รัฐวิสาหกิจ ส่งรายได้เข้าคลังครึ่งปีแรกต่ำเป้า 3.5 หมื่นล้านบาท

สคร. รายงานรัฐวิสาหกิจส่งรายได้เข้าคลังครึ่งปีแรกวืดเป้า 3.5 หมื่นล้านบาท บริษัทใหญ่-แบงก์รัฐ ผลประกอบการลดลงถ้วนหน้า ยกเว้นสำนักงานสลากฯ ส่งรายได้เกินเป้ากว่า 349 ล้านบาทในเดือนมี.ค.

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร.ได้รายงานการนำส่งรายได้และเงินปันผลของรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% สะสมในช่วง 6 เดือนแรกปีงบประมาณ 64 (ต.ค.63-มี.ค.64) สามารถนำส่งรายได้ 47,779 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้ง 82,785 ล้านบาท ที่ 35,006 ล้านบาท ขณะที่การนำส่งรายได้เฉพาะเดือนมี.ค.64 ทำได้เพียง 4,785 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 11,538 ล้านบาท ถึง 6,753 ล้านบาท 

สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐวิสาหกิจส่งรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายช่วง 6 เดือนแรก เป็นผลมาจากรัฐวิสาหกิจหลายแห่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้มีผลประกอบการน้อยกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกจิขนาดใหญ่ที่ต้องนำส่งรายได้ระหว่างกาลปี 63 มีกำไรสุทธิครึ่งปีลดลง เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีผลขาดทุนครึ่งปี63 จนส่งรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 15,605 ล้านบาท 

ขณะที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิปี 63  ลดลงเช่นกัน ทำให้มีเงินนำส่งรายได้แผ่นดินต่ำกว่าประมาณการ 7,343 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการจัดสรรกำไรสุทธิและให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบและรับรองงบการเงินปี 63 ทำให้เดือนมี.ค.64 มีเงินนำส่งรายได้แผ่นดินน้อยกว่าประมาณการไป 6,753 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม รัฐวิสาหกิจที่การนำส่งรายได้สูงสุดเดือนมี.ค.64 ยังเป็นสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยนำส่งรายได้ 3,661 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 349 ล้านบาท เนื่องจากยังสามารถจำหน่ายสลากได้สูงอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดขายรวมถึง 199 ล้านฉบับ  หลังจากประชาชนยังให้ความนิยมในการเสี่ยงโชค โดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีก็ยิ่งมีความต้องการสลากไปจำหน่ายและเสี่ยงโชคมากขึ้น จึงคาดว่าภายในปีนี้สำนักงานสลากฯจะส่งรายได้ไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเพียงแห่งเดียวที่ทำรายได้สูงกว่าเป้าหมาย  

ส่วนการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจแห่งอื่นในเดือนมี.ค.64 ต่างมีการส่งรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายทั้งหมด เนื่องจากอยู่ระหว่างจัดสรรกำไรและให้ตรวจสอบรับรองงบการเงินอยู่ เช่น การท่าเรือแห่งประเทศไทยนำส่งรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,159 ล้านบาท การประปานครหลวงต่ำเป้าหมาย 1,850 ล้านบาท การยาสูบแห่งประเทศไทย ต่ำเป้าหมาย 542 ล้านบาท การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต่ำเป้าหมาย 539 ล้านบาท การเคหะแห่งชาติต่ำเป้าหมาย 287 ล้านบาท เป็นต้น