กนง. ห่วงบาทแข็งเร็ว จับตางัดมาตรการพิเศษ ศุกร์นี้

เงิน-งบประมาณ

ธปท. เผยคณะกรรมการ กนง. ห่วง 3 ปัจจัยกระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ รับห่วงบาทแข็งเร็ว หลังมีข่าววัคซีน-เลือกตั้งสหรัฐฯ ดันเงินทุนไหลเข้า จ่อออกมาตรการดูแลเพิ่ม พร้อมเกาะติดตลาดแรงงาน-การกระจายสินเชื่อสู่รายเล็ก

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ประเด็นสำคัญจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งที่ 7/2563 จะมีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง คือ 1.ความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่งกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง

จึงพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้เครื่องมือดูแลเพิ่มเติม โดยจะต้องให้ความสำคัญและตอบโจทย์ทั้งในระยะสั้น และจะต้องมีแนวทางการดูแลระยะยาว แม้ว่าที่ผ่านมาธปท.ดูแลค่าเงินในระยะอยู่แล้ว แต่กระแสโลกเปลี่ยนแปลงค่อนข้างแรง จึงต้องติดตามอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด

“หลังข่าววัคซีนและเลือกตั้งสหรัฐฯ ตลาดเปลี่ยนเป็น Risk On หันเข้ามาลงทุนในตลาดเอเชียทุกประเทศ ทำให้เดือนก่อนเงินไหลเข้าตลาดหุ้น-ตลาดบอนด์มากขึ้น เพราะข่าววัคซีนกระทบตลาดการเงิน โดยเฉพาะค่าเงินทันที

โดยตัวเลขการเปลี่ยนแปลงค่าเงินในการประชุมครั้งก่อนจะเห็นเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ 4.3% แต่หากดูเงินบาทจากปลายปี 62 เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อยอยู่ที่ 0.6% ดังนั้น เราต้องติดตามต่อของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจะมีทิศทางอย่างไร ซึ่งวันศุกร์นี้น่าจะมีความคืบหน้า”

และ 2.ตลาดแรงงาน แม้ว่าตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นกว่าคาดในไตรมาสที่ 3 โดยในเดือนตุลาคมอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 2.1% หรือ 8 แสนคน เนื่องจากผู้อยู่นอกกำลังแรงงานกลับเข้ามาหางานทำ ขณะที่สัดส่วนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานต่อผู้ประกันตนอยู่ที่ 4%

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดแรงปรับดีขึ้น แต่รายได้ครัวเรือนยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระในภาคบริการ ทั้งนี้ ตลาดแรงงานมีความสำคัญ เนื่องจากเชื่อมโยงไปยังรายได้ครัวเรือน ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดพลวัตรการบริโภคในระยะต่อไป รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน

ส่วน 3.อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโดยรวมต่ำเป็นประวัติการณ์ แต่สภาพคล่องยังกระจายตัวไม่ทั่วถึงเนื่องจาก Credit Risk ที่สูงขึ้น โดยจะเห็นว่าการขยายตัวของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มวงเงินมากกว่า 500 ล้านบาท มีอัตราการเร่งตัวต่อเนื่องอยู่ที่ 10.8% ในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจที่มีวงเงินต่ำกว่า 500 ล้านบาท ยังขยายตัวติดลบ 3.1% กรณีไม่มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) จะติดลบ 6% สะท้อนสภาพคล่องอยู่ในระบบค่อนข้างสูง แต่ไม่กระจายตัว จึงเป็นเรืองที่ต้องติดตามใกล้ชิด

“หากดูรายงานภาวะเศรษฐกิจจะเห็นการฟื้นตัวจากการประชุมครั้งก่อน แต่ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจยังมีคงามเสี่ยงและเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูงจากภายในและภายนอก หากมีผลกระทบช็อกแรงๆ เรายังสามารถมีขีดความที่เก็บไว้รองรับ โดยคณะกรรมการฯ ได้มีการติดตามใน 3 ประเด็นหลัก และดูพัฒนาการของตลาดแรงงาน ทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยน และจะมีการรีวิวเศรษฐกิจอีกครั้งในการประชุมรอบท้ายสุดของปีนี้”