เทรนด์เลิก “ประกันออมทรัพย์” ฉุดเบี้ยขายผ่านแบงก์วูบหนัก

บอนด์ออมทรัพย์รัฐบาล

ยอดขายประกันผ่านแบงก์ปี’63 วูบหนัก ตัวเลขอัพเดต 11 เดือน หดตัวกว่า 16% พิษดอกเบี้ยขาลง-ธุรกิจทยอยเลิกขายประกันออมทรัพย์ ค่าย “เมืองไทยประกันชีวิต” ปรับแผนปี’64 โฟกัสขายสินค้าคุ้มครองชีวิต-ประกันสุขภาพ/โรคร้ายแรง รวมถึงขายโปรดักต์ใหม่ “อินเด็กซ์ลิงก์” ทดแทน ฟาก “ไทยประกันชีวิต” เซ็น “CIMBT” ช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ต่ออีก 3 ปี

แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงในวงการประกันชีวิตเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในไตรมาส 1 ปี 2564 นี้ ยอดขายประกันผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) น่าจะเห็นปรากฏการณ์ที่เบี้ยรับใหม่ติดลบมากกว่า 10% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากไตรมาสแรกปี 2563 บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCB LIFE) มีการขายประกันออมทรัพย์เพิ่มขึ้นกว่า 200%

แต่ปีนี้ประเมินภาวะตลาดแล้ว เบี้ยใหม่ก้อนใหญ่อาจจะไม่มี และไม่เห็นสัญญาณที่จะสร้างเบี้ยได้ถล่มทลายเหมือนในอดีต ทั้งด้วยสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยต่ำ และยอดขายที่ยังไม่ดีทุกบริษัท

สำหรับปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ตัวเลขล่าสุด ช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย. 2563) ธุรกิจประกันชีวิตทั้งระบบมียอดขายประกันผ่านแบงก์อยู่ที่ 209,641 ล้านบาท ลดลง 16.33% จากปีก่อนหน้า โดย 5 อันดับบริษัทที่มียอดขายสูงที่สุด ได้แก่ 1.บมจ.เอฟดับบลิวดีประกันชีวิต (FWD) มีเบี้ยประกันรวม 61,406 ล้านบาท ส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) 29.29%

2.บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) มีเบี้ยประกันรวม 41,888 ล้านบาท มาร์เก็ตแชร์ 19.98% 3.บมจ.กรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต (KTAL) มีเบี้ยประกันรวม 23,712 ล้านบาท มาร์เก็ตแชร์ 11.32% 4.บมจ.ไทยประกันชีวิต (TLI) มีเบี้ยประกันรวม 18,859 ล้านบาท มาร์เก็ตแชร์ 9% และ 5.บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) มีเบี้ยประกันรวม 18,152 ล้านบาท มาร์เก็ตแชร์ 8.66%

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทได้ปรับ portfolio ใหม่ โดยได้การหักดิบเลิกขายสินค้าที่มีความละเอียดอ่อนกับอัตราดอกเบี้ย ด้วยการลดทอนสินค้าประกันออมทรัพย์ หันไปโฟกัสสินค้าคุ้มครองชีวิตและสินค้าประกันสุขภาพ/โรคร้ายแรง (protection & health) เป็นหลัก

ขณะที่ในปี 2564 นี้ ตั้งเป้ารักษาสัดส่วนสินค้าคุ้มครองชีวิตและประกันชีวิตควบการลงทุน (protection & investment) ไว้อยู่ที่ 70% ส่วนประกันออมทรัพย์จะลดลงต่อเนื่องเหลือ 24% และจะขายสินค้าประเภท index linked (ประกันชีวิตในยุคดอกเบี้ยต่ำ ที่ให้ทั้งความคุ้มครองชีวิต คุ้มครองเงินต้น และโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปแบบของเงินปันผล) ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (yield curve) น้อย

ขณะที่แหล่งข่าวจาก บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า ปีนี้บริษัทจะขยายความร่วมมือกับพันธมิตรแบงก์รายใหม่ ซึ่งเป็นสัญญาระยะยาว คาดว่าจะมีการแถลงข่าวในเร็ว ๆ นี้ โดยสินค้าตัวแรกจะเริ่มทดลองจับตลาด คือ index-linked หลังจากนั้นจะพัฒนาแบบประกันมาเจาะลูกค้าของธนาคารโดยเฉพาะต่อไปในอนาคต ตั้งแต่ระดับฐานรากถึงระดับบน

“สินค้า index-linked หลังจากนี้น่าจะมีลูกเล่นใหม่ ๆ ออกมาเพิ่มเติม เช่น มีผู้บริหารกองทุนต่างประเทศใหม่ ๆ จากปัจจุบันใช้ CitiGold, มีระยะเวลาลงทุน (term), มีส่วนผสมระหว่างการันตีกับมีเงินปันผล (participating) และอาจรวมไปถึงสัญญาเพิ่มเติม (rider) ที่พ่วงเข้าไปในกรมธรรม์หลัก” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีพันธมิตรแบงก์อยู่ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank) รวมถึงกลุ่มบริษัทลีสซิ่ง โดยปีนี้ตั้งเป้าเบี้ยรับใหม่ผ่านช่องทางแบงก์ (ไม่รวมกสิกรไทย) เติบโต 10-15% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

นางวรางค์ ไชยวรรณ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.ไทยประกันชีวิต กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทได้เซ็นสัญญาฉบับใหม่กับธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เป็นระยะเวลา 3 ปี (ปี 2564-2566) เพื่อขายประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อ (MRTA) ประกันออมทรัพย์ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ และประกันชีวิตควบการลงทุน (unit-linked และ universal life)


โดยตั้งเป้าเบี้ยประกันรับปีแรกผ่านซีไอเอ็มบี ไทย ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี มีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ไม่น้อยกว่า 90%