ทริส จัดเรตติ้งหุ้นกู้ ITD เป็น Negative เอฟเฟ็กต์ถูกเลิกสัญญาทวาย

หุ้นกู้-ธนบัตร

“ทริส” จัดเรตติ้งหุ้นกู้ “อิตาเลียนไทย” เป็น “Negative” เอฟเฟ็กต์จากถูกบอกเลิกสัญญาลงทุน “ทวาย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด ทริสเรทติ้ง ได้ประกาศ “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ภายหลังจากที่บริษัทได้แจ้งว่าคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้แจ้งยกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะแรก

ซึ่งเป็นประเด็นกังวลของทริสเรทติ้งว่าบริษัทอาจไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ได้ เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นจะลดลงหากมีการด้อยค่าของเงินลงทุนในโครงการนี้ในระดับสูง

ทั้งนี้ บริษัทได้รับสัญญาสัมปทานจากคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของเมียนมาเพื่อพัฒนาโครงการในระยะแรกตั้งแต่ปี 2558 โดยบริษัทได้สัมปทานเป็นระยะเวลา 50 ปีและขยายสัญญาได้อีก 25 ปี ซึ่งโครงการในระยะแรกประกอบด้วย ท่าเรือขนาดเล็ก การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ 27 ตารางกิโลเมตร และโครงสร้างสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงไฟฟ้าและสถานีก๊าซธรรมชาติเหลว

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 บริษัทได้รับจดหมายแจ้งยกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเนื่องจากโครงการของบริษัทผิดเงื่อนไขในการดำเนินการตามสัญญา บริษัทได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และเร่งดำเนินการแก้ไขข้อกล่าวหานั้น ทั้งนี้ โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา บริษัทจึงร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยในการแก้ข้อพิพาทดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ อันดับเครดิตได้พิจารณาถึงผลกระทบของความล่าช้าอย่างยาวนานของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายไว้แล้ว โดยโครงการนี้เป็นหนึ่งในการลงทุนของบริษัทที่ยังไม่ประสบความสำเร็จและเป็นอุปสรรคในการพยายามลดภาระหนี้ของบริษัท เนื่องจากโอกาสที่โครงการจะมีความก้าวหน้าได้ในระยะเวลาอันใกล้มีความเป็นไปได้น้อย

ทริสเรทติ้งจึงไม่รวมโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในมูลค่างานที่รอรับรู้รายได้และในประมาณการรายได้ ดังนั้น การยกเลิกสัญญาสัมปทานจึงไม่กระทบกับประมาณการเงินทุนจากการดำเนินงาน และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ทริสเรทติ้งได้ประมาณการไว้

ทว่า การยกเลิกสัญญาสัมปทานดังกล่าวอาจทำให้เกิดการด้อยค่าของเงินลงทุนในโครงการนี้ในระดับสูง ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทได้ลงทุนจำนวนมากในการปรับพื้นที่และก่อสร้างสาธารณูปโภค ซึ่งประกอบด้วย งานก่อสร้างถนน อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก อาคารที่อยู่อาศัย ท่าเรือขนาดเล็ก เป็นต้น

โดย ณ เดือนกันยายน 2563 บริษัทรายงานเงินลงทุนทั้งหมดในโครงการนี้จำนวน 7.8 พันล้านบาท หากบริษัทต้องรับรู้การด้อยค่าของเงินลงทุนสำหรับโครงการนี้ ก็จะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญและมีโอกาสที่บริษัทจะผิดเงื่อนไขข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ได้ ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขของหุ้นกู้กำหนดให้บริษัทจะต้องรักษาอัตราส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้ไม่เกิน 3 เท่า

โดยอัตราส่วนนี้อยู่ที่ 2.59 เท่า ณ เดือนกันยายน 2563 ในกรณีที่บริษัทผิดเงื่อนไขข้อกำหนดทางการเงิน ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการผ่อนผันเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อที่จะรักษาสภาพคล่องเอาไว้

ในขณะที่บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขข้อโต้แย้ง และยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับการด้อยค่าของเงินลงทุน ทริสเรทติ้งจึงกำหนดเครดิตพินิจแนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” เพื่อสะท้อนความเสี่ยงดังกล่าว โดยแนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” หมายถึง ผลลัพธ์จากข้อกล่าวหาดังกล่าวอาจจะมีผลลบต่ออันดับเครดิต และ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิต ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งจะทบทวนเครดิตพินิจอีกครั้งเมื่อมีข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับการด้อยค่าเงินลงทุนของบริษัท