ไทยเสี่ยง “เงินฝืด” “ธุรกิจ-ผู้ออม” อ่วม จี้รัฐรับมือ

FILE PHOTO: REUTERS/Valentyn Ogirenko

ว่ากันว่าประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. ติดลบที่ -3.44% ต่อปี ซึ่ง “ติดลบต่อเนื่อง” เดือนที่ 3 และติดลบ “ต่ำสุด” ในรอบกว่า 10 ปี นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2552

อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมายืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่เข้าข่ายเงินฝืดตามนิยามของการดำเนินนโยบายการเงิน แต่ก็ยอมรับว่ามีความเสี่ยง หากเศรษฐกิจไทยหดตัวลึกหรือฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินมาก

“ดร.ยรรยง ไทยเจริญ” รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า ปีนี้ไทยมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดมากขึ้น เนื่องจากเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง และปัจจุบันการบริโภคและการใช้จ่ายชะลอตัวด้วย ซึ่งต้องติดตามราคาสินค้าและบริการที่มีผลต่อเงินเฟ้อพื้นฐาน และ ต้องดูว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นบวกในปี 2564 ได้หรือไม่

“ความเสี่ยงเงินฝืดปีนี้มีมากขึ้น หากเงินเฟ้อยังคงติดลบต่อเนื่องเป็นเวลานาน แล้วมองไปข้างหน้าเงินเฟ้อยังติดลบ เศรษฐกิจยังติดลบลึกและนาน ครัวเรือนไม่ใช้จ่าย เราอาจจะก้าวสู่ภาวะเงินฝืดได้ อย่างไรก็ดีเชื่อว่าหากไทยมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ภาครัฐจะมีเครื่องมือและมาตรการเข้ามาดูแลเพิ่มเติม”

“ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร ชี้ว่าหากไทยเกิดภาวะเงินฝืด จะทำให้ 1.ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้า 2.ราคาสินค้าที่ถูกลงไปเรื่อย ๆ จะทำให้คนรอ ไม่รีบซื้อ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงัก 3.ผู้ประกอบการไม่กล้าสต๊อกสินค้าล่วงหน้าเพราะกลัวขาดทุน ทำให้บรรยากาศการค้าขาย “เงียบสงัด” และ 4.ภาวะเงินฝืดจะทำให้ดอกเบี้ยต่ำมาก กระทบการออม-ลงทุน โดยเฉพาะของผู้ที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณอายุ

“ข้อเสียของเงินฝืดก็คือ คนรู้สึกว่าดูผลตอบแทนจากการใช้เงินในวันนี้แล้ว เก็บเงินไว้ดีกว่า ซึ่งตอนนี้อาจจะมองกันว่า เรายังไม่ถึงขั้นนั้น แต่หากไปดู nominal wages (ค่าจ้างที่เป็นตัวเงิน) เฉลี่ยในรอบ 6 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ปรับขึ้นเลย แสดงว่าพอเงินเฟ้อไม่เพิ่ม ค่าจ้างแรงงานก็ไม่ขึ้นด้วย”

ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเพิ่มความเสี่ยง แต่เชื่อว่าประเทศไทยยังไม่น่าเกิดเงินฝืด เนื่องจากคาดว่าโควิด-19 จะจบลง และเริ่มฟื้นเศรษฐกิจได้เพียงแต่ไทยจะต้องอยู่กับภาวะเงินเฟ้อต่ำไปอีกนานพอสมควร โดยที่ผ่านมาไทยอยู่ในโหมดเงินเฟ้อต่ำมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 อยู่แล้ว ยิ่งล่าสุด เงินเฟ้อพื้นฐานลดลงมาเหลือ 0% จากที่ไม่เคยลงมาต่ำขนาดนี้ นับตั้งแต่ปี 2552 จึงทำให้ค่อนข้างน่าตกใจ สะท้อนว่าความต้องการซื้อในประเทศ (ดีมานด์) ที่แย่ลงมาก

“อาจจะยังไม่ใช่ภาวะ deflation (เงินฝืด) แต่เป็นภาวะ low inflation (เงินเฟ้อต่ำ) ซึ่งพอเกิดโควิด ก็ทำให้แนวโน้มดูเลวร้ายลงไป เพราะราคาน้ำมันลดลงเร็วมาก และดีมานด์หายไปจริง ๆ เห็นชัดได้จากราคารถยนต์ และราคาบ้านที่ลดลง และสินค้าบางอย่างส่งไปต่างประเทศไม่ได้ ทำให้คนในประเทศซื้อได้ในราคาที่ถูกลง ตัวอย่างชัด ๆ คือ ทุเรียน สิ่งที่ต้องกังวลคือ ภาวะแบบนี้จะเป็นต่อเนื่องหลังโควิดจบ หรือแค่ช็อกชั่วคราว”

“ดร.พิพัฒน์” บอกด้วยว่า อีกปัจจัยที่สำคัญ ที่จะทำให้เกิดเงินฝืดก็คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งหากกลับไปแข็งค่ามาก ๆ เหมือนที่เคยเผชิญ ก็มีโอกาสที่ไทยจะเกิดเงินฝืดตามรอยญี่ปุ่น โดยต้องจับตาว่า ธปท.จะดูแลเรื่องค่าเงินบาทอย่างไรต่อไป เพราะขณะนี้เครื่องมือก็เริ่มหมด เนื่องจากการลดดอกเบี้ยนโยบายทำได้จำกัดแล้ว

ขณะที่ “ดร.เชาว์ เก่งชน” กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์เงินเฟ้อที่ติดลบมา 3 เดือนต่อเนื่อง เกิดจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำเป็นตัวถ่วงหลัก ซึ่งไทยต่างจากญี่ปุ่นที่เงินฝืดกว่า 10 ปี เพราะประชาชนขาดความเชื่อมั่น ไม่ใช้จ่าย กอดเงินสดไว้ ส่วนผู้ประกอบการขายสินค้าไม่ได้ ต้องตัดราคากัน ทำให้คนรอซื้อสินค้าถูก เกิดเป็นวัฏจักรที่ยืดเยื้อ

“ไทยไม่เป็นแบบญี่ปุ่น เพราะตอนนี้ราคาน้ำมันเริ่มกระเตื้องแล้ว และหากโควิดไม่ระบาดหนักรอบ 2 เศรษฐกิจก็คงเริ่มฟื้นตัวได้ ซึ่งเงินเฟ้อก็คงเริ่มดีขึ้น เงินเฟ้อที่ติดลบตอนนี้น่าจะเป็นประเด็นชั่วคราว แต่ในกรณีเลวร้ายอย่างธนาคารกลางญี่ปุ่น ต้องใช้เงินจำนวนมากดูแล ดังนั้น ทางที่ดี เราก็ต้องไม่ให้เกิด ต้องควบคุมโควิดไม่ให้รุนแรงจนต้องล็อกดาวน์อีก และรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง”

“ดร.เชาว์” ชี้ว่า งบฯฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทนั้น จะเป็นตัวช่วยประคองเศรษฐกิจไทยได้ โดยรัฐบาลควรจะทยอยใช้กระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กับการควบคุมการระบาดของโควิดรอบ 2 ไม่ให้รุนแรง

ถ้าไทยต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืดอย่างที่ญี่ปุ่นเคยเผชิญคงไม่ดีแน่ ดังนั้น รัฐบาลก็คงต้องหาทางรับมือไว้แต่เนิ่น ๆ ส่วนจะทำอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป