“คลัง”ขายพันธบัตรออมทรัพย์ “เราไม่ทิ้งกัน” 5 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย2.4%

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 แบบไร้ใบตราสาร วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการระดมทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบ และแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามแผนงานโครงการของรัฐบาล ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท

พร้อมกันนี้ จะเริ่มจำหน่ายในวันที่ 14 พ.ค. 2563 นี้ เวลา 8.30 น. เป็นต้นไป โดยพันธบัตรที่จะเปิดจำหน่ายหน่วยละ 1,000 บาท มี 2 รุ่นคือ อายุ 5 ปี ให้อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ย 2.40% และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.00% ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้สูงกว่าผลตอบแทนรุ่นอายุ 5 ปีในปัจจุบันประมาณ 1.5% และอายุ 10 ปี 1.8%

สำหรับการจำหน่ายจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ สัปดาห์ที่ 1 จำหน่ายให้ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สัปดาห์ที่ 2 จำหน่ายให้ประชาชนรายย่อยซื้อได้ก่อนแบบจำกัดวงเงิน 2 ล้านบาท/คน/ธนาคาร และสัปดาห์ที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 2563 เป็นต้นไปจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไรเข้าซื้อได้แบบไม่จำกัดวงเงินโดยสามารถซื้อผ่าน BOND DIRECT Application และช่องทางของธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทยธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

ด้านนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ขณะนี้ความต้องการพันธบัตรในตลาดยังคงมีอยู่สูง ฉะนั้นจึงเชื่อว่าการออกพันธบัตร “เราไม่ทิ้งกัน” จะได้รับการตอบรับจากประชาชนจำนวนมาก และหากความต้องการยังมีอยู่สูง ก็อาจจะออกพันธบัตรในซีรี่ที่ 2 ตามมาได้ อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการใช้เงินของรัฐด้วย ซึ่งสบน.จะบริหารจัดการหนี้อย่างเหมาะสม

สำหรับการออกพันธบัตร “เราไม่ทิ้งกัน” จะรวมอยู่ในโควตาของการออกพันธบัตรออมทรัพย์ทุกๆ ปี ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมาออกไปแล้ว 20,000 ล้านบาท ครั้งนี้ออกอีก 50,000 ล้านบาท ทำให้ปีนี้การออกพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง จะสูงกว่าทุกปีที่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นไปตามความจำเป็นในการใช้เงินของรัฐบาลในภาวะวิกฤต


ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้กู้เงินผ่าน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาทแล้ว 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากการกู้เงินรูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) ที่ใช้ในการเยียวยาอาชีพอิสระ 7 หมื่นล้านบาท และเยียวยาเกษตรกรอีก 5 หมื่นล้านบาท โดยถ้ารวมการออกพันธบัตรออมทรัพย์ “เราไม่ทิ้งกัน” วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทแล้ว กระทรวงการคลังกู้เงินรวมทั้งสิ้น 1.7 แสนล้านบาท