เช็กหุ้นรับอานิสงส์ ศบค. ผ่อนคลายมาตรการ

เศรษฐกิจ

“บล.เอเซียพลัส” เปิดโผลิสต์หุ้นรับอานิสงส์ ศบค.ผ่อนคลายมาตรการ คาดหวังเงินในประเทศหนุนดัชนีสู่เป้าหมาย 1,670 จุด

วันที่ 27 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซีย พลัส จำกัด รายงานว่า สถานการณ์โควิดในไทยดูเหมือนว่าเริ่มทรงตัวและเห็นทิศทางที่ดีขึ้น 1.เช้านี้รายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ (New Case) อยู่ที่ 1.87 หมื่นราย (ต่ำกว่า 2 หมื่นรายติดต่อกัน 8 วัน และไม่ได้ทำจุดสูงใหม่ ที่สำคัญคือยังต่ำกว่าผู้หายป่วยใหม่(Recovery case) ที่ยืนเหนือ 2-2.1 หมื่นรายติดต่อกันราว 2 อาทิตย์)   

2.คาดการณ์การแพร่ระบาดของแพทยสภาแห่งประเทศไทย และกรมควบคุมโรค ล่าสุดที่นำเสนอ Model คาดว่าการระบาดของ COVID-19 ในไทยได้ผ่านจุดสูงสุด (Peak) ไปแล้ว และปัจจุบันเริ่มเข้าสู่การระบาดขาลง 

โดยรวมทำให้รัฐบาลเริ่มค่อยๆ ปลดล็อกผ่อนคลาย Lockdown กิจกรรมเศรษฐกิจใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม (สัดส่วนราว 75% ของ GDP ทั้งประเทศ) เริ่มตั้งแต่ 4 ส.ค. 64 ให้ร้านอาหารในห้างขาย Delivery ถัดมาคือ 18 ส.ค. ธนาคารพาณิชย์เปิดให้บริการในห้าง 

และล่าสุดวันที่ 1 ก.ย. 64  มีปลดล็อก 1.เปิดนั่งทานอาหารในร้าน โดยร้านที่ติดแอร์ให้ใช้พื้นที่ได้ 50% และร้านที่ไม่ติดแอร์ใช้พื้นที่ได้ 75% ทั้งนี้คาดว่าบริษัทจดทะเบียนที่ได้ Sentiment เชิงบวก คือ กลุ่มร้านอาหาร อาทิ M, AU, MINT และกลุ่มห้างสรรพสินค้า อาทิ  CPN, CRC 

2.) เปิดร้านเสริมสวย, ร้านนวดเท้า, สถานเสริมความงาม โดยมุมมองฝ่ายวิจัยประเมินว่าการ Lockdown น่าจะผ่านจุดที่เข้มงวดมากที่สุดไปแล้ว คาดหลังจากนี้ท่าทีของรัฐบาลน่าจะค่อยๆ ทยอยผ่อนคลายเพิ่มขึ้นๆ ในระยะถัดไป คาดน่าจะทยอยเปิดกิจกรรมส่วนอื่นๆ อาทิ ร้านขายอุปกรณ์ต่างๆ ในห้าง, โรงหนัง ฯลฯ 

โดยรวมเชื่อว่าจะส่งผลต่อ 1.เศรษฐกิจไทย ประเมินเป็นบวก เพราะประเมินกิจกรรมเศรษฐกิจในส่วนของธุรกิจที่ปลดล็อกคาดจะเพิ่มขึ้น ประชาชนน่าจะมีการเดินทางออกจากบ้านมากขึ้น โดยรวมประเมินลด Downside เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดการปรับคาดการณ์ลดลงเป็นบวกกับตลาดหุ้นไทย 

2.หุ้นในกลุ่มเปิดเมือง (Reopen) คาดบางกลุ่มธุรกิจที่รัฐบาลยังไม่ปลดล็อกยังมีกระแสเก็งกำไรในอนาคต หรือปลดล็อกไปแล้วก่อนหน้า คาดจะยังมีกระแสบวกหนุนราคา 

สำหรับภาพตลาดหุ้นไทยอาจผันผวนช่วงสั้น แต่คาดหวังเงินในประเทศหนุนดัชนีสู่เป้าหมาย 1,670 จุด โดยการกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้นในหลายๆ ประเทศ ถือเป็นการลดระดับสภาพคล่องส่วนเกินในระบบลง ทำให้คาดหวังเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาหนุนตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องยากขึ้น 

อย่างไรก็ตามในประเทศไทยน่าจะยังไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยเร็วนี้ และมีโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ด้วยซ้ำ สังเกตได้จากการประชุมในรอบที่แล้ว มีคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ถึง 2 ท่านแนะนำให้ลดดอกเบี้ยลง ทำให้น่าจะยังเห็นการ Search For Yield ของนักลงทุนในประเทศต่อเนื่อง อาทิ ในปีนี้ SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นมา 10.5% (ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน) ภายใต้แรงผลักดันจากนักลงทุนรายย่อยเป็นหลัก ที่ซื้อสุทธิสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับ 3 นับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลในปี 1992