เงินฝากแบงก์พุ่ง 8 แสนล้าน ธุรกิจแห่โยกหนี “บอนด์-หุ้น”

“ธุรกิจ-รายย่อย” แห่โยกเงินหนีสินทรัพย์เสี่ยงฝากแบงก์ ดันยอดเงินฝากเดือน มี.ค. 63 พุ่ง 8 แสนล้าน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้เอฟเฟ็กต์จาก “โควิด-19” ทำตลาด “บอนด์-หุ้น” ผันผวนหนัก คนหัน “กอดเงินสด” ขณะที่ภาคธุรกิจตุนสภาพคล่อง-ชะลอลงทุน คาดภาพรวมเงินฝากทั้งปีโตสูงกว่า 5% ด้านแบงก์ต้องบริหารจัดการสภาพคล่องเพิ่มขึ้น

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลบัญชีเงินฝากทั้งระบบขณะนี้พบว่า เงินฝากทุกประเภทมีทิศทางเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะเดือน มี.ค. 2563 ที่ผ่านมาเห็นสัญญาณการเติบโตของยอดเงินฝากสูงมาก

เงินฝากพุ่ง 8 แสนล้าน

โดยยอดเงินฝากคงค้างเพิ่มขึ้นประมาณ 8 แสนล้านบาท ส่งผลให้ยอดเงินฝากรวม ณ เดือน มี.ค. 2563 อยู่ที่ 14.3 ล้านล้านบาท จากเดือน ก.พ. 2563 ยอดเงินฝากคงค้างเพิ่มขึ้น 6.9 หมื่นล้านบาท ส่วนเดือน ม.ค. 2563 ยอดเงินฝากคงค้างลดลง 4,094 ล้านบาท และหากเทียบกับปี 2562 พบว่า ยอดเงินฝาก 3 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 4.277 หมื่นล้านบาท

“เดือน มี.ค.เป็นเดือนเสี่ยงที่โควิด-19 ระบาดหนัก ทำให้มีการขายทุกสินทรัพย์ และโอนมาพักที่ฝากเงินออมทรัพย์หมด ทำให้ยอดเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (CASA) เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเงินฝากประจำ เนื่องจากเงินฝากประจำมีรอบการครบกำหนดจะไม่เห็นการเติบโตมากนัก หากธนาคารไม่มีผลิตภัณฑ์หรือแคมเปญออกมาเพื่อต่ออายุ (roll over) ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวมองว่า เงินฝากทั้งปีมีโอกาสขยายตัวสูงกว่ากรอบประมาณการเดิมที่มองไว้ 5%”

ตุนสภาพคล่องรับความเสี่ยง

นอกจากนี้ยังพบว่า ภาคธุรกิจหันมาฝากเงินมากขึ้น เป็นผลมาจากสภาพคล่องล้น ไม่ได้ขยายกิจการหรือลงทุนช่วงนี้ เพราะต้องการเก็บสภาพคล่องไว้จึงนำมาฝากกับธนาคาร รอดูสถานการณ์ผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่กลุ่มรายย่อยก็ฝากเงินเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะช่วงเดือน มี.ค. มีการเทขายสินทรัพย์ในตลาดอื่น ๆ โยกเงินมาฝากจำนวนมาก

“ปัจจัยที่ส่งผลให้เงินฝากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากผู้ฝากเงินมีสภาพคล่องในมือจำนวนมาก และไม่ได้นำไปทำอะไรในช่วงนี้ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของตลาดที่เกิดจากปัญหาการระบาดของโควิด จึงนำเงินมาฝากกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งปลอดภัยกว่าเมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ ที่ช่วงนี้ค่อนข้างผันผวนและเสี่ยงสูง”

เงินฝากแบงก์พุ่ง

นางสาวชมภูนุช ปฐมพร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH BANK) กล่าวว่า เงินฝากของ LH BANK เติบโตค่อนข้างสูงมากเช่นเดียวกัน แต่น่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราวช่วงระยะสั้น เมื่อสถานการณ์กลับเป็นปกติ เงินฝากเหล่านี้จะไหลกลับไปสู่ตลาดเดิม (ตราสารหนี้ และหุ้น) อย่างไรก็ดีสภาพคล่องเข้ามาถือเป็นจังหวะที่ดี เพราะช่วงที่ปัญหาโควิดกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ซึ่งมีผลต่อกระแสเงินสดของธนาคารที่มีมาตรการพักชำระหนี้

“สภาพคล่องที่ไหลเข้ามาจะเป็นเงินหมุนเวียนที่ธนาคารนำมาช่วยเหลือลูกค้าได้ เดิมธนาคารจะปรับแผนการเติบโตเงินฝาก เนื่องจากสินเชื่อไม่ขยายตัว แต่จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงคงเป้าหมายการเติบโตเงินฝากอยู่ที่ 5-8%”

ยอดฝากแบงก์พาณิชย์โตยกแผง

นายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจรายย่อยและเครือข่ายการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ช่วงโควิดระบาดพบว่าเงินฝากมีอัตราการเติบโตสูงมาก ทั้งอุตสาหกรรมขยายตัวที่ 6.3% โดยธนาคารพาณิชย์ 5 อันดับแรก มีตัวเลขเงินฝากขยายตัวขึ้นในไตรมาสแรกทั้งสิ้น สำหรับธนาคารกรุงศรีฯเงินฝากเติบโต 6.4% จากเป้าหมายทั้งปีที่ 4% คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ ฐานเงินฝากจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท จากสิ้นปี 2562 ที่ 1.56 ล้านล้านบาท และสัดส่วน CASA เพิ่มขึ้นจาก 41% เป็น 45%

นอกจากนี้ เงินฝากภาคธุรกิจก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย ผลักดันให้บัญชีเงินฝากภาพรวมเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เป็นผลมาจากธุรกิจมีสภาพคล่องในมือ แต่ชะลอการลงทุน และบางส่วนหยุดกิจการชั่วคราว เช่น ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ประกอบกับการจับจ่ายใช้สอยภาคครัวเรือนลดลง ภาคธุรกิจจึงหันมาเก็บสภาพคล่องในรูปแบบเงินฝาก

งัดโปรดักต์รองรับลูกค้าฝากเงิน

ขณะนี้เริ่มเห็นหลายธนาคารทยอยทำกิจกรรมด้านเงินฝาก สำหรับกรุงศรีฯจะเน้นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้า โดยมีเงินฝากออมทรัพย์จัดให้ และบัญชีออมทรัพย์มีแต่ได้ ออนไลน์ ให้อัตราดอกเบี้ย 1.3% สูงกว่าบัญชีออมทรัพย์และฝากประจำ นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนทยอยออกผลิตภัณฑ์เงินฝากในปีนี้ รวมถึงขยายช่องทางการเปิดบัญชีผ่านออนไลน์

กรณีดังกล่าว นายชวมนต์ วินิจตรงจิตร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) มองว่าเป็นผลจากที่ปัจจุบันตลาดพันธบัตรไม่สามารถให้ผลตอบแทนเหมือนในอดีต ทำให้ทางเลือกอย่างเช่น บัญชี NoFixed ที่ให้ดอกเบี้ยรวมโบนัสสูงถึง 1.5% และสามารถถอนเมื่อไรก็ได้ เป็นเครื่องมือออมเงินที่ดีในสถานการณ์เช่นนี้ และเป็นที่พักเงินสำหรับนักลงทุนที่รอการกลับตัวของตลาดทุน

ทั้งนี้ ลูกค้าที่มีกองทุนรวมกับทางธนาคารยังได้ดอกเบี้ย NoFixed สูงถึง 1.70% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สามารถหาได้ในตลาดขณะนี้ โดยในส่วนปริมาณเงินฝากรายย่อยช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ เติบตัวขึ้นเกือบ 10%

ส่วนนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า สถานการณ์เงินฝากของแบงก์ออมสินถือว่าเป็นปกติ เพิ่มขึ้นจากเมื่อสิ้นปี 2562 ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 1.5% ตามกรอบที่ตั้งเป้าการเติบโตของเงินฝากปี 2563 ที่ 3% หรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งปกติแล้วเงินฝากของธนาคารจะไปเร่งเครื่องตอนปลายปี

แบงก์ขยับลงทุนบอนด์รัฐบาล

แหล่งข่าวจากธนาคารกรุงเทพเปิดเผยว่า จากที่มีเงินฝากไหลเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ทำให้ธนาคารต้องบริหารสภาพคล่องโดยหาช่องทางไปลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นการไปลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างเสนอขายพันธบัตร “เราไม่ทิ้งกัน” เสนอผลตอบแทนค่อนข้างสูง อายุ 5 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.4 % และอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3% ซึ่งมีลูกค้าธนาคารที่ถือพันธบัตรรัฐบาลชุดก่อน ๆ สนใจจะซื้อ แต่เงินยังติดอยู่ในพันธบัตรที่อาจจะครบกำหนดใน 1-2 ปีข้างหน้า หลายรายต้องการไถ่ถอนก่อนกำหนดเพื่อนำเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐลอตใหม่ ให้ได้รับผลตอบแทนที่มั่นคงไปอีก 5-10 ปี

เงินไหลออกจากตลาดบอนด์

ด้านนางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สถานการณ์กองทุนตราสารหนี้ในเดือน มี.ค. 2563 มีเงินไหลออกสุทธิประมาณ4 แสนล้านบาท เดือน เม.ย. 63 ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขเงินฝากทั้งระบบ ณ มี.ค. 2563 พบว่า เงินฝากภาคธุรกิจอยู่ที่ 3.42 ล้านล้านบาท อัตราเติบโต 9% หรือเพิ่มขึ้น 2.07 แสนล้านบาท จากเดือน ธ.ค. 2562 ยอดเงินฝากรวม 3.42 ล้านล้านบาท ด้านเงินฝากรายย่อยอยู่ที่ 7.73 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 6.9% หรือเพิ่มขึ้น 2.94 แสนล้านบาท จากสิ้นเดือน ธ.ค. 2562 อยู่ที่ 7.44 ล้านล้านบาท