‘เอเซีย พลัส’ หวั่นไตรมาส 2 จีดีพี -11% หั่นเป้าทั้งปีเหลือ -5.7%

เศรษฐกิจไทย ติดลบ
แฟ้มภาพ

“บล.เอเซีย พลัส” หั่นเป้าจีดีพีปี’63 ลงไปติดลบ 5.7% จากเดิมคาดติดลบ 1.4% ชี้ไตรมาสสองติดลบหนักสุด 11% จากผลกระทบล็อกดาวน์เศรษฐกิจ ประเมินกำไร บจ.ปีนี้ติดลบ 26% เหลือ 6.8 แสนล้าน เปิดโผ 7 หุ้นปลอดภัยลงทุนได้ในเดือน มิ.ย.

นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (ASP) เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2563 เหลือติดลบ 5.7% จากเดิมคาดว่าจะติดลบเพียง 1.4% เท่านั้น หลังจากไตรมาสแรกจีดีพีติดลบถึง 1.8% และคาดว่าในไตรมาส 2/63 จีดีพีจะติดลบรุนแรงที่สุด 11% จากผลกระทบภาครัฐล็อกดาวน์เศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค.เป็นต้นมา

“โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยที่มีน้ำหนักต่อจีดีพี จากการล็อกดาวน์ทั่วโลกในไตรมาส 2 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวหายไปหมด และคาดว่าจะกระทบไปจนถึงไตรมาส 3 ส่วนการส่งออกเชื่อว่าไตรมาสถัดไปจะพอฟื้นตัวกลับมาได้บ้าง แต่คงไม่ใช่ระดับปกติ” นายฐกฤต กล่าว

ขณะที่ประเด็นเศรษฐกิจที่ต้องติดตามในเดือน มิ.ย.นี้ แนะนำติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 4 ซึ่งจะเน้นช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์

ด้าน นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดกำไรบริษัทจดเบียน (บจ.) ปีนี้เหลือเพียง 6.88 แสนล้านบาท ลดลง 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หลังจากกำไรไตรมาสแรกทำได้เพียง 1.1 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วนเพียง 13% ของคาดการณ์เดิมเท่านั้น ส่งผลให้กำไรต่อหุ้นปีนี้ลดลงเหลือ 64.00 บาท หรือลดลง 27.5% YoY

ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาเหลือ 0.5% ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) ซื้อขายด้วยอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (ค่า P/E) สูงถึง 21.2 เท่า สูงสุดในภูมิภาคเอเชีย และสูงสุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 20.9 เท่า จึงแนะนำนักลงทุนใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายช่วงถัดไป

ในส่วนของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) แม้ในวันทำการสุดท้ายของเดือน พ.ค.จะมียอดเป็นการซื้อสุทธิ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณายอดซื้อขายสุทธิจะพบว่าเป็นการขายสุทธิต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ 78,404 ล้านบาท เดือน เม.ย. 46,976 ล้านบาท และเดือน พ.ค. 36,340 ล้านบาท

“มีเพียงกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศเท่านั้นที่ซื้อสุทธิ แต่ 3 เดือนที่ผ่านมาแรงซื้อจากสถาบันก็เริ่มซื้อแผ่ว ดังนั้นโอกาสที่ SET Index จะขึ้นต่อยังค่อนข้างลำบาก” นายภราดร กล่าว

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินว่าเม็ดเงินลงทุนในประเทศจะเริ่มเคลื่อนย้ายไปลงทุนในกลุ่มหุ้นที่มีส่วนต่างผลตอบแทนค่อนข้างน่าสนใจเมื่อเทียบกับ SET Index ได้แก่ กลุ่มการแพทย์ (HEALTH) ธนาคาร (BANK) อสังหาริมทรัพย์ (PROP) บานยนต์ (AUTO) กองทุนรวมอสังหาฯ-รีท (PF&REIT) ท่องเที่ยว (TOURISM) และเกษตร (AGRI)

ขณะที่ นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แม้แนวโน้มดัชนีจะยังเป็นการแกว่งขาขึ้น (Sideways up) แต่ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ค่อนจ้างแพง และเห็นสัญญาณเก็งกำไรในหุ้นขนาดเล็กค่อนข้างสูง ดังนั้น จึงต้องระวังความเสี่ยงที่ดัชนีอาจปรับลดลง โดยให้แนวรับเดือน มิ.ย.ที่ 1,250 จุด และแนวต้านที่ 1,390 จุด

โดยกลยุทธ์การลงทุนในเดือนนี้ เน้นลงทุนในหุ้นปลอดภัย (Defensive Stock) และหุ้นที่จ่ายปันผลสูง (Dividend Stock) ได้แก่ หุ้นเด่นแนะนำในเดือนนี้ ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) บมจ.บีซีพีจี (BCPG) บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) บมจ.น้ำมันพืชไทย (TVO) ธนาคารกรุงเทพ (BBL)

ขณะที่หุ้นที่แนะนำหลีกเลี่ยงลงทุน ได้แก่ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) จากความเสี่ยงหลุดคำนวณในดัชนี SET50 และ SET100 ซึ่งจะส่งผลให้สภาพคล่องการลงทุนส่วนหนึ่งหายไป และ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) ที่ราคาปัจจุบันซื้อขายด้วย P/E สูงถึง 11-12 เท่า ขณะที่ P/E กลุ่มอยู่ที่ 5 เท่า เท่านั้น