“รพ.ราชธานี” รับอานิสงส์บวก “โควิด-ประกันสังคม” ดันกำไร Q3 พุ่ง

ภาพจาก เฟซบุ๊ก โรงพยาบาลราชธานี

นายแพทย์สุรินทร์ ประสิทธิ์หิรัญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ “RJH” ได้นำส่งงบการเงินสำหรับไตรมาส 3 สิ้นสุด วันที่ 30 ก.ย.2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยกลุ่มบริษัทมีรายได้จากกิจการโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ทำสถิติรายไตรมาสสูงสุด เป็นจำนวน 513.6 ล้านบาท

ขณะที่รายได้จากคนไข้ทั่วไป (ยังไม่รวมรายได้จากการตรวจโควิด-19) ลดลง 7% สำหรับคนไข้นอก และ ลดลง 20% สำหรับคนไข้ใน เนื่องจากความกังวลเรื่องไข้หวัด โควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนสวมหน้ากาก เว้นระยะห่างทางสังคม และฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มากขึ้น ทำให้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

จำนวนคนไข้จึงลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยลดลง 10% สำหรับคนไข้นอก และ ลดลง 27% สำหรับคนไข้ใน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในไตรมาส 3 ได้ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 โดยรายได้จากคนไข้ทั่วไปเพิ่มขึ้นรวม 29% สำหรับอัตราการครองเตียงลดลงเหลือ 63% ในไตรมาส 3 ปี 2563 จาก 80% ของไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่มีอัตราครองเตียง 50%

แม้ว่ารายได้จากคนไข้ทั่วไปลดลง แต่มีรายได้จากการตรวจโควิด-19 มาชดเชย จึงทำให้รายได้กลับมาเป็นเพิ่มขึ้น โดยรวมแล้วรายได้จากคนไข้ทั่วไปเพิ่มขึ้น 10% สำหรับรายได้ประกันสังคมเพิ่มขึ้น 13% แม้ว่าจะมีการยกเลิกการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เรื่องร้องเรียนและสถานภาพการจำหน่าย การลดลงของรายการตรวจสุขภาพของคนไข้ประกันสังคม และการบันทึกอัตราต่อแต้มของค่าบริการทางการแพทย์ ประเภทผู้ป่วยในด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงจากเดิม 12,800 บาท ในปีก่อนเป็น 10,679 บาทต่อแต้มในปีนี้

แต่รายได้ประกันสังคมกลับเพิ่มขึ้นจากรายการพิเศษ คือ รายได้ภาระเสี่ยงและโรคเรื้อรังที่ได้รับจริงในปีนี้ สูงกว่าที่ได้บันทึกบัญชีในปี 2562 จำนวน 19 ล้านบาท

จำนวนผู้ประกันตนเฉลี่ยลดลงจากประมาณ 194,500 คน จากไตรมาส 2 ปี 2563 เป็น 193,800 คน ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563

ต้นทุนในการประกอบกิจการโรงพยาบาล

ขณะที่ต้นทุนในการประกอบกิจการโรงพยาบาล ในไตรมาส 3 ปี 2563 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นในอัตรา ต่ำกว่าอัตราการเพิ่มขึ้น 12% ของรายได้ ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 32% เป็น 36% ของรายได้

การเพิ่มขึ้นอย่างมากของอัตรากำไรขั้นต้นนี้ มีสาเหตุจากรายได้ค่าภาระเสี่ยงและโรคเรื้อรังปี 2562 ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว หากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว อัตรากำไรขั้นต้นจะประมาณ 33% ซึ่งยังปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน
ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากรายได้จากการตรวจโควิด ซึ่งอัตรากำไรที่ดีกว่าการตรวจรักษาคนไข้นอกทั่วไป นอกจากนี้ จำนวนคนไข้ประกันสังคมที่ลดลง ก็มีผลต่อการลดลงของต้นทุนเช่นกัน

ค่าใช้จ่ายในการบริหาร

ด้านค่าใช้จ่ายในการบริหาร ลดลง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สาเหตุ เนื่องจากการลดลงของค่าใช้จ่ายพนักงาน

กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา

ทั้งนี้ บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA ไม่รวมรายได้อื่น) เพิ่มขึ้นถึง 34% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ อัตรา EBITDA ต่อรายได้ 34% เปรียบเทียบกับอัตรา 28% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตราที่ปรับตัวดีขึ้นนี้ มีสาเหตุส่วนหนึ่งจากรายได้ภาระเสี่ยงและโรคเรื้อรังดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าหากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าวแล้ว อัตรา EBITDA จะประมาณ 31% ซึ่งก็ยังอยู่ในระดับที่ดี

ต้นทุนทางการเงิน

ต้นทุนทางการเงินของกลุ่มบริษัท เกือบเป็นศูนย์ในไตรมาส 3 ปี 2563 เนื่องจากมีการกู้ยืมเพียงระยะสั้นเท่านั้น

กำไรสุทธิ

ทั้งนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ทำสถิติรายไตรมาสสูงสุดถึง 120 ล้นบาท (ไม่รวมกำไรจากการขายที่ดินในปีก่อน) โดยเพิ่มขึ้นถึง 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจาก ผลของรายการพิเศษจากรายได้ประกันสังคมดังกล่าวมาแล้ว กำไรที่ปรับตัวดีขึ้นยังมีสาเหตุมาจาก รายได้ตรวจโควิดที่มีอัตรากำไรที่ดี และผลจากการควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ