‘ไมเนอร์’ เปิดแผนฝ่าวิกฤต จัดโครงสร้างการเงิน-ลดต้นทุน 3 หมื่น ล.

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์
สัมภาษณ์

ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยตรง และหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยที่ถือว่าได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงก็คือ “บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” หรือ “MINT” เจ้าของอาณาจักรเครือโรงแรม 535 แห่งใน 57 ประเทศทั่วโลก ภายใต้ชื่อแบรนด์ที่คนไทยรู้จักอย่าง “อนันตรา” และ “อวานี” รวมถึงเจ้าของแฟรนไชส์ร้านอาหารอย่าง “เดอะ พิซซ่า คอมปะนี” “สเวนเซ่นส์” “ซิซซ์เล่อร์” “เบอร์เกอร์คิง” และอีกมากมาย

ขณะที่กลยุทธ์การควบรวมกิจการ (M&A) ทั้งในไทยและต่างประเทศ เป็นจุดแข็งในการขยายกิจการและกระจายความเสี่ยงของไมเนอร์ แต่หลังเกิดโรคระบาด ทำให้จุดแข็งกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ทั่วโลกเข้าเต็ม ๆ ทำให้ผลประกอบการไตรมาส 1/2563 ไมเนอร์ขาดทุนสุทธิ 1,774 ล้านบาท ขณะที่บริษัทมีหนี้สินรวมสูงถึง 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้เงินกู้สถาบันการเงินและหุ้นกู้ราว 1.3 แสนล้านบาท ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 1.6 เท่า ทำให้ไมเนอร์ต้องเร่งปรับโครงสร้างการเงินครั้งใหญ่ พร้อมปรับแผนธุรกิจ และปรับทัพคนในองค์กร เพื่อประคองตัวผ่านวิกฤตและรับมือกับกระแส “new normal” ต่อจากนี้

ขาดทุนครั้งแรกในรอบ 20 ปี

“ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ MINT ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ส่งผลกระทบหนักกว่าวิกฤตการเงินช่วงต้มยำกุ้งในปี 2540 เนื่องจากวิกฤตในอดีตเป็น “Asian Crisis” หรือเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียเท่านั้น แต่คราวนี้กลายเป็น “pandemic” เป็นการระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และนับเป็นครั้งแรกที่บริษัทประสบภาวะขาดทุนตั้งแต่ดำเนินงานมากว่า 20 ปี แต่จะต้องติดตามดูว่าในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ ผลดำเนินการของบริษัทจะออกมาอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะออกมาดีขึ้น เพราะรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศก็เริ่มคลายล็อกดาวน์ โรงแรมของบริษัทก็เริ่มทยอยเปิดดำเนินการ

“ปีนี้ถือเป็นข้อยกเว้นเพราะโควิดโดนทั่วโลกจริง ๆ ทำให้ไตรมาส 1 บริษัทมีผลขาดทุน ประกอบกับการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่เราก็ยังเชื่อว่าการกระจายพอร์ตลงทุนของบริษัทจะช่วยเกื้อหนุนเมื่อการฟื้นตัวของดีมานด์กลับมา เพราะไม่ว่าดีมานด์จะเกิดขึ้นตรงไหน ไมเนอร์ก็มีธุรกิจที่จะจับฐานลูกค้าได้” ชัยพัฒน์กล่าว

โดยพอร์ตรายได้ของบริษัทมาจากต่างประเทศ 70% และอีก 30% เป็นรายได้จากในประเทศ ขณะที่สัดส่วนรายได้แบ่งตามประเภทกิจการ ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม 70% ธุรกิจร้านอาหาร 25% และธุรกิจไลฟ์สไตล์ 5% ระดมทุนเบ็ดเสร็จรับโควิดยืดเยื้อ

“ชัยพัฒน์” อธิบายถึงแผนปรับโครงสร้างทางการเงินว่า บริษัทประกาศแผนระดมทุนแบบเบ็ดเสร็จ 25,000 ล้านบาท เป็นกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งฐานะทางการเงิน ท่ามกลางวิกฤตที่ท้าทาย โดยเป็นการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (perpetual bond) หรือหุ้นกู้ตลอดชีพ มูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมมูลค่า 10,000 ล้านบาท ราคาเสนอขาย 18.90 บาทต่อหุ้น พร้อมกับการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิ (warrant) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมมูลค่า 5,000 ล้านบาท

ในส่วนของการเสนอขาย perpetual bond ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีมากจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันต่างชาติ มียอดจองซื้อเกินกว่าที่เสนอขายถึง 11 เท่า หรือประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แสดงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อบริษัท

“บริษัทคิดว่าเงินที่ได้จากการระดมทุน 2.5 หมื่นล้านบาท เพียงพอกับการที่จะต้านรับกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นจากวิกฤต ถ้าหากโควิดยืดเยื้อไปหรือมีการระบาดระลอก 2 คิดว่าเงินจำนวนนี้เพียงพอ จึงเป็นแผนการระดมทุนแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อที่จะให้สามารถรักษาระดับ D/E ณ สิ้นปีให้ไม่เกิน 1.3 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.6 เท่า” นายชัยพัฒน์กล่าวและว่า ในปี 2563 บริษัทมีดีลครบกำหนดชำระหนี้ประมาณ 9,600 ล้านบาท และปีหน้าอีกประมาณ 14,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในการวางแผนของบริษัทก็มีมากกว่า 1 แผน คือมีแผน A-B-C ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อและรุนแรงมากกว่าเดิม บริษัทก็มีแผนที่เหมาะสม ซึ่งในส่วนของการตัดขายทรัพย์สินก็เป็นไปได้ ถ้าสถานการณ์เลวร้ายและจำเป็น

นอกจากนี้ ในกรณีเลวร้ายที่ผลดำเนินการติดลบในช่วงอีก 2 ไตรมาสที่เหลือ บริษัทก็ยังสามารถอยู่ได้สบาย เนื่องจากปัจจุบันยังมีกระแสเงินสดในมือกว่า 20,000 ล้านบาท อีกทั้งยังมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารอีกกว่า 30,000 ล้านบาท รวมถึงการเพิ่มทุน 25,000 ล้านบาทในครั้งนี้

ลดคน-ลดต้นทุน 3 หมื่นล้าน

นอกจากนี้นายชัยพัฒน์กล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจหลังเริ่มเกิดผลกระทบ บริษัทก็ดำเนินการเชิงรุกด้วยการลดต้นทุนแบบเฉียบพลันอย่างรุนแรง ทำให้สามารถลดต้นทุนได้ประมาณ 25-30% ของค่าใช้จ่ายปี 2562 ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถสปีดอัพให้ถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วขึ้น คือธุรกิจโรงแรมก่อนโควิด-19 บริษัทต้องมีอัตราเข้าพัก 50-60% จึงจะถึงจุดคุ้มทุน แต่เมื่อลดต้นทุนลงมาก็ทำให้อัตราเข้าพักแค่ 30-40% โรงแรมก็สามารถถึงจุดคุ้มทุนได้

“ชัยพัฒน์” อธิบายว่า บริษัทลดต้นทุนผ่าน 3 วิธีการได้แก่ 1.การปรับลดพนักงาน ซึ่งลดได้ค่อนข้างมาก เพราะบริษัทจ้างพนักงานพาร์ตไทม์ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะไมเนอร์ฟู้ดกว่า 60% เป็นพนักงานพาร์ตไทม์ เพราะฉะนั้นเวลาจะลดจะเพิ่มก็ปรับตรงนี้ มีความยืดหยุ่นและสามารถทำได้เร็วและฉับพลันกว่าคนอื่น  นอกจากนี้ ก็มีการปรับโครงสร้างองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้ลดพนักงานประจำลงไปบ้าง 2.การเจรจาขอลดหรือเลื่อนจ่ายค่าเช่าพื้นที่ร้านอาหารและโรงแรม และสุดท้าย 3.การเจรจากับคู่ค้าเพื่อขอปรับเงื่อนไขการชำระเงินรวมถึงส่วนลด

“ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินมาตรการลดต้นทุนทุกทางอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าทั้งปี 2563 จะสามารถลดต้นทุนได้รวมประมาณ 30,000 ล้านบาท”

“ชัยพัฒน์” กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะเดียวกันบริษัทก็มีแผนดำเนินธุรกิจเพื่อปรับตัวรองรับวิถีใหม่ ทั้ง 3 หน่วยธุรกิจ และบริษัทได้ใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างต้นทุนให้เหมาะสม รวมถึงการหยุดนโยบายการควบรวมและเข้าซื้อกิจการ และรักษาระเบียบวินัยทางการเงินเพื่อให้ระดับหนี้สินไม่พุ่งขึ้นไปมากกว่านี้