คนละครึ่ง เฟส 3 รวมเรื่องต้องรู้ ก่อนลงทะเบียน 6 โมงเช้า พรุ่งนี้ (14 มิ.ย.)

นับถอยหลังอีกไม่กี่ชั่วโมง จะเข้าสู่ช่วงแห่งการชิงลงทะเบียนโครงการ “คนละครึ่ง” เฟส 3 ใครยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการนี้ หาคำตอบได้ที่นี่ 

วันที่ 13 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 จะเปิดให้ประชาชนผู้สนใจลงทะเบียนวันแรกในวันพรุ่งนี้ (14 มิ.ย.) เป็นต้นไป ระหว่างเวลา 06.00 น.-22.00 น. ของทุกวัน จนกว่าจะครบจำนวน ไม่เกิน 31 ล้านคน

โดยประชาชนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิภาครัฐร่วมจ่ายร้อยละ 50 สำหรับค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป และค่าบริการ (นวด สปา ทำผมทำเล็บ ค่าเดินทางโดยบริการขนส่งสาธารณะหรือขนส่งมวลชนสาธารณะ) ยกเว้นสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ

ทั้งนี้ ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 1,500 บาทต่อคน ในแต่ละรอบ จำนวน 2 รอบ เพื่อให้คนที่ได้รับสิทธิมีเงินในกระเป๋าใช้จ่ายได้ตลอดช่วงครึ่งปีที่เหลือ หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ

  • รอบแรก ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
  • รอบที่สอง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องรู้นั้น “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมมาให้ ดังนี้

คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ “คนละครึ่ง” เฟส 3

  1. ผู้ที่ลงทะเบียนจะต้องเป็นประชาชนสัญชาติไทยที่มีบัตรประจำตัวประชาชน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
  2. ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
  3. ไม่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
  4. ไม่ใช้สิทธิโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
  5. อาชีพใดก็ได้
  6. ผู้รับบำนาญก็สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้

ผู้ร่วมโครงการคนละครึ่ง เฟส 1-2 ต้องลงทะเบียนใหม่หรือไม่?

ผู้ที่เคยรับสิทธิโครงการคนละครึ่ง เฟส 1 และ เฟส 2 จะต้องลงทะเบียนรับสิทธิเช่นเดียวกับผู้ประสงค์รับสิทธิรายใหม่ ระบบ “ไม่มีการจองสิทธิ” ให้กับรายเดิม

ช่องทางการลงทะเบียนของกลุ่มผู้ลงทะเบียนแต่ละกลุ่ม

  1. ผู้ที่เคยร่วมโครงการภาครัฐ (ชิมช้อปใช้, เราเที่ยวด้วยกัน, คนละครึ่ง, เราชนะ, ม33 เรารักกัน) ลงทะเบียนผ่าน www.คนละครึ่ง.com และ แอปฯ เป๋าตัง
  2. ผู้ที่ไม่เคยร่วมโครงการภาครัฐ ลงทะเบียนผ่าน www.คนละครึ่ง.com
  3. ผู้ที่ใช้สิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ (สำหรับผู้ใช้สิทธิเราชนะผ่านบัตรประชาชน ประสงค์เปลี่ยนโครงการ) ลงทะเบียนผ่าน แอปฯเป๋าตัง

ข้อมูลในการลงทะเบียน

  • ผู้ที่เคยรับสิทธิมาตรการเยียวยาจากรัฐบาล ไม่ต้องกรอกข้อมูลมาก เนื่องจากมีฐานข้อมูลเดิมอยู่แล้ว แต่ที่ต้องระบุเพิ่มคือ “อาชีพ” และ “รายได้”
  • ผู้ที่ไม่เคยรับสิทธิมาตรการเยียวยาจากรัฐบาล ต้องลงทะเบียนข้อมูลใหม่ทั้งหมด

162358299553

การแจ้งผลการลงทะเบียน

ทั้งผู้ที่เคยเข้าร่วมมาตรการ หรือโครงการของรัฐ ที่มีแอปฯเป๋าตัง และผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการ หรือโครงการของรัฐ ต้องรอ SMS แจ้งผลการลงทะเบียนภายใน 3 วัน เหมือนกัน

การใช้สิทธิครั้งแรก

หลังได้รับ SMS แจ้งสิทธิภายใน 3 วัน ขอให้ท่านยืนยันตัวตนผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้

  1. ผู้ที่เคยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารกรุงไทย จำกัด มหาชน (ธนาคารกรุงไทย) แล้ว สามารถสแกนใบหน้าเพื่อใช้งานแอปพลิเคชั่นได้เลย
  2. ผู้ที่มีแอปพลิเคชั่น KrungthaiNext สามารถยืนยันตัวตนผ่าน KrungthaiNext ได้
  3. ผู้ที่ไม่เคยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนกับธนาคารกรุงไทย ให้นำบัตรประจำตัวประชาชนไปยืนยันตัวตนที่สาขาหรือตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย และสแกนใบหน้าอีกครั้งหนึ่งก็จะเสร็จสมบูรณ์

ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ

ผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมมาตรการ/โครงการอื่นของรัฐที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” แล้ว ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน”

ส่วนผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการ/โครงการอื่นลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือลงทะเบียนผ่านทางสาขา หรือจุดรับลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทยฯ โดยธนาคารกรุงไทยฯ จะช่วยติดตั้งและแนะนำการใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” เพื่อรับชำระเงินจากการขายสินค้า

การแก้ปัญหาเรื่อง OTP

ญหาการลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง จากรอบที่ผ่านมา ที่มีสาเหตุมาจากขั้นตอนขอรับรหัส OTP ทำให้ประชาชนหลายคนอดรับสิทธิเข้าร่วมโครงการ แต่ในรอบนี้กระทรวงการคลัง ยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาในเรื่องดังกล่าว

โดย ดร.กุลยา ตันติเตมิทผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทย ได้ประสานงานกับบริษัทผู้ให้บริการ SMS ทั้ง 3 เครือข่าย ให้เตรียมการเพื่อรองรับการส่ง SMS ในช่วงที่เปิดลงทะเบียนแล้ว คิดว่าจะไม่มีในปัญหาขั้นตอนของ OTP

นอกจากนี้ คนละครึ่ง เฟส 3 ยังเปิดโอกาสให้การลงทะเบียนรอบนี้ คนที่เคยใช้แอปเป๋าตัง และใช้ g-wallet ในโครงการของรัฐแล้ว จะสามารถกดลงทะเบียนจากแอปเป๋าตังได้เลย ซึ่งจะไม่มีขั้นตอนในเรื่องของ OTP เข้ามา  ส่วนการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com จึงจะมีขั้นตอนขอรับรหัส OTP ดังนั้น ระบบน่าจะรองรับได้เพียงพอ เพราะในการเปิดลงทะเบียนโครงการเราชนะ ก็สามารถรองรับได้เพียงพอ

ปลดล็อกเงื่อนไข ตัดสิทธิภายใน 14 วัน

ดร.กุลยากล่าวอีกว่า “คนละครึ่ง” เฟส 3 ปลดล็อกเงื่อนไขหากไม่ใช้สิทธิภายใน 14 วัน จะโดนตัดสิทธิ โดยผู้ที่ได้รับสิทธิ “คนละครึ่ง” เฟส 3 จะใช้จ่ายผ่านโครงการเมื่อไหร่ก็ได้ หลังจากที่ยืนยันตัวตนแล้ว แต่ถ้าเป็นผู้ที่สมัครใหม่ แล้วได้รับสิทธิจะต้องยืนยันตัวตนในการใช้ Gwallet ก่อน

เพิ่มทางเลือกในการใช้จ่าย

คนละครึ่ง เฟส 3 ยังออกแบบมาให้คุ้มค่าและใช้ง่ายกว่าเดิม โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีทางเลือกในการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งได้เพิ่มสิทธิให้สามารถใช้จ่ายในส่วนของการบริการได้ด้วย เช่น ร้านนวด สปา ทำผมทำเล็บ ค่าเดินทางโดยบริการขนส่งสาธารณะ หรือขนส่งมวลชนสาธารณะได้

การลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการของ “ผู้ประกอบการ”

ผู้ประกอบการทั่วไป (ผู้ประกอบการร้านค้าทั่วไป ผู้ประกอบการบริการนวด สปา ทำผมทำเล็บ ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ ที่มีสัญชาติไทยไม่เป็นนิติบุคคลและไม่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์) ผู้ประกอบการของกองทุนหมู่บ้านหรือชุมชนเมืองหรือวิสาหกิจชุมชน ร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และผู้ให้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป เวลา 06.00 น.-22.00 น.

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านค้าทั่วไปและผู้ประกอบการบริการนวด สปา ทำผมทำเล็บ ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ทั้งนี้ ในวันและเวลาเดียวกัน

โดยผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมมาตรการ/โครงการอื่นของรัฐที่มีแอปพลิเคชั่น “ถุงเงิน” แล้ว ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น “ถุงเงิน” ส่วนผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการ/โครงการอื่นลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com ตามที่ต้องการเข้าร่วม หรือลงทะเบียนผ่านทางสาขา หรือจุดรับลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทย โดยธนาคารกรุงไทย จะช่วยติดตั้งและแนะนำการใช้แอปพลิเคชั่น “ถุงเงิน” เพื่อรับชำระเงินจากการขายสินค้า

เม็ดเงินที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจ

คาดว่าโครงการโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 จะทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 1.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็น เม็ดเงินที่มาจากรัฐบาล 9.3 หมื่นล้านบาท เม็ดเงินที่มาจากประชาชนอีก 9.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือพยุง ทิศทางกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ได้ด้วย