กรุงไทย หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 0.5-1.3% รับโควิดรุนแรง-ลากยาวกว่าคาด

กรุงไทย

ธนาคารกรุงไทยปรับประมาณการจีดีพีปี’64 เหลือ 0.5-1.3% จากเดิมอยู่ที่ 0.8-1.6% รับสถานการณ์โควิด-19 รุนแรงและลากยาวกว่าคาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ-เดินทางหยุดชะงัก กระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจเลื่อนไปในเดือน ต.ค. แนะมาตรการภาครัฐกระตุ้นใช้จ่ายประชาชนควรทำไตรมาส 4 เป็นจังหวะที่ดี ลั่นหนี้สาธารณะแตะกรอบเพดาน 60% ไม่น่ากังวล แต่ต้องสื่อสารให้นักลงทุนชัดเจน

วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่มีความรุนแรงและจำนวนผู้ติดเชื้อสูงกว่าประมาณการเดิม ส่งผลให้ธนาคารได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จากที่ประเมินไว้ในเดือน พ.ค. ที่มองขยายตัว 0.8-1.6% มาอยู่ที่ 0.5-1.3%

เนื่องจากมองว่าผลกระทบน่าจะลากยาวและมีผลต่อเศรษฐกิจถึงเดือน ก.ย. และเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในเดือน ต.ค. จากเดิมที่มองว่าจะฟื้นตัวในเดือน ส.ค. ขณะที่อัตราการขยายตัวในปี’65 ธนาคารยังคงประมาณการเติบโตอยู่ที่ 3.6%

ทั้งนี้ ปัจจัยผลกระทบต่อการปรับประมาณการจีดีพีปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเดินทางที่ไม่สามารถทำได้เลย ซึ่งกระทบต่ออัตราการจองห้องพักที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะออกมาในช่วงหลังจากนี้ผ่านมาตรการคนละครึ่งที่คาดว่าจะเพิ่มวงเงินการใช้จาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท ได้นำมาคำนวณในการปรับประมาณการครั้งนี้แล้ว

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ธนาคารยังไม่สามารถประมาณการเม็ดเงินที่ภาครัฐจะใส่เพิ่มเติมได้ หากมีการใส่เม็ดเงินกระตุ้นมากขึ้นก็อาจทำให้จีดีพีขยับเพิ่มขึ้นได้อีกจากกกรอบประมาณการ ซึ่งธนาคารมองว่ามาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะยังไม่เพียงพอ เนื่องจากสถานการณ์มีความรุนแรงกว่าคาด ดังนั้น มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในตอนนี้ยังไม่ใช่จังหวะที่ดี โดยมองว่าช่วงไตรมาส 4 น่าจะเป็นช่วงที่เหมาะสมที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถทำได้ และภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน เช่น คนละครึ่ง เราชนะ และเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น จะช่วยให้กิจกรรมเดินได้ รวมถึงมาตรการเร่งด่วนที่ช่วยชดเชยในช่วงที่มีมาตรการกึ่งล็อกดาวน์

“โอกาสที่จีดีพีอยู่ในโซนติดลบได้ แต่ก็ขึ้นกับสถานการณ์ว่าจะรุนแรงแค่ไหน เนื่องจากรอบที่ประมาณการในเดือน พ.ค.ยังไม่รุนแรง แต่ผ่านมา 2 เดือนสถานการณ์ระบาดรุนแรงขึ้น จึงปรับมาอยู่ที่ 0.5-1.3% โดยแบ่งจีดีพีเป็น 2 ส่วน คือ จีดีพีที่ขึ้นอยู่กับในประเทศ ซึ่งติดลบแน่นอน แต่ภาพรวมที่จีดีพีภาพรวมยังเป็นบวกได้กว่า 1% มาจากการส่งออกที่เติบโตแข็งแกร่งจากคู่ค้าที่เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเรามองปีนี้การส่งออกน่าจะโตมากกว่า 10% จากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้โต 17% และปีหน้าเราให้โต 7-8% และเราคาดหวังว่าจะมีจำนวนวัคซีนที่มากเพียงพอและกระจายได้ทั่วประเทศ เพื่อควบคุมการระบาดได้จะทำให้เศรษฐกิจเดินได้”

สำหรับประเด็นเรื่องฐานะทางการคลังมองว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ใกล้ระดับ 60% ของจีดีพี ยังไม่ได้น่ากังวล เนื่องจากอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียง โดยในมุมนักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐ และกลุ่มยุโรปได้ให้ความสำคัญกับหนี้สาธารณะน้อยลง สะท้อนจากสหรัฐ ที่มีการกู้เงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือยุโรปที่มองว่าการรัดเข็มขัดในช่วงภาวะวิกฤตไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนัก


ดังนั้น ในแง่ของประเทศไทย สัดส่วนหนี้สาธารณะเป็นเพียงข้อกำหนดให้ความมั่นใจกับนักลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งในภาวะวิกฤตครั้งนี้มีความจำเป็นต้องใช้ภาครัฐในการพยุงเศรษฐกิจ จึงสามารถทำได้ โดยจะต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าแผนการบริหารหนี้สาธารณะในอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะกลับมาอยู่ในสัดส่วนเท่าไร เพื่อให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น