“อาคม” ชง ครม. เคาะแพ็กเกจแก้หนี้ อัดสินเชื่ออุ้มเอสเอ็มอี 29 มิ.ย.

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

มว.คลัง จ่อรายงานความคืบหน้านโยบายแก้หนี้ครัวเรือน ลุ้นชงแพ็ดเกจแก้หนี้ดูแลประชาชนเพิ่ม 29 มิ.ย.นี้ เล็งปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจเดือน ก.ค.นี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 มิ.ย. 64 กระทรวงการคลังจะรายงานความคืบหน้านโยบายแก้หนี้ครัวเรือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลหนี้ โดยในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐ ขณะนี้ธนาคารออมสินได้ออกมาตรการ “ยกเว้นการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย” แก่ผู้ประกอบการ SMEs โรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่วนธนาคารอื่น ๆ ก็กำลังวางแผนเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วเช่นกัน

“ธนาคารของรัฐเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาหนี้ของประชาชนอยู่แล้ว แต่เรื่องการลดดอกเบี้ยให้เหลือ 0% นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารว่าจะมีความสามารถลดได้แค่ไหน”

ส่วนเรื่องการปรับประมาณการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) นั้น เป็นไปตามรอบของแต่ละหน่วยงาน โดยขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับจีดีพีลดลงตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจ ส่วนของกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะมีการปรับประมาณการในเดือนหน้า โดย สศค.จะมีการติดตามดัชนีชีวัดทางเศรษฐกิจเพื่อประเมินอยู่แล้ว โดยครั้งต่อไปจะเป็นการประเมินจีดีพีไตรมาส 3 ของปีนี้

“ขณะนี้การส่งออกก็ยังดีอยู่ ถ้าโควิดคลี่คลาย และเปิดประเทศได้ภายใน 120 วันตามแผน กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จะเริ่มกลับมาเป็นปกติ เรื่องการจับจ่ายใช้สอยก็จะดีขึ้น ส่วนสถานการณ์โควิดจะส่งผลต่อเศรษฐกิจมากแค่ไหนนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ตอนนี้รัฐบาลก็พยายามทำมาตรการเชิงรุกในการตรวจเชื้อโควิด รวมทั้งเรื่องการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ”

ส่วนโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาภายในปลายปีนี้นั้น และยังมีผู้สนใจลงทะเบียนในโครงการน้อย จากเป้าหมาย 4 ล้านสิทธินั้น ขอให้รอดูไปก่อนเพราะขณะนี้โครงการเพิ่งจะเริ่มต้น ส่วนเรื่องการเพิ่มวงเงินในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ให้ถึง 6,000 บาทต่อคน ตามที่เอกชนเสนอนั้น ขอพิจารณาก่อนแต่ตอนนี้ยังยึดตัวเลขเดิมคือ 3,000 บาทต่อคน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันที่ 29 มิ.ย.64 รัฐบาลจะออกมาตรการเพื่อมาดูแลเอสเอ็มอี โดยคาดว่ากระทรวงการคลังเองก็จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติสินเชื่อเพื่อดูแลเอสเอ็มอีเพิ่มเติม ได้แก่ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จากธนาคารออมสิน โดยช่วยเหลือเอสเอ็มอีในภาคการท่องเที่ยว สำหรับใช้เป็นเงินทุนดำเนินกิจการหรือเสริมสภาพคล่อง วงเงินกู้สูงสุดรายละ 500,000 บาท ให้กู้เป็นระยะเวลา 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5 ปีเท่ากับ 3.99% และปลอดชำระเงินต้นในปีแรก


นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อดูแลให้เอสเอ็มอีเกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุน วงเงินรวม 90,000 ล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 4% ขอสินเชื่อได้สูงสุด 100,000 บาทต่อราย และโครงการสินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน สำหรับคนรุ่นใหม่ ที่นำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ในงานเกษตร วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 4% โดยเกษตรกรทั่วไปสามารถขอสินเชื่อได้สูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท