เปิดแคนดิเดต ผู้ว่าการ ธปท. “เอกนิติ” มาแรงเสียงเชียร์กระหึ่ม

หลังจากเก็บงำมาตลอดช่วงก่อนหน้านี้ เมื่อถูกไถ่ถามถึงการลงสมัครเพื่อชิงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวาระที่ 2 “วิรไท สันติประภพ” มักจะบอกให้รอประกาศรับสมัครก่อน หลังจากนั้นตนจะประกาศให้ทุกคนได้รับทราบพร้อมกันว่าจะลงสมัครหรือไม่

ล่าสุด “วิรไท” ได้ประกาศผ่านการให้สัมภาษณ์ “สุทธิชัย หยุ่น” ซึ่งมีการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Suthichai Yoon” ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า “ผมตัดสินใจไม่สมัครเป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติสมัยที่ 2 หลังทำงานในตำแหน่งนี้มาครบ 5 ปี 30 ก.ย.นี้ เพราะต้องการให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น”

“วิรไท” ฝากผลงาน 5 ปี

ไม่ว่า “วิรไท” จะตัดสินใจด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ก็ได้ฝากผลงานไว้หลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีหลังนี้ที่ ธปท.มีการงัดเครื่องมือใหม่ ๆ มาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญ “วิกฤตโควิด-19” ธปท.ก็ทำงานเชิงรุกให้เห็นชัดเจน

“เวลาที่ผมมองงานที่ ธปท. มักจะตั้งคำถามว่า ประชาชนได้อะไรจากการทำงานของ ธปท. ถ้าดูรายงานประจำปีของ ธปท.ในช่วง 2-3 ปีหลัง จะเห็นบทแรก คือ ประชาชนได้อะไรจากการทำงานของ ธปท. ซึ่งเป็นสิ่งที่พยายามทำให้ทุกคนพยายามคิดแบบนี้” นี่เป็นคำกล่าวของ “วิรไท” ในวัยย่าง 51 ปี ที่ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อเร็ว ๆ นี้

พร้อมย้ำว่า หน้าที่หลักของ ธปท. มีภารกิจหลัก 3 กลุ่ม คือ 1.งานด้านการรักษาเสถียรภาพ เนื่องจากระบบการเงินปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ระบบธนาคารพาณิชย์ แต่ต้องมองความเชื่อมโยงของระบบการเงินในภาพใหญ่ทั้งหมด เนื่องจากระบบการเงินซับซ้อนมากขึ้น เชื่อมโยงมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องสามารถ “จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน ป้องกันไม่ให้ลาม”

ขณะเดียวกัน ธปท.พยายามสร้างระบบการเงินที่ยั่งยืน โดยการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การมีมาตรการที่เข้ามาแก้ปัญหาจุดเปราะบางต่าง ๆ เช่น มาตรการ LTV ในภาคอสังหาริมทรัพย์, การกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิต, การกำกับดูแลสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เป็นต้น

2.งานด้านการพัฒนา อาทิ การพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศ หรือ “พร้อมเพย์” พัฒนาฟินเทคต่าง  ๆ รวมถึงการรื้อค่าธรรมเนียมหลายรายการเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการทางการเงิน, การเปิดคลินิกแก้หนี้ และ 3.งานด้านการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร ฯลฯ

สิ่งที่ผู้ว่าฯ ธปท. (คนใหม่) ต้องทำ

เมื่อถามถึงสิ่งที่ผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่จะต้องเข้ามาสานต่อในท่ามกลางภาวะวิกฤตเช่นปัจจุบัน “วิรไท” กล่าวว่า การยึดหลักการของ ธปท. คือ “มองไกล ยืนตรง ยื่นมือ ติดดิน” จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในภาวะที่มีความไม่แน่นอน ผันผวนสูง ต้องเร่งทำให้พร้อมใช้ไว้ก่อน โดยมองให้รอบ เพราะโลกข้างหน้าจะแตกต่างจากโลกแบบเดิม ต้องมีเครื่องมือที่หลากหลายมากขึ้น และต้อง “คิดนอกกรอบ” มากขึ้น ทั้งยังต้องทำงานร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงาน

“ที่สำคัญ ติดดิน คือ จะทำอย่างไรให้สิ่งที่เราทำเกิดผลได้จริง เราจะไม่ได้แต่นั่งเขียนแต่เรื่องทฤษฎี ต้องคิดเรื่องที่จับต้องได้ และเห็นผลได้จริง” ดร.วิรไทกล่าว

เปิดกว้างผู้สมัครชิงตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม การประกาศตัดสินใจไม่ลงสมัครต่อของ “วิรไท” ทำให้การสรรหาผู้ว่าการ ธปท.รอบนี้ “เข้มข้น” และ “น่าจับตา” มากยิ่งขึ้น

โดยคณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าฯธปท. ที่มี “รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์” อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการคัดเลือก ได้ออกประกาศเปิดให้ยื่นใบสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค. ไปจนถึงวันที่ 16 มิ.ย.นี้

ซึ่ง “รังสรรค์” ระบุว่า การคัดเลือก “เปิดกว้าง” ทั้งผู้บริหารธนาคารรัฐ ธนาคารเอกชน โดยต้องเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับรองผู้บริหารสูงสุด หรือผู้บริหารบริษัทเอกชน หากมีความสนใจ จะต้องอยู่ในองค์กรที่มีสินทรัพย์ไม่น้อยกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท รวมทั้งข้าราชการ เช่น อธิบดีกรมต่าง ๆ ก็สามารถมาสมัครได้ ส่วนนักการเมือง ต้องเว้นจากการทำหน้าที่มาแล้วอย่างน้อย 1 ปี

นอกจากนี้ ก็ต้องมีคุณสมบัติ อาทิ มีสัญชาติไทย อายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี มีความรู้ความเข้าใจเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจการเงินของโลก นโยบายการเงินการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงิน เป็นต้น

“จะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อก่อน ว่ามีใครสมัครบ้าง โดยคณะกรรมการคัดเลือกจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 18 มิ.ย. หลังปิดรับสมัคร เพื่อเปิดซองและพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัคร และจะนัดสัมภาษณ์ช่วงปลายเดือน มิ.ย. จากนั้นจะเร่งสรุปเลือกอย่างน้อย 2 รายชื่อ แล้วเสนอให้ รมว.คลัง ก่อนวันที่ 2 ก.ค. 2563 ก่อนจะเสนอ ครม.ต่อไป” นายรังสรรค์กล่าว

แคนดิเดตผู้นำ “วังบางขุนพรหม”

สิ่งที่ทุกฝ่ายต่างจับจ้องกันนับจากนี้ ก็คือ “ใครจะมานั่งเก้าอี้ผู้นำด้านนโยบายการเงินคนใหม่” โดย “คนใน” ก็มีโอกาสที่จะลงชิงตำแหน่ง เพราะมีคุณสมบัติครบไม่ว่าจะเป็น “ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน” รองผู้ว่าการ ธปท.ด้านบริหาร, “รณดล นุ่มนนท์” รองผู้ว่าการ ธปท.ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน และ “เมธี สุภาพงษ์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน

ส่วน “คนนอก” ที่กระแสค่อนข้างแรงขณะนี้ มีผุดขึ้นมาหลายชื่อ โดยแม้จะมีชื่อ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” อดีตคนแบงก์ชาติ ที่ลาออกไปทำงานกับแบงก์กรุงเทพแล้วเข้าสู่เส้นทางการเมือง แต่ด้วยความที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ดังนั้น คุณสมบัติจึงน่าจะไม่ผ่าน

อีกคน “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ที่เพิ่งครบวาระจากบอร์ด ธปท.ไปเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา และปัจจุบันยังนั่งเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อยู่

ส่วนคนที่กระแสมาแรงมากที่สุดในยามนี้ ก็คือ “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากร ที่ได้รับเสียงเชียร์กระหึ่มจากหลายฝ่าย เพราะเป็นคนหนุ่มไฟแรง โปรไฟล์ดี มีผู้สนับสนุนมากมาย สามารถทำงานประสานเข้ากับทุกฝ่ายได้เป็นอย่างดี

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่ ต้องครบเครื่อง ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายได้ และที่สำคัญ ต้องได้ “ไฟเขียว” จากนายกรัฐมนตรี เนื่องจากบทบาทของ ธปท. สำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในภาวะที่ต้องเผชิญกับ “โควิด-19” เช่นนี้

สุดท้ายแล้ว ผู้นำนโยบายการเงินคนใหม่จะเป็นใคร จะพลิกโผหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป