เศรษฐกิจไทย “ถดถอยแล้ว” Q2 จุดต่ำสุด เตือนระวัง “โควิด” ระลอกสอง

เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในไตรมาสแรก ปี 2563 นี้ ออกมาหดตัว -1.8% ต่อปี เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 6 ปี โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า จีดีพีปีนี้จะหดตัวอยู่ในช่วง -6 ถึง -5% ต่อปี จากการส่งออกที่คาดว่าจะหดตัว -8% การบริโภคภาคเอกชนหดตัว 1.7% และการลงทุนรวมหดตัว 2.1% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง -1.5 ถึง -0.5%

จีดีพี Q2 ส่อหดตัวลึก -10%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 หดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะหดตัวที่ -4% ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรกจะหดตัวลึกกว่าครึ่งปีหลัง โดยในไตรมาส 2 จะหดตัวลึกที่สุดราว -10% ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ หดตัวราว -5%

ทั้งนี้ หากไม่มีการระบาดที่รุนแรงอีกระลอก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ในช่วงครึ่งปีหลังอาจเป็นบวกได้ เนื่องจากมีการปลดมาตรการล็อกดาวน์

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสยังมีความเสี่ยงจากการกลับมาระบาดในระลอกที่ 2 อย่างที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีน ซึ่งจะยังเป็นตัวแปรสำคัญในการประเมินทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

ศก.ไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว

ฟาก Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกหดตัว -1.8% YOY เนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรงจากไวรัสโควิด-19 ผ่านการหดตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ขณะที่ภาครัฐมีการเบิกจ่ายล่าช้าทำให้รายจ่ายด้านการบริโภคและการลงทุนภาครัฐปรับลดลง รวมถึงผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตในหลายพืชสำคัญหดตัว

ทั้งนี้ EIC มองเศรษฐกิจไทย “เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว” โดยเป็นการ “ถดถอยทางเทคนิค” เนื่องจากจีดีพีหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส คือ ไตรมาส 4 ปี 2562 หดตัว -0.2% QOQ และไตรมาส 1 นี้ หดตัว -2.2% QOQ นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากสุดในช่วงไตรมาส 2 จากมาตรการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) ทั่วโลก โดยการปิดการเดินทางเข้าออกประเทศของไทยทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปเกือบ 100% ในช่วงปลายเดือน มี.ค.จนถึงปัจจุบัน ประกอบกับการห้ามเดินทางข้ามจังหวัดก็เป็นอีกปัจจัยที่กระทบการท่องเที่ยวของไทยอย่างหนัก รวมถึงภาคขนส่ง และการค้าขายหลายประเภทที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว

ส่วนช่วงครึ่งหลังของปี เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการมีมาตรการภาครัฐและมาตรการเปิดเมืองบางส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงสำคัญ คือ หากมีการกลับมาระบาดของโควิด-19 ในระดับที่น่ากังวล ก็อาจทำให้เศรษฐกิจหดตัวเพิ่มเติมได้

“ดร.กําพล อดิเรกสมบัติ” ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดเงิน EIC ระบุว่า EIC ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะหดตัว -5.6% โดยแนวโน้มต่อจากนี้ มองว่า ไตรมาส 2 เศรษฐกิจน่าจะยังอยู่ในภาวะถดถอยเชิงเทคนิค หรือหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส

“ในไตรมาส 3 เรามองว่าอาจมีโอกาสฟื้นตัวได้ คือ บวกขึ้นมาเมื่อเทียบ QOQ แต่ยังติดลบเมื่อเทียบ YOY ถึงตอนนั้นเราเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ยังคงอยู่ในภาวะหดตัว”

ฟันธง กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25%
ด้วยเศรษฐกิจไทยที่ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และแนวโน้มการหดตัวที่น่าจะรุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 2 รวมถึงการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีความเสี่ยงด้านต่ำค่อนข้างมาก ทาง EIC จึงมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 bps ในไตรมาสที่ 2 และมีโอกาสค่อนข้างสูงที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps ในการประชุมวันที่ 20 พ.ค.นี้

“หาก กนง.ลดดอกเบี้ยต่อก็จะสามารถช่วยเหลือประชาชนกลุ่มที่มีภาระหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีสินเชื่อแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัวก็จะช่วยให้ภาระหนี้ลดลง โดยจากสัญญาณที่เราบอก มีความเป็นไปได้สูงที่ ธปท.จะลดดอกเบี้ยลงครั้งนี้ หากไม่ลดครั้งนี้ก็ต้องลดครั้งต่อไปอยู่ดี” ดร.กำพลกล่าว