สรรพากร เก็บภาษีหลุดเป้า เล็งถก สศค. ลดเป้าจัดเก็บรายได้ปี’63

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรจะเข้าไปหารือร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการการคลัง (สศค.) เรื่องการปรับลดเป้าการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2563 เดิม 2.116 ล้านล้านบาท เนื่องจากช่วงที่ตั้งเป้าหมายอยู่ภายใต้สมมติฐานการขยายตัวเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 5% และสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่แพร่ระบาด ยอมรับว่า ตัวเลขการจัดเก็บรายได้ในปีนี้ต่ำกว่าเป้าหมาย เพราะกรมได้เลื่อนการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลออกไปถึงวันที่ 31 ส.ค.63 เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน ส่วนเป้าจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 2.085 ล้านล้านบาท

“สิ่งที่กรมต้องทำในช่วงที่โควิดระบาด เราให้ความสำคัญในการช่วยเหลือประชาชน และดำเนินการคืนภาษีให้กับประชาชนให้เร็วที่สุด โดยขณะนี้เรานำระบบดิจิทัลมาใช้ในการคืนภาษีทำให้สามารถคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วกว่า 95% ของการยื่นแบบฯ ราว 3.3 หมื่นล้านบาท หรือ 3 ล้านคน ส่วนการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล เร่งคืนเงินไปแล้วกว่า 3.5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ กรมก็ได้พยายามออกมาตรการที่ไม่กระทบฐานะการคลัง ผ่านมาตรการลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหลือ 1.5% จากเดิม 3%”

ขณะที่ปัจจุบันใกล้ครบกำหนดการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่จะสิ้นสุดภายในเดือนส.ค. แล้ว ล่าสุด มีผู้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว 10 ล้านคน จากฐานภาษีทั้งหมด 11.5 ล้านคน ส่วนนิติบุคคล ยื่นแบบแล้ว 2.5 แสนราย จากฐานผู้เสียภาษี จำนวน 5 แสนราย พร้อมกันนี้ ขอแนะนำให้ผู้อยู่ในฐานข้อมูลเสียภาษีเข้ามายื่นแบบชำระภาษี ภายในระยะเวลาที่กำหนด ก่อนที่จะเสียค่าปรับตามกฎหมาย 1.5% ของฐานภาษี ซึ่งสามารถเข้ามาปรึกษาการยื่นแบบภาษีที่กรมได้ เพราะมีบริการให้สามารถผ่อนชำระภาษีได้ 3 งวด โดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ กรมมีนโยบายที่ต้องการจัดเก็บภาษีตรงเป้านโยบายตรงกลุ่ม และบริการตรงใจ ที่มีการขับเคลื่อนภายใต้กลยุทธ์ D2RIVE ซึ่ง Digital Transformation ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดำเนินการตามนโยบายของกรมสรรพากรเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงกระบวนงานต่าง ๆ และการสร้างนวัตกรรมที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการและชำระภาษีที่มีความทันสมัยมากขึ้น

โดยการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการและชำระภาษีของกรมสรรพากรเกิดขึ้นภายใต้ 9 ระบบดิจิทัล (9 Digital Transformation) แบ่งออกเป็นด้านอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ ดังนี้

1. Tax from Home มาตรการที่กรมสรรพากรตั้งใจช่วยให้ภาคธุรกิจและประชาชนเข้าถึงการทำธุรกรรมภาษีในทุกมิติได้ง่ายที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือที่ใด ๆ ก็ตาม ประกอบด้วย

1.1 e-Registration การลงทะเบียนขอยื่นแบบทางอินเทอร์เน็ต และนำส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องผ่านทาง e–mail ได้ทันที โดยไม่ต้องเดินทางไปยื่นด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาอีกต่อไป

1.2 e-Filing การยื่นแบบแสดงรายการภาษีทางอินเทอร์เน็ต ได้สิทธิขยายเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีออกไปอีก ช่วยให้ภาคเอกชนมีเวลาในการบริหารกระแสเงินสดได้อย่างคุ้มค่าที่สุด

1.3 e-Payment การชำระภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ (ธนาคารเกือบทั้งหมดยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้บริการสำหรับการยื่นแบบและชำระภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์จากนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2563)

1.4 e-Refund การคืนเงินภาษี สำหรับผู้เสียภาษีที่ชำระภาษีไว้เกิน กรมสรรพากรจะดำเนินการคืนภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์ที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

2. My Tax Account บัญชีรายการค่าลดหย่อนและสิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาที่กรมสรรพากรพัฒนาขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษี เข้ามาตรวจสอบสิทธิค่าลดหย่อนภาษีต่าง ๆ เช่น ข้อมูลเบี้ยประกันสุขภาพ ข้อมูลการบริจาคผ่านระบบ e–Donation ข้อมูลเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ข้อมูลเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ซึ่งจะช่วยลดภาระในการเก็บเอกสาร ช่วยให้การ ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการคืนภาษีสะดวกรวดเร็วขึ้น

3. e-Donation ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับข้อมูลการรับบริจาคของหน่วยรับบริจาค ทั้งยังอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริจาค สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีได้โดยไม่ต้องเก็บหลักฐาน โดยเข้าตรวจสอบข้อมูลการบริจาคด้วยตนเองได้ที่ ระบบ My Tax Account ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร

4. Open API การเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเข้ามามีส่วนร่วม โดยเชื่อมโยงระบบกับกรมสรรพากร ซึ่งจะช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการยื่นแบบและชำระภาษีผ่านระบบออนไลน์ของประชาชนผู้เสียภาษีมากขึ้น ช่วยให้การยื่นแบบและเสียภาษีเป็นเรื่องง่ายแม้ไม่รู้เรื่องภาษีเลย โดยขณะนี้เปิดให้บริการแล้วผ่านแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า iTAX และ noon

5. RD Smart Tax Application นวัตกรรมใหม่ในการจัดการด้านภาษีช่วยให้ภาษีเป็นเรื่องง่ายช่วยให้ชีวิตดีขึ้น มิติใหม่ของการให้บริการธุรกรรมของภาครัฐผ่าน Application ทั้งข่าวสารสรรพากร สาระความรู้ภาษี ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ออนไลน์ และแผนที่หน่วยงานสรรพากรทั่วประเทศ สามารถ Download ใช้งานได้ทั้ง App Store และ Google play

6. VRT on Blockchain ระบบการคืนเงินภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติผ่านโมบายล์
แอปพลิเคชันที่ใช้ระบบเทคโนโลยีบล็อกเชนในการเชื่อมต่อข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นที่แรกของโลก เพื่อให้บริการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยวไวขึ้น ง่ายขึ้น และไม่ต้องรอคิวอีกต่อไป

7. e-Tax Invoice & e-Receipt ใบกำกับภาษี รวมถึงใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบรับ ที่จัดทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ช่วยลดต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายและเวลาให้กับผู้ประกอบการในการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีในรูปแบบใหม่

8. e-Withholding Tax ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อมีการจ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับเงินทั้งในและต่างประเทศ โดยนำส่งข้อมูลและภาษีพร้อมการชำระเงินผ่านธนาคารที่เป็นผู้ให้บริการระบบ e-Withholding Tax แทนการยื่นด้วยแบบกระดาษ ช่วยลดขั้นตอน ลดต้นทุน ลดภาษี ทั้งยังสามารถตรวจสอบหลักฐานได้ตลอดเวลาที่เว็บไซต์กรมสรรพากร

9. e-Stamp Duty การชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สำหรับ ตราสารอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยเพิ่มความสะดวกและเป็นการสนับสนุนนโยบาย National e-Payment ของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการเสียภาษี เป็นการส่งเสริมธุรกิจในรูปแบบ e-Business ให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น