ตลาดหุ้นไทย โฟลว์ต่างชาติขายสุทธิต่ำสุดรอบ 7 เดือน

ตลาดหุ้นไทย เดือน ก.ค.สัญญาณเงินลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่ำสุดรอบ 7 เดือน ต่ำระดับหมื่นล้านบาทเดือนแรกอยู่ที่ 9,938 ล้านบาท ดัชนีปิดที่ 1,328.53 จุด ลดลง 0.8% จากเดือนก่อน และลดลง 15.9% จากสิ้นปีก่อน อยู่ในระดับที่สูงกว่า MSCI ASEAN ด้านกิจกรรมไอพีโอฟื้นหลังคลายโควิด คาดสิ้นปียังเข้าเป้า 30-40 บริษัท มูลค่าระดมทุนเฉลี่ยต่อปีรวม 2-2.5 แสนล้านบาท ภากร ชี้ผลปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2 ทำให้ความไม่ชัดเจนมีความชัดเจนขึ้น

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยช่วงเดือน ก.ค.2563 ที่ผ่านมา ถือเป็นเดือนที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบเข้ามาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-จีน ที่เพิ่มขึ้น ความกังวลการระบาดของโรคโควิดระลอก 2 ในหลายประเทศทั่วโลก รวมไปถึงเริ่มมีการทยอยเปิดตัวเลขทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ไตรมาส 2 และการรายงานผลประกอบการของบริษัทต่างๆ อย่างไรก็ดีดัชนีหลักทรัพย์ไทย (SET INDEX) ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก สิ้นเดือน ก.ค.ดัชนีปิดที่ 1,328.53 จุด ลดลง 0.8% จากเดือนก่อน และลดลง 15.9% จากสิ้นปีก่อน ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่า MSCI ASEAN ที่ลดลง 19.4% จากสิ้นปีก่อน

เมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรมเทียบกับสิ้นปี พบว่า มีบางอุตสาหกรรมปรับตัวดีกว่า SET INDEX โดยรวม ซึ่งมี 2 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (YTD) อยู่ในแดนบวก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค และในบางหมวดธุรกิจที่ได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวหลังเริ่มมีการคลายการล็อคดาวน์ อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ นอกจากนี้เป็นเดือนแรกที่เริ่มเห็นสัญญาณหุ้นกลุ่มขนาดกลางและเล็กที่อยู่นอก SET100 และ mai ที่เริ่มได้รับอานิสงส์หลังมาตรการคลายล็อกดาวน์ที่มีการปรับตัวสูงขึ้น

ด้านมูลค่าการซื้อขาย(วอลุ่ม) เฉลี่ยต่อวันรวมใน SET และ mai อยู่ที่ 64,010 ล้านบาทต่อวัน อยู่ในระดับเทียบเท่าที่เทียบเท่ากับปีก่อน ส่งผลให้ (YTD) ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 มีวอลุ่มต่อวันรวมอยู่ที่ 67,972 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนักลงทุนรายย่อยยังคงมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อยู่ที่ 48.03% ของมูลค่าการซื้อขายรวม ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังเป็นการขายสุทธิตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) อยู่ที่ 225,674 ล้านบาท แต่หากดูในแต่ละเดือนการขายของนักลงทุนต่างชาติทยอยลดลงต่อเนื่อง ในเดือน พ.ค.มีการขายสุทธิ 31,580 ล้านบาท ต่อมาในเดือน มิ.ย.ขายสุทธิ 22,381 ล้านบาท และในเดือน ก.ค.เป็นเดือนแรกที่มูลค่าขายสุทธิต่ำที่สุดในรอบ 7 เดือนอยู่ที่ 9,938 ล้านบาท

นอกจากนี้ในเดือน ก.ค.เริ่มมีกิจกรรมไอพีโอ (IPO) กลับมาอีกครั้งหลังจากหยุดไปจากช่วงโควิด-19 โดยมีหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ 2 หลักทรัพย์ ได้แก่ 1.บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (STGT) และ 2.บมจ.ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี (SICT) มีมูลค่าระดมทุนรวม 15,043 ล้านบาท อีกทั้งมีมูลค่าการซื้อขายรวม 81,441 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.46% ของมูลค่าการซื้อขายรวมของเดือนนี้ ซึ่งโดยภาพรวมแล้วตลาดหุ้นไทยยังครองแชมป์ในอาเซียนและกลับมาค่อนข้างเร็ว

“หุ้นไอพีโอที่เข้ามาในช่วงนี้ราคาร้อนแรง เป็นเพราะเป็นหุ้นที่สอดคล้องวิถีใหม่หลังโควิด อย่าง STGT ก็เป็นผู้ประกอบการถุงมือยางของสาธารณสุข หรือจะเป็นทั้ง SICT และ IIG ที่เป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกลุ่มหุ้นที่ประเทศไทยกำลังต้องการ”

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท.กล่าวว่า การระดมทุนในบริษัทจดทะเบียนหรือ IPO ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จะมีเข้ามาประมาณ 30-40 บริษัท และมีขนาดเฉลี่ยต่อปีรวม 2-2.5 แสนล้านบาท แต่สำหรับปีนี้อาจจะมีการดีเลย์ในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ซึ่งคาดว่าไอพีโอจากนี้ไปเริ่มตั้งแต่ไตรมาสนี้ก็คงจะมีออกมาอย่างต่อเนื่องตามโฟลว์ที่เข้ามาขอจดทะเบียนที่สำนักงาน ก.ล.ต. และคาดว่าจะเข้ามาโดยเฉลี่ยประมาณเท่าเดิม

เทรนด์การระดมทุนช่วงนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรมและแต่ละบริษัทมีการขยายตัวต้องการเงินทุนมากน้อยแค่ไหน อาจจะเห็นบางอุตสาหกรรมที่เป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการเข้ามาระดมทุน เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ New Normal World หรือจะเป็นธุรกิจแบบ traditional อาทิ บรรจุภัณฑ์ ขนส่ง โลจิสติกส์ เป็นต้น

ปัจจุบันตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) มีมูลค่าไอพีโอเข้ามา 333,302 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าการระดมทุนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในแต่ละปีไปแล้วจากหุ้นขนาดใหญ่ CRC เพียงแต่จำนวนดีลอาจจะยังไม่มากเท่าในแต่ละปีก่อนหน้านี้ที่มีการเข้ามาระดมทุน อย่างไรก็ดีช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นดีลไอพีโอที่มีหลากหลายขนาด หลายอุตสาหกรรมเข้ามามากขึ้น

ส่วนประเด็นการปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2 ทั้งคณะรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ทำให้ความไม่ชัดเจนมีความชัดเจนขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นบุคคลที่เข้ามารับตำแหน่งเห็นได้ชัดเจนว่ามีประสบการณ์ตรงกับตำแหน่งที่ได้เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งจะช่วยเรื่องความมั่นใจในการบริหารประเทศต่อไปได้ ประกอบการมีการแต่งตั้งผู้ว่า ธปท.คนใหม่ จะทำให้เห็นทีมที่เข้ามาเป็นทีมที่เรามั่นใจและไว้ใจ

“ตอนนี้ภาคเศรษฐกิจกำลังมีการปรับตัว ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากผลประกอบการ บจ.ไตรมาส 2 ได้รับรู้ตั้งแต่ไตรมาส 1 แล้วและค่อยๆ ซึมซับมาแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่ต้องติดตามคือการฟื้นตัวจะเป็นอย่างไรของแต่ละภาคอุตสาหกรรมแต่ละประเทศ จะช้าหรือเร็วเป็นปัจจัยที่สำคัญกว่าภาพในไตรมาส 2”