แบงก์ชาติกังวลโควิดรอบ 2 เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเยียวยาไม่พอ

ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย

‘ดอน นาครทรรพ’ ชี้ความเสี่ยงโควิดระบาดระลอก 2 ขนาดใหญ่ วงเงินกู้เยียวยาเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาทอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องกู้เกินเพดานหนี้สาธารณะ 60% ฟาก ธปท.พร้อมลดดอกเบี้ยนโยบายในระยะถัดไปหากแนวโน้มเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาออนไลน์ The Symbol of Your Vision: The Vision for the NEXT Normal เปิดวิสัยทัศน์สู่บรรทัดฐานใหม่ของเศรษฐกิจและการลงทุน จัดโดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด ว่า ธปท.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 ติดลบ 8.1% จากปัจจัยการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักเป็นหลัก สอดคล้องกับคาดการณ์ของธนาคารโลก (World Bank) ที่คาดว่าปี 2563 เศรษฐกิจทั่วโลกจะติดลบ 6.2% ต่ำสุดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2563 นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบเช่นกันที่ 6.2% เนื่องจากมีการพึ่งพาต่างประเทศสูง โดยเฉพาะการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในประเทศอีกครั้ง โดยต้องยอมรับว่าปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกเข้าสู่การระบาดระลอก 2 แล้ว แต่ยังเป็นการระบาดขนาดเล็กเท่านั้น ซึ่งแต่ละประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศไทยยังสามารถรับมือได้

“เราคาดว่าไตรมาส 2 เศรษฐกิจจะลดลงต่ำที่สุด แล้วจะค่อยๆ ฟื้นตัวในกรณีที่ไม่มีการระบาดระลอก 2 ซึ่งก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ โดยในปีถัดไป ธปท.คาดว่าจีดีพีจะเติบโต 5% แต่ถ้าโตจากปีนี้ที่เราคาดการณ์ว่าติดลบ 8.1% ก็ถือว่ายังเติบโตได้ไม่เต็ม 100% คงต้องรออีกสัก 2 ปีถึงจะฟื้นตัวได้เต็มร้อย” นายดอน กล่าว

ขณะที่ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หากดูจากสถิติตั้งแต่ปี 2540 ที่ NPL อยู่ที่ระดับประมาณ 45% นั้น ที่ระดับประมาณ 3% ในปัจจุบันถือว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำ อีกทั้งในภาวะที่เกิดช็อกทั่วโลกเช่นนี้ มีความเป็นไปได้ว่า NPL จะปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ธปท.มั่นใจว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยจะยังรับมือได้

“ธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างเข้มแข็ง แม้ NPL จะปรับขึ้น แต่สถานะของธนาคารพาณิชย์ตอนนี้สามารถรองรับ NPL ได้ค่อนข้างมาก โดยมีเงินกองทุนสูงถึง 118-119% สูงกว่าระดับที่ทางการกำหนดไว้ที่ 112%” นายดอน กล่าว

ทั้งนี้ ธปท.ได้ออกมาตรการสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ โดยหวังว่าสภาพคล่องส่วนเกินในระบบจะไหลไปสู่กลุ่มคนที่ไม่มีเงินได้ อาทิ ผู้ประกอบการ SME เป็นต้น ซึ่งในแง่ของการกระจายตัวทำได้ค่อนข้างดี โดยจากการสำรวจพบว่า 70% ไหลเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการในต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการปล่อย Soft Loan ยังไม่ประสบความสำเร็จนักในแง่ปริมาณการปล่อยมากนัก โดยมียอดปล่อยกู้เพียง 1 แสนล้านบาท จากวงเงิน 5 แสนล้านบาท เนื่องจากธนาคารพาณิชย์กังวลเงื่อนไขการปล่อยเงินกู้ให้ผู้ประกอบการในระยะเวลา 2 ปี จะไม่เพียงพอที่กิจการจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ ซึ่งธปท.อยู่ระหว่างหารือสมาคมธนาคารไทยและภาครัฐเพื่อดึงบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามารับประกันความเสี่ยงเมื่อพ้นระยะเวลา 2 ปีต่อไป

นายดอน กล่าวอีกว่า ในระยะถัดไปหากมีความเสี่ยงการแพร่ระบาดเกิดขึ้น อาทิ เกิดการแพร่ระบาดระรอก 2 ครั้งใหญ่ ซึ่งอาจกดดันให้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 3 หรือ 4 ในปี 2563 นี้ แนะนำผู้ประกอบการให้เตรียมพร้อมรับมือ ทั้งในแง่เงินสดสำรอง และแผนระยะยาวหลังเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว โดย ธปท.ได้เตรียมพร้อมรับมือหากเศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวขึ้น โดยพร้อมที่จะปรับลดดอกเบี้ยในระยะถัดไป ซึ่งภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 2565

ในส่วนของภาครัฐ เชื่อว่าหากมีการระบาดรอบ 2 เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาทอาจไม่เพียงพอ และอาจต้องกู้หนี้เพิ่มเกินระดับเพดานหนี้สาธารณะที่ 60% ต่อจีดีพี โดยชี้ว่ามาตรการกระตุ้นต่างๆ ที่ออกมา อาทิ การแจกเงิน หรือการกระตุ้นท่องเที่ยวช่วยประคองสถานการณ์ในปีนี้เท่านั้น แต่ไม่สามารถช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการติดลบได้

เมื่อสอบถามถึงปัญหาเงินฝืด นายดอน กล่าวว่า แม้ว่าเงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่องมาแล้วถึง 3 เดือนด้วยกัน แต่ยังถือว่าไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากภาวะเงินฝืดจะต้องเห็นการปรับลดลงของระดับราคาสินค้อย่างกระจัดกระจาย ไม่เพียงแต่การปรับลงของราคาพลังงานเท่านั้น รวมถึงจะต้องติดลบต่อเนื่องยาวนานถึง 1 ปี ซึ่ง ธปท.คาดว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวก 0.9% ในปี 2564