สศค. ลุ้น 3 ปัจจัยหลักฟื้นจีดีพี หวังงาน “มอเตอร์เอ็กซ์โป” กระตุ้นกำลังซื้อ

สำนักงานสศค.แถลงข่าว

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ลุ้น “ส่งออก-บริโภค-ท่องเที่ยวในประเทศ” ฟื้นจีดีพีติดลบ รับคนไทยกล้าใช้จ่ายมากขึ้นสะท้อนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นกลับมาอยู่ที่ระดับ 50.9 ชี้โครงการ “คนละครึ่ง-ช้อปดีมีคืน” กำลังเห็นผล ลุ้นตัวเลขไทยเที่ยวไทย หวังงานมอเตอร์เอ็กซ์โปกระตุ้นกำลังซื้อ

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังในเดือน ต.ค.63 มีสัญญาทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงปลายปี

ฉะนั้นคาดว่าทิศทางภาวะเศรษฐกิจการคลังในเดือน พ.ย.63 น่าจะดูดีขึ้น สะท้อนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 52.9 อย่างไรก็ตามคาดว่าไตรมาส 4 ปีนี้ ผลของมาตรการภาครัฐเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจกำลังเห็นผลทั้งโครงการ “คนละครึ่ง-ช้อปดีมีคืน” ซึ่งเริ่มส่งผลในเชิงเซนติเมนต์บ้างแล้ว

ขณะที่ในเดือนนี้ตัวเลขไทยเที่ยวไทยยังไม่ออก แต่เท่าประเมินสถานการณ์เริ่มเห็นคนไทยออกไปท่องเที่ยวภายในประเทศกันมากขึ้น จึงน่าจะเป็นการขับเคลื่อนที่ดูดีขึ้น

“โค้งสุดท้ายยังเชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปีน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยหวังพึ่งการบริโภคและท่องเที่ยวภายในประเทศ และทิศทางการส่งออกที่ปรับตัวได้ดีขึ้น” นายวุฒิพงศ์กล่าว

โดยเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนในเดือน ต.ค.63 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) จากราคาคงที่ลดลง 9.4% ต่อปี (ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันลดลง 7.1% ต่อปี) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการมูลค่านำเข้าสินค้าที่ชะลอตัว 14.3% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง 9.1% ต่อปี และปัจจัยฐานสูงจากช่วงเดียวกันปีก่อน กรณีมีการควบรวมกิจการพิเศษ

ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ลดลง 25.9% และ 11% ต่อปี(ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันลดลง 37.1% และลดลง 12% ต่อปี) โดยประเมินว่าค่ายรถยนต์ต่างๆ ยังรอจัดแคมเปญส่งเสริมการขายในช่วงงานมอเตอร์เอ็กซ์โปปลายปี ซึ่งจะปรากฏตัวเลขในเดือน ธ.ค.63

แต่อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ค่อนข้างปรับตัวเพิ่มขึ้นกลับมาอยู่ที่ระดับ 50.9 จากระดับ 50.2 ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนความมั่นใจกล้าใช้จ่ายมากขึ้น ขณะเดียวกันยังได้ปัจจัยบวกทั้งราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหนุนรายได้เกษตรกรในเดือน ต.ค.63 ขยายตัวกว่า 12.6% ต่อปี

รวมไปถึงรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิดและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โดยเฉพาะโครงการเราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัว 10.4% ต่อปี ขยายตัว 2.8% จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันยังลดลง 20.9% ต่อปี ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนลดลง 17.% ต่อปี (ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันลดลง 12.7% ต่อปี)

ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ลดลง 9.1% ต่อปี (ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันลดลง 0.6% ต่อปี) แต่อย่างไรก็ตามการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังขยายตัว 0.7% ต่อปีจากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 3.2% ต่อปี โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันลดลงอยู่ที่ 12.5% ต่อปี

ด้านเศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากมูลค่าส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ชะลอตัว 6.7% ต่อปี จากการลดลงของการส่งออกสินค้าในหมวดสำคัญ อาทิ สินค้าเกี่ยวกับน้ำมัน รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

อย่างไรก็ตามสินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1.สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์มและอาหารสัตว์ที่ขยายตัว 183% และ 17.4% ต่อปี สอดคล้องกับการส่งออกเครื่องปรุงรส ผัก และผลไม้สด แช่แข็งกระป๋องและแปรรูปที่ขยายตัวต่อเนื่อง

2.สินค้าเกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน (Work Form Home) อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านขยายตัวที่ 10% ต่อปี เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น และ 3.สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น ถุงมือยาง ที่ขยายตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการระบาด

ทั้งนี้การส่งออกไปอาเซียน 9 ประเทศชะลอตัวที่ 23.1% ต่อปี เนื่องจากได้รับผลกระทบโควิดระลอก 2 บริเวณตามการค้าชายแดนเป็นหลัก อย่างไรก็ดีการส่งออกไปสหรัฐและทวีปออสเตรเลียยังขยายตัวที่ 17% และ 4.2% ต่อปี

ด้านอุปทานการการผลิตปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 86 โดยมีปัจจัยหนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งสินค้าอุปโภคและสินค้าคงทน ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภายในประเทศส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าและรายได้ผู้ประกอบการ ส่วนภาคเกษตร สะท้อนดัชนีผลผลิตลดลงเล็กน้อยที่ 0.2% ต่อปี จากผลผลิตยางพารา ลองกอง สับปะรด และกุ้งขาวแวนนาไม เป็นต้น

สำหรับบริการด้านการท่องเที่ยว พบว่าในเดือน ต.ค.63 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษ(STV) กลุ่มแรกจำนวน 1,201 คน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีน กัมพูชา และประเทศอื่นๆ ในอาเซียน นอกจากนั้นบางส่วนมาจากตะวันออกกลางและยุโรป

ทั้งนี้ในภาพรวมเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ติดลบ 0.5% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.2% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะสิ้นเดือน ก.ย.63 อยู่ที่ 49.4% ต่อจีดีพี ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศสิ้นเดือน ต.ค.63 อยู่ในระดับสูงที่ 248.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ