ธปท.เผยลงทุนเอกชน ต.ค.ซบเซาหนัก -4.9% เหตุ “นำเข้า-ก่อสร้าง” ชะลอตัว

ชญาวดี ชัยอนันต์

ธปท. เผยภาวะเศรษฐกิจเดือนตุลาคมหดตัวสูงกว่าเดือนก่อนหน้า เหตุมาจากปัจจัยชั่วคราวที่หมดลง-ฐานที่สูงจากปีก่อน ลั่น การลงทุนภาคเอกชนซบเซาที่สุดหดตัว -4.9% จากเดือนก่อน -2.0% ตามการนำเข้าและก่อสร้างที่ลดลง ย้ำการลงทุนภาครัฐยังเป็นพระเอกพยุงเศรษฐกิจไทย

วันที่ 30 พ.ย. 2563 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนคุลาคม 2563 หดตัวในอัตราสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัวในเดือนก่อนจากปัจจัยชั่วคราวที่หมดลง และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่สูงในปีก่อน

“เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจในเดือนตุลาคมภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าเครื่องชี้วัดหลายตัวในเดือนนี้จะหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เป็นปัจจัยชั่วคราวและฐานที่สูง อย่างไรก็ดี สิ่งที่เรายังต้องติดตามดู คือ ตลาดแรงงานในกลุ่มอาชีพอิสระ การระบาดรอบ 2 ของโควิดที่จะมีผลต่อนโยบายการดูแลของประเทศต่างๆ ที่จะส่งผลต่อมายังภาคการส่งออกของไทย และภัยแล้ง”

โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัว -1.1% จากที่ขยายตัวได้เล็กน้อยในเดือนกันยายนที่ระดับ 0.4% หลังจากปัจจัยชั่วคราววันหยุดยาวพิเศษหมดลงตามการใช้จ่ายที่ปรับลดลงในเกือบทุกหมวด โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนกลับมาหดตัว และหมวดบริการหดตัวสูงขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าคงทน เช่น กลุ่มยานยนต์มีการเติบโตดีขึ้นจากแคมเปญและโปรโมชั่น

อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว เป็นผลมาจากกำลังซื้อที่ทยอยปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขจำนวนผู้เสมือนว่างงานที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงมีอัตราที่ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากสามารถหางานทำได้ แม้ว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้น แต่เป็นผลมาจากแรงงานที่อยู่นอกระบบทยอยเข้ามาหางานทำในระบบมากขึ้น ซึ่งเป็นดัชนีที่ธปท.จับตาดูอย่างใกล้ชิด แม้ว่าจะลดลงแต่ยังมีความเปราะบาง และยังอยู่ในระดับสูง รายได้ของครัวเรือนภาคครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรปรับดีขึ้น

ขณะที่การส่งออกหดตัวอยู่ที่ -5.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากไม่รวมส่งออกทองคำจะหดตัวอยู่ที่ -5% โดยเป็นการหดตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนตามการส่งออกในบางหมวดสินค้า เช่น ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ และเกษตร เช่น น้ำตาลที่ผลผลิตน้อยจากภัยแล้ง และบางหมวดสินค้ายังมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรอุปกรณ์ เป็นผลมาจาก Work from home และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เย็นและเครื่องฟอกอากาศที่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ และออสเตรเลียได้ดีขึ้น เป็นต้น

สำหรับตัวเลขการลงทุนภาคเอกชน ครั้งนี้ถือเป็นตัวเลขที่ซบเซาที่สุด โดยหดตัวสูง -4.9% จากเดือนก่อนหน้าหดตัว -2% ตามการลงทุนทั้งด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านการก่อสร้าง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลเรื่องมาตรการพักชำระหนี้ และคำสั่งซื้อยังไม่เข้ามา ขณะเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวของปีก่อนจากมาตรการจำกัดการเดินทางที่ยังมีอยู่

ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัว -10.9% มาจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่ล่าช้า อย่างไรก็ดี รายจ่ายลงทุนยังขยายตัว 3.6% ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว 18.9% ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพยุงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง ส่วนหนึ่งจากการใช้มาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงเล็กน้อยตามการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เพิ่มขึ้น และดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงเดิม

“ตัวเลขไตรมาสที่ 2 จะเห็นว่าเป็นช่วงที่ปิดและกลับมาเปิดเมือง ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจเด้งขึ้นไปสูง แต่ไตรมาสที่ 4 จะเห็นว่ามาตรการเปิดเมืองผ่านมาแล้ว ทำให้แรงเหวี่ยงคงไม่เท่าไตรมาสที่ 2 แต่เชื่อว่าจากมาตรการภาครัฐที่จะออกมาอย่างต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 4 และยาวไปถึงในอนาคต เรายังมองภาพว่าไตรมาสที่ 4 ปีนี้การฟื้นตัวยังฟื้นตัวต่อไปได้แต่แรงส่งอาจจะไม่หวือหวา”