“เอไลฟ์” นำร่องออกหุ้นกู้เสริมทุน ก.ล.ต.ไฟเขียวประกันภัยรายแรก

ประกันสุขภาพ-graphic
แฟ้มภาพ

“แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต” นำร่องออก “อินชัวรันซ์แคปปิตอลบอนด์” เป็นรายแรก ขายผู้ถือหุ้นไม่เกิน 10 ราย นำเงินมาเติมกองทุนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ คปภ. ผู้บริหารแจงออกหุ้นกู้ลอตแรกไปแล้ว 100 ล้านบาท จากที่บอร์ดอนุมัติไว้ 250 ล้านบาท หนุนระดับเงินกองทุน ณ สิ้น ม.ค. 64 พ้นเกณฑ์ขั้นต่ำ จ่อออกอีกลอตสิ้นไตรมาส 2 นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่าปัจจุบันได้มีบริษัทประกันรายแรกที่ออกและเสนอขายตราสารด้อยสิทธิ (หุ้นกู้) เพื่อนับเป็นเงินกองทุนของบริษัทประกันภัย (insurance capital bond) ไปแล้ว 1 ราย คือ บมจ.แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นการเสนอขายในวงจำกัดต่อผู้ลงทุนไม่เกิน 10 ราย (PP-10)

นายสมศักดิ์ ไชยเดช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ประกันชีวิต (A-LIFE) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติออกหุ้นกู้ insurance capital bond เพื่อนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 วงเงินรวม 250 ล้านบาท ขายแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท จ่ายดอกเบี้ย 6.25% ต่อปี

ซึ่งได้ออกก้อนแรกไปวงเงิน 100 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุน (CAR ratio) ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 130% (ณ เดือน ม.ค. 2564) สูงกว่าเกณฑ์กำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่ได้ผ่อนผันให้บริษัทประกันดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำไว้ได้ที่ระดับ 120% ได้ในช่วงนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด-19 และหลังจากวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ไปแล้ว ต้องกลับไปอยู่ในระดับเกณฑ์ปกติที่ 140%

“สำหรับการออกหุ้นกู้เพื่อนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 จะมีฟีเจอร์ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยได้ และสามารถตัดหนี้สูญได้เมื่อสำนักงาน คปภ.เข้ามาควบคุมกิจการ โดยความเป็นทุนจะถูกลดทอนลงไปปีละ 20% หลังจากปีที่ 5”

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า ในช่วงสิ้นไตรมาส 2 นี้ คาดว่าจะดำเนินการออกหุ้นกู้ insurance capital bond วงเงินส่วนที่เหลืออีก 150 ล้านบาท เพื่อเสริมความแข็งแกร่งเงินกองทุนให้เพิ่มสูงกว่า 140% ซึ่งระหว่างนี้บริษัทสามารถขอบอร์ดปรับวงเงิน หรือจะออกหุ้นกู้เพื่อนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 แทนก็ได้

“การเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นเอ-ไลฟ์ จะไม่ใส่เงินทิ้งไว้จำนวนมาก เพราะทำธุรกิจหลายอย่าง ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้ชี้แจง คปภ.ไปแล้ว และหน่วยงานกำกับเข้าใจแคแร็กเตอร์ของกลุ่มผู้ถือหุ้นดี เนื่องจากเป็นกลุ่มครอบครัว (กลุ่มเกษตรรุ่งเรืองพืชผล)”

ส่วนนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปีนี้ นายสมศักดิ์กล่าวว่า บริษัทจะพยายามปรับลดสัดส่วนสินค้าประกันสะสมทรัพย์ลงอย่างต่อเนื่อง จากพอร์ตเมื่อสิ้นปี 2563 มีสัดส่วนประกันสะสมทรัพย์อยู่กว่า 60% และที่เหลืออีก 40% เป็นสินค้าความคุ้มครอง (protection) ขณะที่ช่องทางการขายเดิมมี 2 ช่องทางจากทีมพนักงานและที่ปรึกษาการเงิน (FA) แต่ปีนี้คาดว่าจะขยายช่องทางขายผ่านออนไลน์ และจ้างทีมงานจากภายนอก(outsource) มาขายประกันผ่านทางโทรศัพท์ (เทเลเซลส์) เพิ่มเติมด้วย