เปิดคำแถลง​ ผู้​ว่าการ ธปท.​ ออกมาตรการ “ฟื้นฟูธุรกิจ​-พักทรัพย์​พักหนี้”

แบงก์ชาติ

เปิดคำแถลง​ผู้​ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)​ ออกมาตรการ “ฟื้นฟูธุรกิจ​-พักทรัพย์​พักหนี้” 3.5 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2564 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงมาตรการทางการเงินช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ณ ห้องภัทรรวมใจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในนามของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผมขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นระหว่างองค์กรภาครัฐด้วยกัน ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ที่ทำให้มีมาตรการในวันนี้

ถ้าเรามองไปข้างหน้า จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างชัดเจน แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อาจต้องใช้เวลา หากดูตัวเลขคาดการณ์ GDP เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะกลับมาสู่ระดับก่อนโควิด 19 ได้ในไตรมาส 3 ปี 2565 แต่ไม่ใช่ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติได้พร้อมกันหมด ทั้งสภาวะการจ้างงาน รวมถึงรายได้ประชาชน ทำให้เราจะเห็นการฟื้นตัวยังไม่เท่าเทียม

กิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวค่อนข้างดี เห็นได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและการส่งออกกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด 19 แต่ตัวเลขในภาคบริการยังต่ำอยู่ สาเหตุหลัก ๆ มาจากการที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก กว่าที่การท่องเที่ยวจะกลับมาจนจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 40 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับก่อนโควิด 19 ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปี

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ดังนั้น มาตรการที่มีในปัจจุบัน จึงไม่สามารถรองรับสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนสูงนี้ได้ ทำให้มีความจำเป็นต้องออกมาตรการใหม่ ที่จะมาตอบโจทย์ปัญหาปัจจุบัน ซึ่งมาตรการที่ออกมาในวันนี้มี 2 ส่วน

มาตรการแรก เป็นมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ วงเงิน 250,000 ล้านบาท โดยเน้นช่วยเหลือ SMEs ที่ถูกกระทบจากวิกฤตแต่ยังมีศักยภาพ และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน ซึ่งมาตรการนี้ จะเน้นการปลดล็อกสำคัญ ๆ จาก พ.ร.ก. เดิม ให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ประกอบไปด้วย 1. การขยายขอบเขตของลูกหนี้  2. ขยายเวลาให้ยาวขึ้น  3. ขยายวงเงิน  4. กำหนดดอกเบี้ยให้เหมาะสม และเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อ 5. ขยายการชดเชยหรือค้ำประกันความเสี่ยงที่สูงขึ้น

มาตรการที่สอง เป็นมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ที่ช่วยให้ลูกหนี้สามารถตีโอนทรัพย์ โดยมีสิทธิ์ซื้อคืนในราคาตีโอนบวกกับ carrying cost ซึ่งมีประโยชน์คือ 1. ช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้ 2. ให้โอกาสลูกหนี้ในการประกอบธุรกิจต่อ ซึ่งจะช่วยการจ้างงาน  3. ลดความเสี่ยงที่จะต้องขายทรัพย์สินในราคาที่ต่ำเกินไปหรือ fire sale 4. ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการต่อ หลังสถานการณ์คลี่คลาย

แนวทางที่วางไว้ในสองมาตรการนี้ คือต้องปรับปรุงให้มีความยืดหยุ่น สามารถรองรับความไม่แน่นอนที่มีอยู่ ครอบคลุมปัญหาที่หลากหลายมากขึ้น และสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด ที่สำคัญ คือ ช่วยยืดระยะเวลาให้ยาวขึ้นเพื่อรอการฟื้นตัวของธุรกิจ โดยเฉพาะบางภาคส่วนที่จะใช้เวลานานกว่าจะกลับมาได้

เช่น ใน พ.ร.ก. เดิม สินเชื่อมีอายุ 2 ปี และค้ำประกัน 2 ปี แต่ในรอบนี้ ให้สินเชื่อ 5 ปี ค้ำประกันยาวถึง 10 ปี ซึ่งจะไม่ใช่แค่การเยียวยาหรือพยุงระยะสั้น แต่เป็นการรองรับให้กิจการสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ภายหลังโควิด 19 ได้

นอกจากนี้ มาตรการในครั้งนี้เป็นการปิด gap ที่ยังมีอยู่ โดยในภาพรวม แม้สินเชื่อรายย่อยยังเติบโตที่ประมาณ 4% ต่อปี เช่นเดียวกับสินเชื่อบริษัทขนาดใหญ่ที่ยังโตอยู่ที่กว่า 10% ต่อปี แต่สินเชื่อ SMEs ยังหดตัวและมีปัญหาในการเข้าถึง จึงเป็นที่มาของมาตรการวันนี้ ที่เน้นเรื่อง SMEs และการปลดล็อก พ.ร.ก. เดิมเพื่อให้สินเชื่อ SMEs เติบโตได้

เช่นเดียวกับมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยปิด gap จากเดิมที่ ธปท. เน้นเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยลูกหนี้ แต่ต้องยอมรับว่า มาตรการปรับโครงสร้างหนี้อาจไม่เพียงพอสำหรับลูกค้าบางกลุ่มที่เจอปัญหาหรืออาจไม่มีรายได้เลย มาตรการที่ตอบโจทย์ได้ตรงกว่า คือ การตีโอนทรัพย์เพื่อลดภาระลูกหนี้ และให้โอกาสลูกหนี้กลับซื้อคืนเข้ามาเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

เนื่องจากเป็นการปิด gap ทำให้มาตรการนี้ไม่ได้ออกแบบให้ครอบคลุมทุกอย่างและทุกคน จึงต้องมีมาตรการอื่นควบคู่กันไป โดย ธปท. มีมาตรการลักษณะอื่นเพื่อรองรับปัญหาและความต้องการของลูกหนี้ที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น มาตรการพักหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อช่วยลูกหนี้รายย่อยที่ประสบปัญหา

ประเด็นสุดท้าย คือ การออกแบบมาตรการในบ้านเราที่ไม่ประสบความสำเร็จ สาเหตุหลักส่วนใหญ่มาจากการประสานงานและการจัดการ แต่ในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเราใช้เวลานานในการพูดคุย และที่สำคัญ คือ รับฟัง เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าปัญหาคืออะไรและอยู่ตรงไหน เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ได้ถูกที่ ถูกทาง ตลอดจนสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม ซึ่งทำให้ผมมั่นใจว่ามาตรการนี้จะได้รับผลสำเร็จ และเริ่มดำเนินการได้ทันทีหลังจากกระบวนการทางกฎหมายแล้วเสร็จ


ขอบคุณครับ