมธนาคารไทย ในเรื่องของทักษะการเงินเพื่อการค้าขาย ส่งออกด้วยเงินตราและอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนตลอดเวลา เนื่องจากรัฐบาลได้ผลักดันให้ SMEs ก้าวสู่การทำธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ รวมถึงผลักดันให้มีศักยภาพการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ดังนั้นการเข้าใจถึงแนวโน้มค่าเงินในอนาคตจะทำให้เอสเอ็มอีวางกลยุทธ์รับมือการทำธุรกิจได้