สแตนชาร์ตฯ ชี้ จีดีพี Q2 ติดลบ 13% ไทยมีโอกาสทำคิวอี หลังกนง.หั่นดบ.เหลือ 0.25%

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ยันจีดีพีไตรมาส 2 ยังไม่ต่ำสุด ระบุเห็นตัวเลขติดลบ 13% จากคาดการณ์ทั้งปี ติดลบ 5% หวังมีวัคซีน-ท่องเที่ยวกลับมาปลายปี เชื่อใช้เวลาฟื้นตัว 2 ปี จับตา กนง.ลดดอกเบี้ยไตรมาส 3 เหลือ 0.25% รอผู้ว่าธปท.คนใหม่ดำเนินนโยบายการเงินหลังโควิด-19 ระบุมีโอกาสทำ QE ส่วนค่าเงินบาทแนวโน้มแข็งค่าแตะ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

วันที่ 28 พ.ค.2563 ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า ธนาคารประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวอยู่ที่ 5% โดยอยู่ภายใต้ 3 สมุติฐานด้วยกัน คือ

1.กรณีดีที่สุด โดยไทยสามารถมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ภายในครึ่งหลังของปีนี้ ส่งผลผลให้เศรษฐกิจไทยน่าจะติดลบน้อยลงมาอยู่ที่ -3% คงยังไม่เห็นการบวกของเศรษฐกิจ

2.กรณีกลาง คือ มีการทดสอบวัคซีนในเดือนกรกฎาคมนี้ และภายในต้นปี 2564 น่าจะมีวัคซีนออกมา โดยจีดีพีน่าจะอยู่ที่ -5%

และ 3.กรณีเลวร้ายที่สุด คือ มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 ส่งผลให้จีดีพีมีโอกาสติดลบมากขึ้นอยู่ที่ -10% เนื่องจากการผ่อนคลายการเปิดธุรกิจและกระตุ้นเศรษฐกิจจะกลายเป็นเรื่องรอง โดยภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ จะหันกลับมาหันความสำคัญกับเรื่องสาธารณสุขแทน ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจจำเป็นต้องพักไว้ก่อน

อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นไตรมาสที่ลงต่ำสุด และไตรมาสที่ 3 และ 4 จะฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารประเมินว่าไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ -13% เนื่องจากการฟื้นตัวยังคงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ไทยจะมีวัคซีนหรือไม่ หรือการกลับมาติดเชื้ออีก ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

“เราอยู่ภายใต้แรงกดดันมาร่วม 2 เดือน แต่ทุกอย่างกำลังจะไปข้างหน้า ธุรกิจเริ่มเปิดมากขึ้น แต่เราต้องแยกความรู้สึกและเศรษฐกิจจริงออกจากกัน โดยเรามองว่าปลายเดือนมิ.ย.จะเห็นการกลับมาใช้จ่ายหลังเดือนมี.ค.ติดลบในรอบ 4-5 ปี และไตรมาสที่ 3 เห็นการท่องเที่ยวกลับมา และในไตรมาสที่ 4 หรือเดือนพ.ย.หวังว่าคนจีนและเอซียกลับมาท่องเที่ยวไทย โดยเชื่อว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 และในปี 64 จีดีพีจะกลับมาบวกเล็กน้อยที่ระดับ 2% ถือว่าขยายตัวน้อยกว่าในปี 50-51”

ดร.ทิม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนโยบายการเงิน มองว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ จะเห็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% และจะกลับมาลดดอกเบี้ยอีกครั้งในไตรมาสที่ 3 ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ระดับ 0.25% อย่างไรก็ดี โอกาสที่จะเห็นธปท.เดินหน้าดอกเบี้ย 0% หรือ ติดลบ ก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัวและเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่านโยบายการเงินและนโยบายเศรษฐกิจจะเดินหน้าอย่างไรหลังโตวิด-19 ซึ่งจะมีมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หรือไม่ จึงต้องรอดูนโยบายจากผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ในเดือนตุลาคมนี้

อย่างไรก็ดี หากจะดำเนินมาตรการ QE จะเห็นว่าประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่นที่ดำเนินนโยบายดังกล่าว เนื่องจากไทยมีสัดส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ประมาณ 40% และรายย่อยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่เหมือนต่างประเทศที่ธุรกิจรายใหญ่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งหากไทยทำ QE ยังมองไม่ออกว่าจะช่วยเอสเอ็มอีและรายย่อย หรือภาคเศรษฐกิจจริงได้อย่างไร

“ดอกเบี้ยเหลือรูมไม่เยอะ อาจไม่พ้นต้องทำเรื่อง QE ซึ่งที่ผ่านมาธปท.ได้อัดฉีดเงินจำนวนมากผ่านการซื้อพันธบัตรที่จะเห็นว่าในเดือนมี.ค.ที่มีกองทุนรวมปิดตัวไป ทำให้ต้องเอาเงินออกมาในระบบ และตั้งกองทุน BSF ซึ่งมีแต่คนตัวใหญ่ๆ บริษัทใหญ่ที่สามารถออกหุ้นกู้ พันธบัตรได้ แต่บริษัทเอสเอ็มอีทำไม่ได้ ไม่สามารถเข้า Financial Market ได้ เราจึงอยากเห็นโยบายอะไรที่มากกว่านี้ แม้ว่าจะออกเงินกู้ซอฟต์โลน แต่ยังต้องใช้เวลา เพราะเพิ่งใช้วงเงินไปประมาณ 10% ของวงเงิน 5 แสนล้านบาท แต่เข้าใจแบงกืที่ต้องประเมินความเสี่ยงลูกค้า เพราะไม่อยากเป็นหนี้เสีย”

ขณะที่ทิศทางค่าเงินบาท มองว่า แนวโน้มจะอยู่ในทิศทางแข็งค่า แต่จะแข็งค่าน้อยกว่าปีก่อนที่แข็งไป 8% สูงสุดในภูมิภาค โดยในปีนี้จะเห็นการแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 3% กรอบสิ้นปีอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 31.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ปัจจัยแข็งค่ามาจากการการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดีในช่วงปลายปี และไม่มีผู้กลับมาติดเชื้อรอบ 2 ประกอบกับการนำเข้าติดลบ 2-3% เพราะไม่มีการลงทุน ทำให้ดุลการค้าเกินดุล และราคาพลังงานไม่ได้สูงมาก


ดร.ทิม กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นความเสี่ยงที่จะต้องติดตาม จะมีอย่างน้อย 3 ประเด็น คือ 1.ความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่จะกลับมารุนแรงอีกครั้ง แม้ว่าปีก่อนจะไม่มีผลกระทบต่อไทยมาก เพราะไทยยังมีการท่องเที่ยวมาช่วย แต่ปีนี้ปัจจัยหนุนหายไป 2.การกู้เงินของรัฐบาล ซึ่งอาจจะต้องติดตามผ่านการดีเบตว่าจะสามารถกู้เงินได้ตามแผนหรือไม่ เพราะมีเรื่องของการเมืองในสภาและนอกสภาเข้ามาเกี่ยวข้อง และ 3.การติดเชื้อรอบ 2 หลังจากการเปิดประเทศ และเปิดธุรกิจ อาจจะเป็นความเสี่ยงจากแรงงานต่างชาติที่กลับมาเข้ามา จึงต้องตรวจสอบด้านสาธารณสุขให้ชัดเจน