ประกันผวา ลูกค้าทิ้งกรมธรรม์พุ่ง 6 แสนฉบับ

ประกันชีวิต1

ธุรกิจประกันชีวิต ผวา ! “โควิด-19” ฉุดกำลังซื้อ ลูกค้าแห่ “ยกเลิก-ไม่ต่ออายุ” กรมธรรม์อีกระลอก เผย 9 เดือนแรกปี’63 ยอดทิ้งกรมธรรม์รวม 6.7 แสนฉบับ ฉุดกำไรธุรกิจประกันชีวิตหายวูบหมื่นล้าน “กรุงเทพประกันชีวิต” ชี้จับตาไตรมาส 4/63 ตัวเลขยกเลิกเร่งตัวขึ้น หลังสิ้นสุดมาตรการผ่อนผันชำระเบี้ยของ คปภ. วงในชี้แนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องคาดปีนี้สูงกว่า 20% ของกรมธรรม์ใหม่ทั้งปี

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ช่วง 9 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย. 63) พบว่า กรมธรรม์ประกันชีวิตในระบบมีการยกเลิกและขาดอายุ (lapse) รวมทั้งสิ้น 676,017 ฉบับ แบ่งเป็นประกันชีวิตตลอดชีพ 331,715 ฉบับ, ประกันออมทรัพย์ 190,388 ฉบับ, ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล 76,979 ฉบับ, ประกันชีวิตชั่วระยะเวลา 56,902 ฉบับ, ประกันภัยกลุ่ม 11,913 ฉบับ, ประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) 4,341 ฉบับ, ประกันบำนาญ 2,364 ฉบับ, ประกันยูนิเวอร์แซลไลฟ์ 1,401 ฉบับ และแบบประกันชีวิตอื่น ๆ 14 ฉบับ

สอดคล้องกับอัตราผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตต่อประชากรลดลงมาอยู่ที่ 39.50% จาก 39.65% ของช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีส่วนที่ส่งผลกระทบต่อกำไรบริษัทประกันชีวิตในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ทั้งระบบลดลงไปกว่า 11,818 ล้านบาท เหลือกำไรสุทธิรวม 28,974 ล้านบาท สวนทางเงินให้กู้โดยมีกรมธรรม์เป็นประกัน (policy loan) ทั้งระบบเพิ่มขึ้น 20.78% มาอยู่ที่ 175,883 ล้านบาท

กรมธรรม์ขาดอายุพุ่ง

ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงไตรมาส 1-2 ของปี’63 คปภ.ได้ออกมาตรการให้บริษัทประกันให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบของโควิด-19 ให้กับผู้ได้รับผลกระทบ อาทิ การผ่อนผันการชำระเบี้ย, ยกเว้นดอกเบี้ยกรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตสิ้นผลบังคับ, ยกเว้นหรือปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้กรมธรรม์ เป็นต้น ซึ่งมาตรการช่วยเหลือที่ให้ทุกบริษัทดำเนินการได้สิ้นสุดไปเมื่อสิ้นเดือน ก.ย. 63 ซึ่ง คปภ.ได้ขยายเวลามาตรการช่วยเหลือเฟส 2 ไปถึงสิ้นปี’63 แต่เป็นลักษณะให้บริษัทพิจารณาเป็นรายกรณี

ดังนั้น ตั้งแต่ไตรมาส 4/63 เป็นต้นมาในระบบประกันชีวิตจะเริ่มเห็นสัญญาณการขาดอายุกรมธรรม์สูงขึ้น เนื่องจากหมดช่วงเวลาช่วยเหลือ (great period) พบว่ามีลูกค้าจำนวนมากไม่ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตต่อ ซึ่งหากพ้นระยะเวลาการชำระไปแล้ว 30 วันในระบบประกันชีวิต ก็จะให้ลูกค้าทำรายการกู้กรมธรรม์อัตโนมัติ (automatic premium loan : APL) โดยที่บริษัทประกันจะกู้ยืมเงินจากมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ลูกค้าเพื่อมาชำระเบี้ยแทนจึงจะเห็นว่าการกู้กรมธรรม์มีสัดส่วนสูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวก็ส่งผลเสียทั้งต่อลูกค้าและผลกระทบต่อบริษัทประกัน

เตือนลูกค้าเสียประโยชน์

นายไบรอัน สมิธ กรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อลิอันซ์อยุธยา แคปปิตอล (AYUD) กล่าวว่า ในปี 2564 ถือเป็นปีแห่งความท้าทายมาก เพราะยอดขายประกันคไม่โตจากภาวะเศรษฐกิจซึม และแย่ลงไปอีกจากผลกระทบโควิด-19 แม้สินค้าความคุ้มครองและสุขภาพ (protection & health) จะได้รับความสนใจแต่กำลังซื้อไม่มี ซึ่งจะส่งผลต่อสัญญาณการขาดอายุกรมธรรม์ในไตรมาส 1/64 จะสูงขึ้นไปอีก

“ตอนนี้เราต้องคิดแผนเพื่อบอกลูกค้าว่า การยกเลิกกรมธรรม์ไปแล้วจะกลับมาทำใหม่จะยากมาก เพราะถ้าเป็นประกันสุขภาพต้องตรวจสุขภาพใหม่ ขณะที่ประกันออมทรัพย์ผลตอบแทนอาจจะไม่ได้เหมือนเดิม เพราะอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกต่ำมาก” นายไบรอันกล่าว

ยกเลิกพุ่งเกิน 20%

นายพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์สถิติอัตราคนยกเลิกและขาดอายุกรมธรรม์คิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของกรมธรรม์ทั้งหมดในปีนั้น ถ้าเทียบกับวิกฤตโควิด-19 ประเมินดูแล้วน่าจะหนักกว่าเพราะกระทบเศรษฐกิจไทยและกำลังซื้อของคนไทยโดยตรง แต่จะเป็นการส่งผลออกมาเป็นระยะ ๆ ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะลากยาวไปจนถึงไตรมาส 3/64 แต่จะฉุดรั้งกำไรธุรกิจประกันชีวิตซึมตัวลึกตั้งแต่ไตรมาส 1/64

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ประกันออมทรัพย์ที่จ่ายดอกเบี้ยต่ำ ๆ มองว่ามีความเสี่ยงจะถูกยกเลิกสูง โดยเฉพาะหากในช่วงปี 2565 ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) เริ่มกลับมาดีดตัวสูงขึ้น โอกาสเห็นผู้บริโภคยกเลิกกรมธรรม์เพื่อไปซื้อฉบับใหม่จากการได้ดอกเบี้ยสูงกว่า

“ช่วงที่ลูกค้าซื้อตอนนั้นผลตอบแทนต่ำแต่ต้องจ่ายราคาเบี้ยประกันแพง ซึ่งเดิมอาจจะได้ดอกเบี้ยประกันออมทรัพย์ประมาณ 1-2% แต่ในอนาคตสมมุติเขาให้ดอกเบี้ยเรา 3-4% ลูกค้าคงตัดสินใจไม่ยากที่จะทิ้งกรมธรรม์เพื่อไปหาผลตอบแทนที่ดีกว่า” นายพิเชฐกล่าว