“น็อนแบงก์” ตีปีกขอซอฟต์โลน อุ้ม “ลีสซิ่ง-พีโลน” 12ล้านบัญชี

FILE PHOTO: Photographer: Dario Pignatelli/Bloomberg via Getty Images

ธุรกิจ “เช่าซื้อ-จำนำทะเบียน-สินเชื่อบุคคล” กลุ่มน็อนแบงก์ตีปีกพร้อมโดดร่วมกู้ซอฟต์โลน 8 หมื่นล้าน ดอกเบี้ย 2% ใช้เสริมสภาพคล่องช่วยลูกค้า “พักเงินต้น-ดอกเบี้ย” รอลุ้น ธปท.เคาะหลักเกณฑ์เผยฐานะลูกค้าน็อนแบงก์ทั้งระบบ 12.62 ล้านบัญชี วงในติงไม่เห็นด้วยปล่อยซอฟต์โลนลีสซิ่ง ชี้เลี้ยงไข้-โขกดอกแพง

อุ้มน็อนแบงก์ 12 ล้านบัญชี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่กระทรวงการคลังได้จัดวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 8 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี ให้สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (น็อนแบงก์) อาทิ ลีสซิ่ง จำนำทะเบียนรถ สินเชื่อบุคคล (พีโลน) เป็นต้น เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการน็อนแบงก์ไปทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในการ เลื่อนการชำระ “เงินต้นและดอกเบี้ย” ให้ลูกหนี้ 3-6 เดือนโดยไม่เสียประวัติ ซึ่งทางกระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างหารือจัดทำหลักเกณฑ์รายละเอียด

โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2563 มีฐานลูกค้าอยู่ 12.62 ล้านบัญชี ยอดสินเชื่อคงค้าง 332,039 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสินเชื่อบุคคล 9.79 ล้านบัญชี ยอดสินเชื่อ 235,211 ล้านบาท และสินเชื่อทะเบียนรถ 2.83 ล้านบัญชี ยอดสินเชื่อคงค้าง 96,828 ล้านบาท

จำกัดไม่เกิน 10% ของพอร์ต

นายธีรชาติ จิรจรัสพร ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ได้เข้าหารือกับกระทรวงการคลัง และ ธปท. สมาคมได้ประสานไปยังสมาชิกที่มีกว่า 43 ราย โดยมุ่งเน้นกลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ให้ปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้สอดรับกับมาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำของ ธปท. ที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์การขอซอฟต์โลนของกระทรวงการคลัง ผ่านทางธนาคารออมสินที่มีวงเงินราว 8 หมื่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องของผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ จากการที่ได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้

โดยมีผู้ประกอบการแสดงความสนใจหลายราย อย่างไรก็ดี ต้องรอแนวทางปฏิบัติของ ธปท. และธนาคารออมสิน ว่าจะมีหลักเกณฑ์และกระบวนการออกมาเมื่อใด เช่น สัญญาเงินกู้ การเบิกและการชำระคืนเงินกู้ เป็นต้น โดยเบื้องต้น ธปท.ให้กำหนดวงเงินตามสัดส่วนสินเชื่อของน็อนแบงก์ที่ช่วยเหลือลูกหนี้ แต่ไม่เกิน 10% ของพอร์ต ซึ่งหากเกินกว่ากำหนดให้อำนาจธนาคารออมสินเป็นผู้ตัดสินใจ โดยต้องดำเนินการยื่นขอวงเงินจากธนาคารออมสินภายใน 6 เดือน

“ซอฟต์โลนจะช่วยกระตุ้นให้กลุ่มน็อนแบงก์ปรับมาตรการช่วยเหลือของตัวเองให้สอดรับกับมาตรการช่วยลูกหนี้ของ ธปท. ทั้งนี้ บริษัทเช่าซื้อ ลีสซิ่งหลายแห่งก็มีการช่วยเหลือลูกค้าที่ดีกว่ามาตรการของ ธปท. แต่อาจกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติมากกว่า เช่น ลูกค้าต้องค้างชำระน้อยกว่า 60 วัน ขณะที่เกณฑ์ของ ธปท.เปิดโอกาสสำหรับลูกค้าค้างชำระไม่เกิน 90 วัน”

“เงินติดล้อ” ลดค่างวดลูกค้า

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด และในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมเป็นหนึ่งในหลายสมาคมที่ได้ร่วมหารือกับภาครัฐ และ ธปท. ในเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละรายมีแหล่งเงินทุนที่แตกต่างกัน เช่น ระดมทุนผ่านตลาดทุน เงินกู้สถาบันการเงิน หรือใช้เงินทุนส่วนตัว ทำให้ต้นทุนการเงินมีความแตกต่างกันไป ซึ่งสภาพคล่องจากซอฟต์โลนจะมาช่วยผู้ประกอบการ และสะท้อนกลไกตลาด

ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกทั้งสิ้น 10 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสาขามากกว่า 6,000 แห่ง และฐานลูกค้ากว่า 3 ล้านราย ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินและสภาพคล่องได้ดีขึ้น พอร์ตของผู้ประกอบการแต่ละรายไม่เท่ากัน มีตั้งแต่หลักร้อยล้านบาทถึงหลักหมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี โครงการนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ

นายปิยะศักดิ์กล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกค้าของเงินติดล้อที่ผ่านมา มุ่งช่วยเหลือให้ลูกค้ามีสภาพคล่องให้สามารถเดินต่อไปได้ เงื่อนไขหลัก ๆ คือ ลูกหนี้จะต้องไม่เป็นหนี้เสีย คือ ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน โดยบริษัทจะลดค่างวดให้ลูกค้า 30% เป็นเวลา 6 เดือน แต่ดอกเบี้ยยังคงเดิน ซึ่งแต่ละบริษัทอาจจะต้องตั้งงบฯช่วยเหลือไว้ เพราะมีเงินทุนและกำลังแตกต่างกัน เน้นช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ

ซอฟต์โลน 8 หมื่นล้านไม่พอ

นายทวีพล เจริญกิตติคุณไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เวิลด์ลีส จำกัด ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ กล่าวว่า ตอนนี้มีลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งบริษัทมีโปรแกรมช่วยเหลือลูกหนี้พักเงินต้น-ดอกเบี้ย ระยะเวลา 3-6 เดือน (มี.ค.-มิ.ย.) ส่งผลให้บริษัทไม่มีรายได้ แต่มีรายจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งเป็นต้นทุนการเงินของบริษัท ดังนั้นซอฟต์โลนของรัฐบาลจะมาช่วยเสริมสภาพคล่องให้บริษัทสามารถนำไปช่วยลูกค้าต่อ เพราะไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะลากยาวไปจนถึงเมื่อไหร่ โดยแหล่งเงินทุนของบริษัทที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากเงินกู้จากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และในอนาคตจะระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ ซึ่งต้นทุนการเงินสามารถแข่งขันได้ในตลาด

อย่างไรก็ดี มองว่าวงเงินซอฟต์โลน 8 หมื่นล้านบาท อาจจะไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากทั้งระบบมีผู้ประกอบการน็อนแบงก์จำนวนมาก ทั้งในส่วนเช่าซื้อ ลีสซิ่ง รวมถึงบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล รวมกันมีมูลค่าสินเชื่อหลายแสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการคงต้องดูรายละเอียด แนวทางปฏิบัติชัดเจนอีกครั้งว่า ธปท.จะมีเงื่อนไขอย่างไร คาดว่าจะออกมาภายในเดือน เม.ย.นี้

“ซอฟต์โลนจะมาช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของผู้ประกอบการ เช่น กู้มา 4% แต่ซอฟต์โลนดอกเบี้ย 2% เหลือ 2% ซึ่งนำมาช่วยเหลือลูกค้า เพราะเราเก็บเงินลูกค้าไม่ได้ ทำให้หมุนเงินไม่ได้ ส่วนเรื่องการปล่อยกู้ใหม่คงไม่มี เพราะทุกคนระวังกันหมด เม็ดเงิน 8 หมื่นล้านบาท อาจจะต้องเกลี่ย ๆ กันไป คาดว่าแต่ละบริษัทน่าจะมีสินเชื่อเข้าเกณฑ์ประมาณ 10-15% ของพอร์ต”


ขณะที่แหล่งข่าวจากแวดวงการเงินกล่าวว่า วงเงินซอฟต์โลน 8 หมื่นล้านบาท ที่จะนำมาช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะเช่าซื้อ ลีสซิ่งนั้นมองว่า บริษัทเหล่านี้ไม่ได้มีการปล่อยสินเชื่อหรือวงเงินโอดี จึงไม่เห็นด้วย เพราะจะเห็นว่าแม้จะพักชำระหนี้ให้ลูกค้า 6 เดือน แต่ดอกเบี้ยยังคงวิ่งอยู่ที่ 28% ต่อปี ซึ่งหากลูกค้าไม่สามารถผ่อนชำระได้ จะเจอเบี้ยปรับอีก 200 บาท และผู้ประกอบการเหล่านี้จะปรับโครงสร้างหนี้ และเลี้ยงไข้ลูกค้าไปเรื่อย ๆ ทำให้ธุรกิจมีอัตราการเติบโตค่อนข้างเร็วและก้าวกระโดด