แชร์ลูกโซ่ลงทุนบิตคอยน์ระบาด “แบงก์ชาติ” เตือนเสี่ยงสูญเงิน

กระแสลงทุนสกุลเงินดิจิทัล “บิตคอยน์” ร้อนแรง เปิดช่องขบวนการต้มตุ๋นระบาด ผู้ว่าฯธปท.เกาะติดธุรกรรมซื้อขาย-ลงทุนใกล้ชิด ชี้”เสี่ยงสูง” ไม่มีกฎหมายรองรับ จับตาแก๊ง “แชร์ลูกโซ่” เปิดข้อมูลไตรมาส 2 แห่ร้องเรียนถูกหลอกลงทุน พุ่ง 500 กรณี ธปท.สั่งตรวจสอบเข้ม เตือนเสี่ยงตุ๋นลงทุน “เงินดิจิทัล” ระบาด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากกระแสการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล ที่คุ้นหูกันอย่าง bitcoin ซึ่งในต่างประเทศมีการใช้เพื่อนำไปชำระค่าสินค้าและบริการบางแห่ง รวมถึงการนำบิตคอยน์ไปลงทุนแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินจริงได้ในเครือข่ายกันเอง ทำให้สกุลเงินบิตคอยน์เป็นช่องทางการเก็งกำไรรูปแบบใหม่ ได้มีการแพร่ในประเทศไทย ทั้งที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ และนักลงทุนจะไม่ได้รับรองการคุ้มครองกรณีเกิดปัญหาการฟ้องร้องต่าง ๆ

โดยปัจจุบันพบว่ามีเว็บไซต์ที่เปิดเพื่อแนะนำและชักชวนคนไทยลงทุนในบิตคอยน์ รวมถึงเงินสกุลดิจิทัลอื่น ๆ จำนวนมาก โดยสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อโน้มน้าวการลงทุนต่าง ๆ บางเว็บไซต์ก็อ้างว่า บริษัทที่ได้รับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมกับโชว์กราฟราคาซื้อขายบิตคอยน์ หรือเงินสกุลดิจิทัลอื่น ๆ บนหน้าเว็บไซต์ ขณะที่บางเว็บไซต์ก็อ้างว่าเป็นโบรกเกอร์ชั้นนำของโลก และมีเครือข่ายการดำเนินธุรกิจการอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก และเปิดให้ผู้สนใจและต้องการจะลงทุนสามารถลงทุนได้ทันที เพียงกรอกชื่อและอีเมล์เท่านั้น

โดยลักษณะการเชิญชวนเข้าไปลงทุนทั้งการันตีว่า ถูกต้องตามกฎหมาย และให้ผลตอบแทนจริง ได้ผลตอบแทนง่าย ๆ รวมถึงการเชิญชวนผ่านทางไลน์ เช่นพบว่ามีการชักชวนลงทุนสกุลเงิน ZGW โดยอ้างว่าเป็นสกุลเงินดิจิทัลกลางสกุลเงินแรกของโลก และสกุลเงินเดียวที่รัฐบาลจีนการันตีด้วยทองคำหนักถึง 5 พันตัน ทั้งระบุชื่อ “แจ็ก หม่า” ผู้ก่อตั้งอาลีบาบาเป็นผู้บริหารเรื่องสินค้าทั้งหมด โดยการเริ่มต้นจะต้องจ่ายค่าสมัคร 2,900 บาท หากเชิญชวนเพื่อนลงทุนได้จะได้ผลตอบแทน 1,000 บาท หรือรับหุ้นฟรี 3,000 หุ้น

ธปท.เตือนความเสี่ยงเงินดิจิทัล

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า กรณีที่มีการเชิญชวนการลงทุนเกี่ยวกับ cryptocurrency หรือ “สกุลเงินดิจิทัล” อย่างแพร่หลาย เช่น onecoin, bitcoin นั้น ธปท.เตือนว่า สกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกรองรับว่าเป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่เงินที่สามารถนำมาจับจ่ายใช้สอย หรือซื้อสินค้าต่าง ๆ แต่เป็นลักษณะที่เชิญชวนการลงทุนมากกว่า ซึ่งบางครั้งก็มีลักษณะคล้ายแชร์ลูกโซ่

โดยยอมรับว่า เห็นการร้องเรียนเข้ามามากขึ้น เกี่ยวกับการหลอกลวงให้ลงทุนผ่านสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ จึงอยากเตือนนักลงทุน ก่อนที่จะเข้าไปลงทุนเหล่านี้ ควรมีการศึกษาความเสี่ยงให้ดี หากไม่มีความรู้ หรือรู้ความเสี่ยงไม่มากพอ ก็ควรหลีกเลี่ยงการลงทุน

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ปัจจุบัน ธปท.ได้มีการเข้าไปศึกษาดูแลรวมถึงติดตามพัฒนาการเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งติดตามจากขนาดธุรกรรมการเข้าไปลงทุนผ่านสกุลเงินดิจิทัล หรือติดตามจำนวนนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนว่าธุรกรรมนี้เกิดขึ้นที่ไหนบ้าง มีความเสี่ยงอย่างไร ส่วนอนาคตจะเข้าไปกำกับให้เป็นรูปธรรมหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีการพูดถึงระดับนั้น สิ่งที่ ธปท.ทำได้ขณะนี้ คือ การออกเตือนประชาชนให้ถี่มากขึ้น ผ่านช่องทางของ ธปท. ทั้งศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) หรือการแถลงข่าวต่าง ๆ ที่อาจต้องเพิ่มความถี่ขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าการลงทุนเหล่านี้ถือว่ามีความเสี่ยง

“ธปท.มีการติดตามมากขึ้น ตั้งแต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการลงทุน ถามว่า ธปท.จะทำอะไรมากกว่าการเตือนหรือไม่ วันนี้เราคงไม่พูดล่วงหน้า ต้องทำก่อนแล้วค่อยบอกดีกว่าก็หวังว่า อนาคตคนจะเข้าใจการลงทุนสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการร้องเรียนเรื่องการหลอกลวงออกมาให้เห็นเยอะ” นายวิรไทกล่าว

จ่อกำกับหากกระทบทั้งระบบ

ด้านนางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ปัจจุบัน ธปท.อยู่ระหว่างมอนิเตอร์ สกุลเงินดิจิทัล และติดตามอย่างใกล้ชิด ดูข้อจำกัด ข้อดีข้อเสีย ส่วนการจะเข้าไปกำกับดูแลนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า ปริมาณและจำนวนการทำธุรกรรมมีมากอย่างมีนัยสำคัญ หรืออาจมีผลกระทบต่อระบบการเงินของประเทศก็ต้องเข้าไปดูแล

อย่างไรก็ตาม สกุลเงินดิจิทัลที่ถูกพูดถึงทุกวันนี้ แบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ การนำเงินมาลงทุน ระดมทุน เรื่องนี้มี ก.ล.ต. ติดตามอยู่ ส่วนการเอา coin มาซื้อขายสินค้า อันนี้ ธปท.ก็ดูอยู่ว่าหากต้องเข้ามาดูแลสกุลเงินเหล่านี้ จะทำในวัตถุประสงค์อะไร เช่นใช้ชำระสินค้า หรือเป็นเงินทุน ซึ่งแต่ละแนวทางก็มีผลกระทบที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้จากสถิติร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) พบว่า ไตรมาส 2 มีการร้องเรียนเกี่ยวกับภัยทางการเงิน 485 เรื่อง โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 181 เรื่อง หรือเพิ่มขึ้น 59.5% ข้อร้องเรียนส่วนใหญ่มาจากภัยทางการเงิน เช่น ได้รับการหลอกลวงทางโทรศัพท์ ผ่านการหลอกลวงรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือหลอกลวงทาง e-Mail หรือทาง social media และหลอกลวงให้ลงทุน โดยเฉพาะใน onecoin หรือ bitcoin หรือผ่านการธุรกรรม FX ในธุรกิจต่างประเทศ คล้ายแชร์ลูกโซ่ หรือลงทุนในทอง เป็นต้น

ก.ล.ต.ยันไม่ได้อนุมัติเงินดิจิทัล

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การเชิญชวนลงทุนในรูปแบบสกุลเงินดิจิทัล และลักษณะแชร์ลูกโซ่ ที่กำลังระบาดอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียขณะนี้ ขอชี้แจงว่า ก.ล.ต.ไม่ได้มีการอนุมัติแต่อย่างใด หลังจากนี้จะมีกฎหมายหรือระเบียบกำหนดเกี่ยวกับการลงทุนสกุลเงินดิจิทัลในไทยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงการคลัง ในส่วนของ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างศึกษา และเปิดรับฟังความคิดเห็นการระดมทุนรูปแบบ Initial Coin Offering (ICO) เพื่อเปิดให้มีการระดมทุน และเสนอขายเงินดิจิทัลเป็นหลักทรัพย์ เพื่อทำให้ผู้ต้องการระดมทุนรูปแบบ ICO ในระบบตลาดทุนอย่างถูกต้อง

ตลาดกลางซื้อขายไม่มีใครกำกับ

นายภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาอาวุโสด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระแสการลงทุนในบิตคอยน์เข้ามาในไทยระยะหนึ่งแล้ว แต่เริ่มฮิตมาก ๆ ในปีนี้ เนื่องจากราคาบิตคอยน์พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากปี 2559 ราคา 1 บิตคอยน์อยู่ที่ 400-500 เหรียญสหรัฐ ต้นปี 2560 ทะลุ 1,000 เหรียญสหรัฐ และเดือนนี้ทะลุ 7,500 เหรียญสหรัฐ (ราว 2.55 แสนบาท) แม้ราคาจะมีความผันผวนมาก แต่ก็ยังเป็นที่จูงใจของนักลงทุน

โดยการลงทุนบิตคอยน์ในไทย แบ่งได้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่มีความรู้ด้านไอทีที่จะลงทุนซื้ออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เชื่อมเข้าประมวลผลกับระบบของบิตคอยน์ เพื่อให้ได้บิตคอยน์มา หรือที่เรียกว่าการขุดบิตคอยน์ กับอีกกลุ่มที่เข้าไปซื้อขายบิตคอยน์ในตลาดกลางสำหรับซื้อขายบิตคอยน์ เหมือนการเทรดหุ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วบิตคอยน์เป็นแค่สกุลเงินดิจิทัลสกุลหนึ่ง ในร้อย ๆ สกุล แต่ได้รับความนิยมสูง และเป็นที่รู้จักในวงกว้างกว่าสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ โดยในประเทศไทยก็มีการเทรดบิตคอยน์ในเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น Bx.in.th มูลค่าอยู่ราวหลักร้อยล้านบาทต่อวัน

อย่างไรก็ตาม การลงทุนบิตคอยน์ในไทยยังไม่มีกลไกกำกับดูแลใด ผู้ที่จะเข้าไปเทรดเองในตลาดกลางก็ไม่ได้มีหลักประกันใด ๆ ว่า ผู้ที่ทำตัวเป็นตลาดกลางจะรักษาข้อตกลง จะไม่เชิดเงินหนีไป หรือถ้าเข้าไปร่วมลงทุนโดยมีผู้ที่ทำตัวเหมือนผู้จัดการกองทุน ก็ไม่มีหน่วยงานใดกำกับ เรื่องมาตรฐาน ความโปร่งใสในการบริหารจัดการเงินทุน หรือความสุจริตในการดำเนินการ

“บิตคอยน์” หรือ “แชร์ลูกโซ่”

นายภูมิกล่าวว่า ตอนนี้มีกระแสชวนคนเข้าไปลงทุนในบิตคอยน์หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ เยอะขึ้น มีทั้งกลุ่มที่เป็นการลงทุนในบิตคอยน์จริง ๆ ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่เกิดขึ้นเยอะในต่างประเทศ กับที่ตั้งใจมาหลอกลวงกันโต้ง ๆ อ้างเป็นบิตคอยน์ เป็นเงินดิจิทัล แต่จริง ๆ เป็นแชร์ลูกโซ่ ซึ่งกลุ่มหลอกลวงนี้ดูง่ายคือ ถ้ามีการันตีว่า เอาลงทุนเท่านี้แล้วจะได้ผลตอบแทนเท่านี้ทุกเดือน แบบนี้หลอกหลวงแน่นอน เพราะบิตคอยน์ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนได้ หรือมีผลตอบแทนพิเศษจากการชวนคนอื่นมาลงทุนเพิ่ม หรืออ้างว่าจะเอาเงินไปลงทุนบิตคอยน์ในประเทศใดแบบเจาะจง เพราะบิตคอยน์ลงทุนที่ไหนก็ได้ในโลก และลงทุนด้วยเงินเท่าไรก็ได้ไม่จำเป็นต้องกะเกณฑ์ว่าต้องเท่านั้นเท่านี้ สิ่งที่สำคัญ คือ ถ้าไม่รู้จักไม่เคยเห็นหน้าอย่าเชื่อใจไปลงทุน”

แนวทางที่ทำได้ดีที่สุด คือ ศึกษาหาความรู้ให้เข้าใจก่อนที่จะลงทุนด้วยตัวเอง แนวทางนี้ก็จะจำกัดความเสี่ยงในเรื่องที่จะถูกโกงได้มาก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงด้านความผันผวนโดยธรรมชาติของบิตคอยน์เอง

“การลงทุนบิตคอยน์ในไทยยังไม่มีหน่วยงานที่เชื่อถือได้มาปกป้อง ซึ่งองค์กรกำกับดูแลในไทยอย่าง ก.ล.ต. ธปท.ก็ต้องพิจารณาว่าจะเข้ามากำกับดูแลหรือไม่ ดังนั้นแม้แนวโน้มของตลาดลงทุนบิตคอยน์ในไทยปีหน้าจะยังขยายตัวอีกมาก แต่คงไม่เท่ากับที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่เติบโตสูงมาก มีการเทรดต่อวันมูลค่าเป็นแสนล้านบาท เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีการกำกับดูแลโดยองค์กรที่น่าเชื่อถือแล้ว”