บาทอ่อนค่า จากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวและ COVID-19

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/2) ที่ระดับ 31.72/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 31.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังจากนักลทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อันเนื่องมาจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามในระระหว่างวันค่าเงินบาทมีทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยหลังกระทรวงพาณิชย์ของประเทศไทยประกาศตัวเลขการส่งออกของไทยประจำเดือนมกราคมขยายตัว 3.35% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวอยู่ที่ 2.95% ในขณะเดียวกันตัวเลขการนำเข้าของไทยหดตัว 7.86% น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยรวมดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลอยู่ที่ 1.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ที่เปิดเผยในช่วงคืนวันศุกร์ (21/1) ได้แก่ไอเอชเอส มาร์กิต รายงานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2556 ลดลงจากระดับ 53.3 ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) รายงานตัวเลขยอดขายบ้านมือสองปรับตัวลดลง 1.3% สู่ระดับ 5.46 ล้านยูนิตในเดือนมกราคม จากระดับ 5.53 ล้านยูนิตในเดือนธันวาคม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.62-31.76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.66/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/2) ที่ระดับ 1.0827/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 1.0807/10 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรเริ่มฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยหลัง ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยูโรโซน ที่เปิดเผยในช่วงคืนวันศุกร์ (21/1) เผยออกมาดีกว่าคาดได้แก่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของยูโรโซนประมาณการครั้งที่ 1 ปรับตัวเพิ่มสู่ระดับ 49.1 และ 52.8 ตามลำดับในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 47.4 และ 52.4 ดัชนีภาคการผิตและบริการนี้สื่อให้เห็นถึงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในยูโรโซนที่มีนางคริสติน ลาการ์ด ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายพยายามจะฟื้นฟูการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อที่ตอนนี้อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้รายงานดัชนีเงินเฟ้อในยูโรโซนล่าสุดหดตัว 1.0% ในเดือนมกราคมสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0803-1.0846 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0835/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/2) ที่ระดับ 111.56/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 111.71/74 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้แพร่ระบาดรุนแรงขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิตาลี และอิหร่าน โดยล่าสุดเกาหลีได้ยกระดับสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เป็นระดับสูงสุด หลังผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ทางการอิตาลีสั่งปิด 10 เมืองหลังมีผู้เสียชีวิตคนแรกในยุโรป อย่างไรก็ดี ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอิหร่านเช่นกัน หลังจากที่มีผู้เสียชีวิต 4 รายภายในเวลาเพียง 2 วัน

โดยล่าสุดคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) แถลงว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2,619 ราย ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวอยู่ที่ 79,341 ราย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.20-111.68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.35/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก CB ของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (25/2), ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของเยอรมนีไตรมาส 4/2019 (25/2), ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐ เดือนมกราคม (26/2), ตัวเลขประกาศครั้งแรกของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสหรัฐ ไตรมาส 4/2019 (27/2), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐ (27/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (28/2), ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (28/2), ดัชนียอดค้าปลีกของญี่ปุ่นเดือนมกราคม (28/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.80/-1.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +5.50/+7.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ