ธปท.เปิดประตูทุกบาน ผ่อนเกณฑ์แบงก์ หนุนอุ้มลูกหนี้ฝ่าโควิด

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติอย่างช่วงนี้ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทำให้ภาคธุรกิจและประชาชน ต้องเผชิญความยากลำบากในการทำธุรกิจและการดำเนินชีวิตมากขึ้นกว่าในยามปกติ

โดยภาครัฐ ทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามออกมาตรการดูแลเยียวยาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ คู่ขนานไปกับมาตรการด้านสาธารณสุขของรัฐบาล

โดยเฉพาะมาตรการเยียวยาด้านสินเชื่อ จำเป็นต้องอาศัยกลไก “สถาบันการเงิน” ในการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งรายย่อยและภาคธุรกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ธปท.พยายามดำเนินการใน “เชิงป้องกัน” หรือ “ดับไฟ” ให้ทันก่อนจะลุกลาม โดยใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ช่วงแรกจึงให้แบงก์พิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าโดยสมัครใจ จากนั้นจึงเพิ่มเป็นมาตรการที่มีกำหนดการช่วยเหลือ “ขั้นต่ำ” ให้แบงก์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (น็อนแบงก์) ปฏิบัติตาม

จากนั้นก็เพิ่มดีกรีความเข้มข้นของมาตรการเข้าไปอีก เมื่อเห็นว่าการช่วยเหลือลูกหนี้ยังเป็นไปด้วยความล่าช้า ด้วยการให้สถาบันการเงินพักหนี้ ทั้ง “เงินต้นและดอกเบี้ย” เป็นเวลา 6 เดือน ให้กับสินเชื่อเอสเอ็มอี

ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถ ลีสซิ่ง และสินเชื่อบ้าน ให้พักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน หรือพักเงินต้น 6 เดือน ด้านสินเชื่อส่วนบุคคลและจำนำทะเบียนรถให้พักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน ทั้งหมดนี้จะไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต ส่วนบัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน ลดผ่อนชำระขั้นต่ำเหลือ 5%

ขณะเดียวกันก็ให้แบงก์ปล่อยเงินกู้สินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน (ซอฟต์โลน) เสริมสภาพคล่องลูกค้าผู้ประกอบการที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยให้ลูกค้ากู้ได้ 20% ของยอดวงเงินเดิม คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี และไม่คิดอัตราดอกเบี้ย 6 เดือนแรก (รัฐจ่ายให้แทน)

นอกจากฝั่งลูกหนี้แล้ว ธปท.ยังช่วยเหลือฝั่งเจ้าหนี้ ซึ่งก็คือสถาบันการเงิน ด้วยการผ่อนปรนเกณฑ์ต่าง ๆ ที่จำเป็น ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่การผ่อนปรน “เกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี” ที่ออกมาตั้งแต่ต้นปี

ต่อมา “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. ก็ประกาศผ่อนปรนการนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จาก 0.46% ของฐานเงินฝากในแต่ละปี เหลือ 0.23% ช่วงปี 2563-2564 นี้

“นริศ สถาผลเดชา” ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ชี้ว่า ระบบแบงก์จะมีภาระต้นทุนการนำส่งเงิน FIDF ลดลงรวมแล้วประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ดี แบงก์ก็มีการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อดูแลลูกค้าทุกกลุ่มทันที 0.40% ซึ่งทำให้ยังต้องรับภาระส่วนต่างอยู่ราว 2 หมื่นล้านบาท เพราะการลดดอกเบี้ยเงินกู้จะทำให้ดอกเบี้ยจ่ายของระบบแบงก์หายไปราว 5.25 หมื่นล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกัน ธปท.ได้ผ่อนเกณฑ์ให้ธนาคารพาณิชย์นำมูลค่าที่จะได้รับชดเชยจากรัฐบาลมาปรับลดความเสี่ยงด้านเครดิต สำหรับสินเชื่อส่วนที่เกินจากอัตราการชดเชยจากรัฐบาล โดยให้ใช้น้ำหนักความเสี่ยงตามประเภทลูกหนี้ (เช่น ธุรกิจเอกชน 100% หรือลูกหนี้รายย่อย 75%) ซึ่งเป็นไปตามมาตรการการสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ซอฟต์โลนแก่เอสเอ็มอี วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท ซึ่งหากกลายเป็นหนี้เสีย เมื่อครบระยะเวลา 2 ปี รัฐบาลจะชดเชยความเสียหายให้ไม่เกิน 70% ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท และ ชดเชยให้ไม่เกิน 60% ของสินเชื่อ ที่ปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อ 50-500 ล้านบาท

ซึ่ง “นริศ” มองว่า เกณฑ์ดังกล่าวเป็นการช่วยในเรื่องที่รัฐบาลการันตี กรณีแบงก์ปล่อยกู้ซอฟต์โลนให้ลูกค้าแล้วกลายเป็นหนี้เสีย โดยรัฐบาลจะชดเชยให้ ซึ่งน่าจะช่วยเรื่องเงินกองทุนของแบงก์ได้ แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ทั้งระบบยังอยู่สูงถึง 19.6% ก็ตาม

“ปัจจุบันเงินกองทุนของระบบแบงก์ยังอยู่ระดับสูง สามารถเป็นกันชน เพื่อรองรับวิกฤตได้ ไม่น่าจะมีปัญหา” นายนริศกล่าว

นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ผ่อนปรนเกณฑ์การบริหารสภาพคล่องชั่วคราว โดยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถดำรงอัตราส่วน liquidity coverage ratio (LCR) และอัตราส่วน net stable funding ratio (NSFR) ต่ำกว่า 100% ได้เป็นการชั่วคราว จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 เพื่อให้แบงก์มีสภาพคล่องมากขึ้น ไม่มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสดรับ จากการเข้าไปช่วยลูกค้า ทั้งพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย

ซึ่ง “ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล” รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การผ่อนปรนเกณฑ์ LCR ในช่วงภาวะไม่ปกติสามารถทำได้ โดยที่ผ่านมาก็มีในต่างประเทศที่ได้ผ่อนคลายไปแล้ว เช่น ธนาคารกลางมาเลเซียที่ผ่อนคลายเกณฑ์ LCR ต่ำกว่า 100% เป็นต้น แต่การผ่อนคลายจะเพียงชั่วคราวเท่านั้น

“ปัจจุบันระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย พบว่า LCR ทั้งระบบมีเพียงพอ ไม่ได้เป็นปัญหา แต่การผ่อนคลายเกณฑ์ก็จะเป็นการเปิดประตูช่วยเหลือ ในบางจังหวะที่ตลาดไม่เป็นปกติได้” นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูล LCR ทั้งระบบ พบว่า ณ เดือน ม.ค. 2563 สัดส่วน LCR อยู่ที่ 181.26% โดย LCR ของ 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2562 ส่วนใหญ่อยู่ระดับสูง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพอยู่ที่ 311% ธนาคารกรุงไทย 177% ธนาคารไทยพาณิชย์ 155% ธนาคารกสิกรไทย 194% และธนาคารกรุงศรีอยุธยา 136%

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ธปท.พยายามผ่อนทุกเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แบงก์เร่งเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าอย่างทันท่วงที ซึ่งหากสถานการณ์ยังลุกลามไม่จบ ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะเห็นการผ่อนคลายกฎระเบียบในส่วนอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก