ธปท. ประเมิน “โควิดคุมไม่อยู่-ล็อกดาวน์ยืดเยื้อ” กระทบจีดีพี 2%

Photo by Mladen ANTONOV / AFP

ธปท. เปิด 2 สมมติฐาน ล็อกดาวน์ยืดเยื้อ-คุมการระบาดได้แค่ 20% กระทบเศรษฐกิจปีนี้ 2% เผยหากคุมการระบาดได้ 40% ภายในกลางเดือนส.ค.กระทบ 0.8% เผยยังไม่รวมปัจจัยบวกส่งออก-มาตรการรัฐ คาดประมวลผลก่อนปรับประมาณการตัวเลข ชี้ ปี’65 ยังมีความเสี่ยง เกาะติดการระบาด-การกระจายวัคซีน-การเปิดประเทศ

วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ “ส่องเศรษฐกิจไทยในวิกฤตโควิด” ว่า ล่าสุดจากการประเมินภาพเศรษฐกิจล่าสุด ณ วันที่ 19 ก.ค. 64 พบว่า การระบาดของโควิด-19 และการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพัรธุ์เดลต้าส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงกว่าที่คาด และขยายวงกว้าง ทำให้การบริหารจัดการควบคุมทำได้ยากมากขึ้น ประกอบกับประสิทธิผลของวัคซีนลดน้อยลง ซึ่ง ธปท.จะมีการประมวลภาพและเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อดูตัวเลขประมาณการอีกครั้งหนึ่งในรอบการประชุมถัดไป

อย่างไรก็ดี การพิจารณาเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยจะประเมินจากการระบาด การควบคุม และมาตรการล็อกดาวน์จะยืดเยื้อมากน้อยแค่ไหน และปัจจัยวัคซีนในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดย ธปท.มองว่าวัคซีน MRNA จะสามารถเข้ามาได้ภายในไตรมาส 4 โดยในแง่ของมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม ซึ่งในบางจังหวัดมีความสำคัญ และมีมาร์เก็ตแชร์ของเศรษฐกิจค่อนข้างสูง จึงสร้างความไม่แน่นอนสูงถึงประสิทธิผลของมาตรการหากมีการล็อกดาวน์ยืดเยื้อ และความเชื่อมั่นของประชาชน 

ทั้งนี้ ธปท.ได้ประเมินสมมุติฐานไว้ 2 กรณี คือ 1.กรณี good case มองว่ามาตรการล็อกดาวน์ที่มีความเข้มงวดระดับนี้ จะสามารถควบคุมการระบาดให้ลดลงได้ประมาณ 40% เรียกว่าควบคุมอยู่ได้ภายในกลางเดือนส.ค.มองว่าจะกระทบต่อจีดีพีประมาณ 0.8%

และ 2.กรณี bad case การควบคุมไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้การระบาดลดลงเพียง 20% ซึ่งหากมีการถอนมาตรการควบคุมออกและทำให้การระบาดกลับมาอีก ซึ่งจะทำให้การล็อกดาวน์ต้องยืดเยื้อออกไปจนถึงสิ้นปี คาดว่าจะมีผลกระทบต่อจีดีพีประมาณ 2% ทำให้กรณี based line อยู่ที่ 0.8-2% อย่างไรก็ดี ธปท.ยังไม่รวมปัจจัยอื่น เช่น มาตรการการเงิน-การคลัง และส่งออก ที่จะตัวแปรเข้ามาเป็นบวกช่วยพยุงเศรษฐกิจ โดยกรอบค่ากลางอยู่ที่ 1.2%

“ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง คงต้องรอติดตามปัจจัยการฉีดวัคซีน การกระจายวัคซีน ซัพพลายวัคซีน แต่คาดหวังว่าสถานการณ์จะกลับมาได้ในกรณีควบคุมได้ภายในเดือนส.ค.นี้ แต่ยอมรับว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2 โดนกระทบจากการระบาดระลอก 3 ค่อนข้างหนักกว่าประมาณการไว้ ยังไงจะขอประมวลเศรษฐกิจอีกครั้ง เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว ซึ่งมาตรการการคลังสำคัญมาก เพราะรายได้ประชาชนหายไป ซึ่งการประสานนโยบายคลังและการเงินคงต้องทำต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์ยืดเยื้อ และแต่ละนโยบายมีเครื่องมือและข้อจำกัด จึงต้องประสานมือกัน”

สำหรับเศรษฐกิจในปี 2565 การระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ยังต้องติดตามต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูล ณ 19 ก.ค. 64 การได้รับวัคซีนของประชาชนยังคงไม่มากนัก สะท้อนว่าการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ใช้เวลาอีกนาน เป็นผลมาจากไวรัสสายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้น และความเร็วในการกระจายวัคซีน ซัพพลายการซีน และความต้องการฉีด โดย ธปท.เดิมมองว่าปีนี้การจัดหาวัคซีนปีนี้จะอยู่ที่ 100 ล้านโดส และปี’65 อีก 140 ล้านโดส ดังนั้น ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การระบาด การเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศ เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัญหาด้านแรงงาน หนี้ครัวเรือนที่มีความเปราะบาง และปัญหาซัพพลายดbสรัปชั่น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะต้องนำมาประมวลผลอีกครั้ง