“ภาณุพล” ผู้ว่าการยาสูบฯ พลิกเกมธุรกิจ หนุนปลูกกัญชง-กัญชา สร้างรายได้เพิ่ม

“ภาณุพล” ผู้ว่ายสท. โชว์กำไรปีนี้พุ่ง 500 ล้านบาท หลังลดรายจ่ายไม่จำเป็น 140 ล้าน ภายใน 2 เดือน ตั้งเป้าปี 64 กำไรทะลุ 600 ล้านบาท หนุนปลูกกัญชง-กัญชา เป็นทดแทนยาสูบ หวังเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ในอนาคต

นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผยว่า แม้ปีนี้จะเจอการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยสท.สามารถทำกำไรได้ทั้งสิ้น 500 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 513 ล้านบาท เนื่องจากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ส.ค.-ก.ย.) กยท.สามารถลดค่าใช้จ่ายในองค์กรที่ไม่จำเป็น เช่น ค่าทำงานล่วงเวลา(โอที)​ ค่าทำการตลาด ฯลฯ ประมาณ 140 ล้านบาท

“จริงๆ ปีนี้ ยสท. จะได้กำไรสุทธิประมาณ 900 ล้านบาท แต่เมื่อหักลบการสำรองเงินสำหรับผู้ที่เกษียณอายุ และการนำรายได้ จำนวน 260 ล้านบาท ถวายให้สวนป่าเบญจกิติ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรม ราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำให้ยสท.คงเหลือกำไรในปีนี้ 500 ล้านบาท”

ส่วนในปี 2564 ยสท.คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านบาท โดยตั้งเป้าลดรายจ่ายด้านต้นทุนการผลิตบุหรี่ และใบยาลง 800 ล้านบาท จากเดิมค่าผลิตประมาณอยู่ราว 5,400 ล้านบาท จะเหลือ 4,600 ล้านบาท เพื่อนำเงินส่วนนี้มาเป็นรายได้ของยสท.เพื่อพัฒนาส่วนอื่นๆ ต่อไป

“ในฐานะผู้บริหารคนใหม่ที่ข้ามสังกัดจากกระทรวงมหาดไทย มาอยู่ในสังกัดของกระทรวงการคลัง สิ่งแรกที่ ยสท. ต้องดำเนินการ คือ การทำให้สาธารณชนรู้จักความเป็นตัวตนของ ยสท. ให้มากยิ่งขึ้น จึงเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งทีมแบรนด์ แอมบาสเดอร์ หรือบุคคลที่จะทำหน้าที่สื่อสารออกไปว่า ยสท. ทำอะไรบ้าง เพื่อส่งเสริมพันธมิตรในทุกระดับ สร้างความสัมพันธ์กับชาวไร่ผู้เพาะปลูกใบยาสูบในสังกัดกว่า 50,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ รวมทั้งยังพบปะเยี่ยมเยียนคู่ค้า โมเดิร์นเทรด(Modern trade)​ ร้านค้าส่งยาสูบทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมช่องทางการจำหน่าย”

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ ยสท. ควรให้ความสำคัญที่สุด คือ ต้องตระหนักว่าธุรกิจยาสูบไม่ใช่รัฐวิสาหกิจที่มีรายได้มากมายมหาศาลเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา ยสท. ยุคใหม่ต้องพร้อมรับฟังความคิดเห็นทั้งจากพนักงานและประชาชนทั่วไป เมื่อไม่สามารถจำหน่ายบุหรี่ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีโครงสร้างภาษีที่ทำให้ ยสท. สูญเสียโอกาสในการทำกำไร ยสท.จึงต้องหารายได้จากทุกช่องทาง การส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ทดแทนยาสูบ เช่น กัญชา-กัญชง เป็นต้น และใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างพอเพียงเพื่อประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ยสท. ยังมีแผนการพัฒนาที่ดินทั้งในส่วนกลางและสำนักงานยาสูบส่วนภูมิภาค เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับองค์กรในอนาคต รวมถึงการปราบปรามบุหรี่เถื่อนบุหรี่ผิดกฎหมาย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สรรพสามิต เจ้าหน้าที่ศุลกากร และร้านค้าทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้บุหรี่ผิดกฎหมายมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของบุหรี่ยสท. ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 60% ของตลาด

” ยาสูบยุคใหม่ต้องกล้าเปลี่ยนแปลงเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน นโยบายที่ ยสท. ให้ความสำคัญมากที่สุด คือ เรื่องธรรมาภิบาล การบริหารงานด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนภารกิจเร่งด่วน คือ การเสนอปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างภาษีให้เหมาะสม เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ เกษตรกร และเดินหน้าส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อทดแทนยาสูบ เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนในอนาคต”