“สินทรัพย์ดิจิทัล” ฟีเวอร์ ความท้าทายของเรกูเลเตอร์

อีเธอเรียม Ethereum เหรียญ สินทรัพย์ดิจิทัล

ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำนักลงทุนตาลุกวาว สนใจเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้กันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก ในปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกว่า 61.25% มาจากบิตคอยน์ (bitcoin) ที่มีมูลค่าการซื้อขายล่าสุด 1.49 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (ข้อมูล www.coinmarketcap.com)

ปัจจุบัน (ณ 29 มี.ค. 2564) ราคาบิตคอยน์เมื่อเทียบกับเงินบาท อยู่ที่ 1 เหรียญบิตคอยน์เท่ากับกว่า 1.72 ล้านบาท (ข้อมูลจาก Morningstar และ Coinbase) ซึ่งหากจำกันได้เมื่อปี 2560 ราคาพุ่งพรวดกว่า 20 เท่าเลยทีเดียว

ขณะที่การประกาศของ “อีลอน มัสก์” ให้สามารถใช้ “บิตคอยน์” ซื้อรถยนต์ “เทสลา” (Tesla) ได้ ยิ่งส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลพุ่งแรงขึ้นไปอีก

สำหรับประเทศไทย ทางการได้ตราพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ขึ้น เพื่อควบคุม “คริปโทเคอเรนซี” (cryptocurrency) และ “โทเคนดิจิทัล” (digital token) โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแล (เรกูเลเตอร์) ของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการออกกฎระเบียบและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันกับสถานการณ์

ทั้งนี้ ยิ่งราคาสินทรัพย์ดิจิทัลในโลกพุ่งแรงขึ้นมากเท่าใด กระแสความสนใจที่ต้องการเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ในไทยก็พุ่งมากขึ้นตามไปด้วย ปัจจุบันยอดเปิดบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยมีมากกว่า 5 แสนบัญชีแล้ว

ล่าสุด ก.ล.ต.เพิ่งเปิดรับฟังความเห็นเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ลงทุนคริปโทเคอเรนซี โดย “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ ก.ล.ต. เตรียมสรุปข้อเสนอให้คณะกรรมการ ก.ล.ต.พิจารณาต่อไป

ซึ่งต้องติดตามว่า สุดท้ายแล้วเกณฑ์จะออกมาแบบใด หลังจากที่ผ่านมาผู้ให้ความเห็นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์คุณสมบัติด้านฐานะทางการเงินของผู้ลงทุน ที่มีการตั้ง “ตุ๊กตา” เอาไว้ว่า ต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 1 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตในไทยปัจจุบัน มีนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset broker) 5 ราย ได้แก่ Coins TH, Bitazza, KULAP, Upbit และ Z.comEX, มีผู้ประกอบธุรกิจผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset dealer) 1 ราย คือ Coins TH และธุรกิจที่ปรึกษาในกระบวนการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ (ICO portal) 4 ราย ได้แก่ Longroot, T-BOX, SE Digital และ BiTherb ส่วนผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset exchange) มี 7 ราย ได้แก่ BITKUB, Satang Pro, Huobi, ERX, Zipmex, Upbit และ Z.comEX

เมื่อไม่นานมานี้ ก.ล.ต.ได้ประกาศให้สามารถเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (real estate-backed ICO) ได้ โดยให้เทียบเคียงได้กับกรณีทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ซึ่งเริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เริ่มเข้าสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลกันมากขึ้น ล่าสุดเห็นการขยับของ 2 แบงก์ใหญ่ คือ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่จัดตั้ง “บริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท” (Kubix Digital Asset) ขึ้นมา เพื่อดำเนินธุรกิจ ICO portal

บริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียน 70 ล้านบาท ซึ่งธนาคารกสิกรไทยถือหุ้นในสัดส่วน 100% ผ่านบริษัท กสิกร เอกซ์ จำกัด ที่เป็นบริษัทในเครือ KBTG

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ “บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์” (SCB10X) ในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารไทยพาณิชย์ ได้จดทะเบียนจัดตั้ง “บริษัท โทเคน เอกซ์” (Token X) ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจ ICO portal เช่นกัน

รวมถึง SCB 10X ยังได้ประกาศเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงทุนการระดมทุนรอบ series C มูลค่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ ของ Anchorage แพลตฟอร์มรับฝากสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) แก่นักลงทุนสถาบันที่ได้รับอนุญาตแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา

ภาพเหล่านี้เป็นพัฒนาการสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ส่วนจะก้าวไปสู่จุดใด คงต้องติดตามกันต่อไป