ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐผันผวน ธนาคารกลางสหรัฐคงนโยบายการเงินดังเดิม

เงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐผันผวนในกรอบ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐคงนโยบายการเงินดังเดิม นักลงทุนยังจับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพทรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 25-29 มกราคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (25/1) ที่ระดับ 29.97/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (22/1) ที่ระดับ 29.99/30.00

ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐผันผวนในกรอบแคบ โดยในช่วงต้นสัปดาห์นักลงทุนก็ยังคงติดตามประเด็นการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่ นางเจเน็ต เยลเลน ว่าที่รัฐมนตรีคลังคนใหม่ของสหรัฐ ได้ยืนยันว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากระดับ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง สู่ระดับ 15 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่าผลเสีย

ซึ่งขัดแย้งกับงานวิจัยของคณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งวุฒิสภาสหรัฐที่ตีพิมพ์ออกมาระบุว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเช่นนี้ แม้จะช่วยเหลือแรงงานได้มากถึง 17 ล้านคน แต่จะเพิ่มโอกาสที่จะเกิดการสูญเสียงานระดับสูงในอนาคต จึงเป็นปัจจัยกดดันที่ว่าไบเดนอาจจะต้องปรับลดวงเงินในมาตรการดังกล่าว เพื่อให้ผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรสหรือไม่

ซึ่งปัจจุบันสมาชิกสภาคองเกรสหลายรายทั้งจากพรรครีพับลิกันและเดโมแครตต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งข้อสงสัยถึงความจำเป็นของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

แต่ปัจจัยสำคัญในสัปดาห์นี้คือคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับร้อยละ 0.00-0.25 ในการประชุมครั้งแรกของปี 2564

นอกจากนั้น เฟดระบุว่าจะยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ณ (QE) วงเงินรวม 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน โดยเฟดจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน

โดยแถลงการณ์หลังการประชุมของเฟดระุว่า เฟดจะยังคงใช้เครื่องมือทุกอย่างในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีการจ้างงานเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพของราคา และเฟดยังระบุว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วสหรัฐและทั่วโลก ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงานชะลอตัวลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และพัฒนาการของวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งจากผลการประชุมทำให้ตลาดดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดลบ 633.83 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งหนุนความต้องการดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญที่มีการประกาศนั้นส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงบวก ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้น ดีดตัวสู่ระดับ 58.0 ในเดือนมกราคม จากระดับ 55.3 ในเดือนธันวาคม เช่นเดียวกับ Conference Board เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐในเดือนมกราคมก็เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 89.3 จากระดับ 87.1 ในเดือนธันวาคม และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 89.0 ถึงแม้ว่าในช่วงปลายสัปดาห์กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1

สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2563 โดยระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 4.0% เมื่อเทียบรายไตรมาส และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.3% อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 2.5% ในไตรมาส 4/2563

นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 3.5% ในปี 2563 แต่ทั้งนี้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 33.4% ในไตรมาส 3/2563 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ที่สหรัฐเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในปี 2490 หรือกว่า 70 ปี หลังจากที่หดตัว 31.4% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงเป็นประวัติการณ์ และหดตัว 5% ในไตรมาส 1 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

สำหรับปัจจัยในประเทศนั้นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพิ่มความคาดการณ์เศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าปี 2563 เศรษฐกิจโลกหดตัว 3.5% ซึ่งดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนตุลาคม 2563 ที่ระบุว่าเศรษฐกิจโลกหดตัว 4.4% และปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจโลกเติบโต 5.5% สูงกว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัว 5.2% และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.2% ในปี 2565

อย่างไรก็ดีในช่วงสายของพุธ (27/1) มีรายงานดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยเดือนธันวาคม หดตัว 2.44% ซึ่งหดตัวมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่หดตัว 1.45% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 29.94-30.04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (29/1) ที่ระดับ 29.97/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (25/1) ที่ระดับ 1.2165/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/1) ที่ระดับ1.2170/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรถูกกดดันหลังจากได้มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นปรับตัวลดลงแตะระดับ 47.5 ในเดือนมกราคม จากระดับ 49.1 ในเดือนธันวาคม

ด้านธนาคารยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.5% ไปจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นสู่เป้าหมาย ซึ่งระบุให้อยู่ใกล้ แต่ไม่เกิน 2%

นอกจากนั้นยังมีมติคงวงเงินซื้อพันธบัตรที่ระดับ 1.85 ล้านล้านยูโร โดยจะซื้อพันธบัตรจนถึงเดือน มี.ค. 2565 หรือจนกว่าจะมีการพิจารณาว่าโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ก่อนที่ค่าเงินจะถูกกดดันอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ซึ่งจัดขึ้นทางออนไลน์ โดยกล่าวว่าข้อมูลในช่วงไตรมาส 4/2563 บ่งชี้ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยูโรโซนเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์และมาตรการเข้มงวดหลายครั้ง แม้มีความคืบหน้าในเชิงบวกเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนก็ตาม

อย่างไรก็ดี นางลาการ์ดมองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ พร้อมกับย้ำว่านโยบายด้านการคลังยังคงมีบทบาทสำคัญและใช้ได้ผล ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปจะยังคงสนับสนุนทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจของยูโรโซน ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นว่าสภาวะด้านการเงินยังคงเอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ

นอกจากนี้ในช่วงท้ายสัปดาห์มีประกาศของรัฐบาลประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักของกลุ่มสหภาพยุโรปออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเยอรมันลง จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่โตร้อยละ 4.4 เป็นโตร้อยละ 3.0 โดยคาดเศรษฐกิจโตช้าลงเนื่องจากดารระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลเยอรมันต้องประกาศใช้นโยบายล็อกดาวน์อีกครั้ง

ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.2072-1.2178 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (29/1) ที่ระดับ 1.2104/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของคาเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (25/1) ที่ระดับ 103.80/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/1) ที่ระดับ 103.77/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยญี่ปุ่นได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ -1.2% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่เดือนเมษายน 53 และลดลงต่อเนื่องในเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าว ส่งผลกระทบโดยตรงกับการทำงานของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และมีแนวโน้มที่ทาง BOJ จะเพิ่มนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจาก BOJ มีเป้าหมายสำคัญคือการผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 2%

ด้าน นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้กล่าวว่า กำลังพิจารณามาตรการที่เฉพาะเจาะจงในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส เพื่อทำให้การแข่งขันเป็นไปได้อย่างปลอดภัย ในขณะเดียวกันทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนธันวาคมในวันนี้ ซึ่งระบุว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นควรใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมหากจำเป็น โดยยังต้องจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลือนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 103.65-104.65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (29/1) ที่ระดับ 104.63/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ