ขาลงธุรกิจขนเงินสด KTBGS หั่นค่าใช้จ่าย-แบกพนักงาน 7.8 พันคน

ธุรกิจรับจ้างขนเงิน-ทรัพย์สิน

ธุรกิจขนเงินสดเข้าสู่ยุคอัสดง คนแห่ใช้โมบายแบงกิ้ง-ธนาคารลดสาขา-เอทีเอ็ม ฉุดธุรกรรม “เบิก-ถอน” เงินสดลดลงต่อเนื่อง เผยเดือน ส.ค.วูบ 16% “KTBGS” บริษัทลูกธนาคารกรุงไทยดิ้นปรับตัวแบกพนักงาน 7,800 คน หั่นค่าใช้จ่าย-ลดชั่วโมงทำงาน พร้อมปูทางขยายธุรกิจบริหารอาคารสำนักงานสร้างรายได้ทดแทน สัดส่วนรายได้ธุรกิจขนเงินลดเหลือ 45-50%

ขาลงธุรกิจขนเงินสด

นางอรจรรยา จันทรวรสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รักษาความปลอดภัย กรุงไทยธุรกิจบริการ จำกัด (KTBGS) โดยธนาคารกรุงไทยถือหุ้น 100% เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งให้พฤติกรรมคนไทยลดการใช้เงินสด และหันไปใช้ดิจิทัลมากขึ้น และการทยอยปรับลดสาขาธนาคาร ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจที่เกี่ยวข้องเงินสดปรับลดลงด้วย โดยจากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าคาดว่าปริมาณธุรกรรมขนเงินสดทั้งระบบในปี 2563 จะปรับลดลงราว 4-5% และจะปรับลดลงต่อเนื่อง

โดยในส่วนของ KTBGS ถือว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก สะท้อนผ่านปริมาณธุรกรรมในเดือนสิงหาคม 2563 พบว่า ปริมาณธุรกรรมขนส่งเงินสดและทรัพย์สินปรับลดลงถึง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจะหดตัวน้อยลงจากในเดือนมีนาคม-เมษายนที่ลดลงถึง 22% แต่มองว่าในระยะยาว ธุรกิจขนเงินยังมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้ดิจิทัลมากขึ้น และในอนาคตจะมีโครงการตู้เอทีเอ็มสีขาว (White Label ATM) รวมถึงนโยบายการลดสาขาของธนาคาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณการขนส่งเงินสด-เติมเงินในเครื่องเอทีเอ็มในอนาคตอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ บริษัทยังมีข้อจำกัดในเรื่องข้อบังคับที่สามารถให้บริการได้เฉพาะสถาบันการเงินเท่านั้น ไม่สามารถขยายบริการไปสู่เอกชนได้ ซึ่งธุรกรรมส่วนใหญ่ประมาณ 90% จะบริการให้บริษัทแม่ คือ ธนาคารกรุงไทย และที่เหลือให้บริการแก่ธนาคารทีเอ็มบี-ธนชาต ธนาคารยูโอบี ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยส่วนใหญ่สัญญาจะอยู่เฉลี่ย 3 ปี และจะมีการประมูลงานใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีผู้เล่นในตลาดธุรกิจขนส่งเงินสดอยู่ประมาณ 6-7 ราย โดย KTBGS มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ประมาณ 26% หรือคิดเป็น 1,434 ล้านบาท

ดิ้นขยายฐานธุรกิจใหม่

นางอรจรรยากล่าวว่า จากปัจจัยข้างต้นบริษัทคาดว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้จากธุรกิจขนเงินสดจะปรับลดลงเหลือเพียง 45-50% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 56.74% ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากเดิมสัดส่วนรายได้สูงถึง 69% ซึ่งเป็นการลดลงราว 14-15%

สำหรับภาพรวมรายได้ในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 1,403 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีรายได้จะอยู่ที่ราว 2,479 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้จะแบ่งเป็น ธุรกิจขนเงิน 56.74% ธุรกิจงานบริหารอาคาร แม่บ้าน หน่วยรักษาความปลอดภัย พนักงานขับรถ 35.29% ธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ 3.40% ธุรกิจงานพิมพ์ 2.83% และธุรกิจติดตามทวงถามหนี้ 1.74%

“ยอมรับว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามา และมาเจอโควิด-19 ทำให้ธุรกิจขนเงินที่เคยเป็นธุรกิจหลักของบริษัท ต่อไปจะเป็นธุรกิจขาลง เพราะคนใช้เงินสดน้อยลง ซึ่งจะเห็นสัดส่วนปริมาณธุรกรรมและรายได้ลดลงต่อเนื่อง เราอาจจะโชคดีกว่าผู้เล่นอื่นในตลาดเพราะมีหลายธุรกิจ แต่เราก็มีข้อจำกัดในเรื่องขอบเขตการให้บริการเช่นกัน”

หั่นค่าใช้จ่าย-ลดเวลาทำงาน

นางอรจรรยากล่าวต่อไปว่า บริษัทได้ปรับกลยุทธ์รับมือการปรับเปลี่ยนรายได้ของธุรกิจหลักที่จะลดลง โดยเน้นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายดำเนินงาน แม้ว่าต้นทุนหลักราว 75% จะเป็นเรื่องบุคลากร ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทไม่มีนโยบายรับคนเพิ่ม แต่ก็ไม่มีนโยบายลดคน โดยจะใช้วิธีการลดเวลาทำงาน หรือให้ทำงานเหลื่อมเวลา เพื่อลดค่าล่วงเวลา (OT) ซึ่งทำให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 20% จากปัจจุบันมีพนักงานทั้งสิ้น 7,800 คน ซึ่งจะอยู่ในธุรกิจขนเงินประมาณ 2,400 คน

พร้อมกันนี้ บริษัทหันมาขยายงานในธุรกิจอื่นเพื่อชดเชยรายได้จากธุรกิจขนเงิน โดยเฉพาะธุรกิจบริหารอาคาร ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สะท้อนผ่านสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 26% มาอยู่ที่ 36% และคาดว่าใน 3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50% ใกล้เคียงกับธุรกิจบริการขนเงินสด

ลงทุนไอทีคุมต้นทุน

นอกจากนี้ บริษัทได้ใช้งบประมาณราว 20 ล้านบาท ในการทำ digital transformation โดยนำระบบไอทีเข้ามาช่วยในการทำงานโดยเฉพาะด้านบริหารจัดการ เช่น ระบบ MDM (mobile device management system) นำมาใช้ในงานขนเงินและทรัพย์สิน โดยสามารถสั่งงาน-แก้ไข-ระบบความปลอดภัยจะทำผ่านแอปพลิเคชั่นทั้งหมด และระบบบริหารงานบุคคล HRMS เช่น การใช้ระบบมือถือ check in-check out การเข้าทำงานของพนักงาน-ดูการลาพักร้อน และการอนุมัติทำงานล่วงเวลา เนื่องจากมีพนักงานราว 150-220 คนที่อยู่ประจำศูนย์บริหารเงินสด และพนักงานแม่บ้านตามสาขาธนาคาร เพื่อช่วยบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น โดยปัจจุบันการสั่งงานประมาณ 75-80% สามารถอนุมัติบนแอปพลิเคชั่นมือถือ และในปี 2564 ตั้งเป้าจะเป็นองค์กรไร้กระดาษ


“เมื่อไม่สามารถหารายได้เพิ่ม เราก็พยายามหันมาลดต้นทุนค่าใช้จ่ายจริงจังมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสามารถบริหารลดค่าใช้จ่ายได้ 20% ถือเป็นระดับที่น่าพอใจ เพราะค่าใช้จ่ายลดได้มากกว่ารายได้ที่ลดลง และพยายามทำให้งานหลังบ้านเป็นดิจิทัลมากที่สุด”