สมรภูมิเงินกู้ดิจิทัลเดือด พิษโควิดยอดกู้ทะลัก-“แกร็บ” ลงสนาม

สมรภูมิเงินกู้ดิจิทัลร้อนแรง โควิดทุบประชาชนขาดสภาพคล่องหนัก “แบงก์-น็อนแบงก์-ฟินเทค” ปูพรมแพลตฟอร์มปล่อยกู้เงินด่วน ธปท.ไฟเขียว “แกร็บ” ได้ไลเซนส์ดิจิทัลพีโลนลงสนามเต็มตัว “SCB-เคแบงก์” กางปีกจับมือสตาร์ตอัพรักษาฐานตลาด ล่าสุดฟินเทคจีนจับมือ SCB เปิดตัว “ฟินนิกซ์” ปล่อยกู้ลูกค้าที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อแบงก์ 36 ล้านคน LINE BK เผยลูกค้ายื่นกู้ทะลักวันละ 2 หมื่นราย “เซ็นทรัล-ซี.พี.-บีทีเอส” ร่วมสมรภูมิ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องรุนแรง ส่งผลให้เกิดความต้องการเงินกู้เข้ามาเสริมสภาพคล่องอย่างมาก ขณะเดียวกัน พบว่าปัจจุบันทั้งธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ได้เข้ามาแข่งขันให้บริการ “เงินกู้ดิจิทัล” อย่างร้อนแรง ในหลากหลายแพลตฟอร์ม ภายใต้ใบอนุญาตต่าง ๆ ทั้งสินเชื่อบุคคล, นาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อบุคคลดิจิทัล ซึ่งเป็นใบอนุญาตรูปแบบใหม่ที่เพิ่งมีการให้ใบอนุญาตในปีนี้

“แกร็บ” รับไลเซนส์แบงก์ชาติ

นางนวอร เดชสุวรรณ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ธปท.ได้อนุมัติให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ได้ใบอนุญาต “สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” (digital personal loan) เพิ่มอีก 1 ราย คือ บริษัท จีฟิน เซอร์วิสเซส (ที) จำกัด เป็นผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจขนส่ง คาดว่าจะเริ่มปล่อยสินเชื่อได้ในไตรมาส 2 ปี 2565 โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาช่องทางและระบบความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด

ทั้งนี้ สินเชื่อบุคคลดิจิทัลเป็นใบอนุญาตรูปแบบใหม่ที่ ธปท.เพิ่งเปิดให้ยื่นขออนุญาตในปีนี้ เป็นการปล่อยกู้วงเงินขนาดเล็กไม่เกิน 2 หมื่นบาท ชำระคืนภายใน 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 25% เปิดให้ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเข้ามาปล่อยสินเชื่อ โดยการใช้ข้อมูลทางเลือกมาใช้ในการให้บริการ โดยต้นปี ธปท.ได้อนุมัติไปแล้ว 2 ราย คือ บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด เป็นบริษัทในเครือ SEA Group ทุนสิงคโปร์เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “ช้อปปี้” และบริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด หนึ่งในธุรกิจของกลุ่มทรู ในเครือ ซี.พี.

ช้อปปี้-ทรูปล่อยกู้ 2.5 พัน ล.

นางนวอรกล่าวว่า หลังจากที่เริ่มให้ใบอนุญาตไป 2 ราย คือ ซีมันนี่ฯและแอสเซนด์ นาโน ซึ่งเริ่มมีการปล่อยสินเชื่อตั้งแต่เดือน ก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่ายอดสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีผู้ได้รับสินเชื่อทั้งสิ้น 2.5 แสนราย วงเงินสินเชื่อราว 2,400 ล้านบาท วงเงินเฉลี่ย 3,000-4,000 บาทต่อราย

“ในแง่ของคุณภาพสินเชื่อยังอยู่ระหว่างการประเมิน เนื่องจากผู้ประกอบการเพิ่งเริ่มปล่อยกู้ไม่นาน เชื่อว่าคุณภาพสินเชื่อน่าจะค่อนข้างดี เนื่องจากวงเงินขนาดเล็กและระยะเวลาชำระคืนไม่นานมากนัก”

นางนวอรกล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุด ธปท.ได้ปรับเกณฑ์ดิจิทัลพีโลน โดยเพิ่มเพดานปล่อยกู้จากไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อราย เป็นไม่เกิน 4 หมื่นบาท และขยายระยะเวลาการชำระคืนหนี้จาก 6 เดือน เป็น 12 เดือน (สิ้นสุดธันวาคม 2565) เนื่องจากต้องการช่วยเหลือประชาชน หรือพ่อค้าแม่ค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งต้องการสภาพคล่องหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน ทำให้ได้รับวงเงินกู้มากขึ้น แต่ภาระในการผ่อนชำระแต่ละงวดบัญชีจะลดลง เพราะมีการขยายเทอมการชำระคืนออกไป

“แกร็บ” ซุ่มชิงเค้กเงินกู้

ขณะที่นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัท จีฟิน เซอร์วิสเซส (ที) จำกัด เป็นบริษัทในเครือแกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย ล่าสุดเพิ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล จาก ธปท.สำหรับแผนการให้บริการสินเชื่อขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงาน

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา แกร็บก็มีบริการสินเชื่อดิจิทัลให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ใช้เทคโนโลยีและข้อมูลจากการให้บริการ ทั้งของพาร์ตเนอร์ที่เป็นคนขับ (ไรเดอร์) ผู้จัดส่งอาหารและพัสดุ และพาร์ตเนอร์ที่เป็นร้านค้า โดยเป็นการร่วมมือกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาปล่อยกู้นาโนไฟแนนซ์

จับตา “ฟินเทค” รุกผู้เล่นหลัก

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตค่อนข้างมาก เนื่องจากมีคนกู้นอกระบบ หรือกลุ่ม unbank ที่ไม่มีหลักฐานทางการเงิน ประวัติการชำระหนี้ผ่านบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) หรือไม่มีบัญชีเงินฝากที่ต้องการสภาพคล่องจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ดังนั้น สินเชื่อนี้จะมาช่วยตอบโจทย์กลุ่มนี้ ภายใต้การกำกับของ ธปท.ในด้านความเสี่ยงและอัตราดอกเบี้ยที่ควบคุมอยู่ที่ 25%

“จะเห็นผู้แข่งขันโดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) เข้ามาเป็นผู้เล่นหลักในตลาดนี้แทนสถาบันการเงิน ซึ่งการผ่อนคลายขยายวงเงินจาก 2 หมื่นบาท เป็น 4 หมื่นบาท และขยายระยะเวลาชำระจาก 6 เดือน เป็น 12 เดือน จะยิ่งหนุนตลาดนี้เติบโตมากขึ้น” นายเอกสิทธิ์กล่าว

SCB ผนึกฟินเทคลงทุกสนาม

สำหรับการปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ digital lending มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มฟินเทค ที่เข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ชัดเจน สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินจากสถาบันการเงินได้ ทำให้เกิดแอปเงินกู้ฟินเทคเพิ่มขึ้นเป็นทางเลือก โดยล่าสุดบริษัท มันนิกซ์ จำกัด หรือ “MONIX” เป็นบริษัทฟินเทคร่วมทุนระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ และ Abakus Group จากประเทศจีน สร้างแพลตฟอร์ม “ฟินนิกซ์” (FINNIX) แอปพลิเคชั่นเงินกู้ เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท

นางสาวถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท มันนิกซ์ จำกัด กล่าวว่า แอปพลิเคชั่น “ฟินนิกซ์” เป็นแอปเงินกู้คู่คนทำมาหากิน โดยเป้าหมายต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน โดยปัจจุบันมีอยู่ถึง 36 ล้านคน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีประมาณ 28 ล้านคน ที่ประกอบอาชีพอิสระ และอีก 8 ล้านคน ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ดังนั้น ฟินนิกซ์จะมาตอบโจทย์กลุ่มนี้ โดยเบื้องต้นบริษัทตั้งเป้าช่วยเหลือกลุ่มนี้ราว 7.2 ล้านคน ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อที่ถูกกฎหมายภายใต้ใบอนุญาต “นาโนไฟแนนซ์” โดยคิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 33%

นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ยังมีบริการแอป “เงินทันเด้อ” ภายใต้บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด ที่ใช้เทคโนโลยีเอไอมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ชูจุดเด่นรู้ผลใน 15 นาที หลังจากยื่นขอสินเชื่อและรับเงินใน 24 ชั่วโมง โดยให้สินเชื่อภายใต้ใบอนุญาตนาโนไฟแนนซ์ ดอกเบี้ย 33% ต่อปี

LINE BK ลูกค้าทะลัก

ด้านบริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด หรือที่รู้จักกัน “LINE BK” บริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารกสิกรไทยกับบริษัท ไลน์ คอร์ป นายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE BK เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ลูกค้าเข้ามาใช้บริการขอสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 จะเห็นว่ามีความต้องการสินเชื่อค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยเข้ามา 1-2 หมื่นรายต่อวัน

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าลูกค้าที่เข้ามาส่วนใหญ่ไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ ถูกปฏิเสธสินเชื่อ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง เช่นเดียวกับบริษัทที่สถานการณ์ปัจจุบันยอดการอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่ประมาณ 10% เท่านั้น เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ส่วนลูกค้าเดิมหลังได้รับผลกระทบจากโควิด ก็ทำให้มีอัตราการค้างชำระเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 1-2%

โดยปัจจุบันบริษัทมีบริการวงเงินให้ยืม (digital lending) ภายใต้แคมเปญ “ยืม LINE ง่ายกว่า” ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ ทำให้มีความต้องการสินเชื่อเข้ามาค่อนข้างมาก โดยมีลูกค้าสมัครขอวงเงินสินเชื่อกว่า 4 ล้านราย และมียอดการอนุมัติอยู่ที่ 3.5 แสนบัญชี ยอดเบิกใช้วงเงินอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท และเมื่อกลางปีที่ผ่านมาก็ได้ขยายบริการปล่อยกู้ภายใต้ใบอนุญาตนาโนไฟแนนซ์ สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 33% ต่อปี

เคแบงก์ปล่อยกู้บนแอปโต 2 เท่า

ขณะเดียวกัน ธนาคาพาณิชย์ก็มีการพัฒนาแพลตฟอร์มปล่อยสินเชื่อบุคคล ผ่านช่องทางดิจิทัลหรือโมบายแอปพลิเคชั่นมากขึ้น นอกจากการปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางสาขาปกติ เพื่อการเข้าถึงหรือขยายฐานลูกค้าได้กว้างขวางขึ้น โดยธนาคารกสิกรไทย ล่าสุดเปิดบริการสมัครสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชั่น “K PLUS” ด้วย 3 บริการสินเชื่อส่วนบุคคล ได้แก่ สินเชื่อเงินด่วน Xpress Loan บัตรเงินด่วน Xpress Cash และบัตรเครดิตกสิกร เน้นสมัครง่าย รู้ผลอนุมัติภายใน 15 นาที

โดยรายงานข่าวจากธนาคารกสิกรไทยเปิดเผยว่า หลังจากเปิดบริการสมัครสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตผ่าน K PLUS ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/64 ได้ผลตอบรับจากลูกค้าอย่างล้นหลาม โดยยอดสมัครสินเชื่อบุคคลผ่าน K PLUS มีสัดส่วนถึง 53% จากยอดสมัครทุกช่องทาง ขณะที่แนวโน้มความต้องการสินเชื่อบุคคลมีแนวโน้มเติบโต โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2564 เติบโตขึ้น 2-3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

SCB EASY แห่ยื่นกู้ 3 ล้านราย

ขณะที่ ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มดิจิทัลแบงกิ้ง ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การให้บริการสินเชื่อผ่านดิจิทัลบนแอปพลิเคชั่น “SCB EASY” ภายใต้บริการ “Speedy Loan” และ “Speedy Cash” ลูกค้าให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ มีใบคำขอสินเชื่อส่งเข้ามามากกว่า 3 ล้านใบ โดยธนาคารมีความเข้าใจว่าความต้องการของลูกค้าในตลาดสินเชื่อดิจิทัลที่ต้องการใช้เงินด่วน จึงออกแบบการอนุมัติสินเชื่อให้มีความรวดเร็ว และโอนเงินเข้าบัญชีทีนทีหลังทราบผลอนุมัติ

สำหรับธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีการเสนอสินเชื่อดิจิทัลปล่อยกู้ผ่านแอปพลิเคชั่น “KMA” ภายใต้สินเชื่อบุคคล “Krungsri iFIN” รู้ผลภายใน 1 วัน วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาท หรือไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 25%

ด้านนางสาวพัทธ์หทัย กุลจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ภายใต้แบรนด์ “เฟิร์สช้อยส์” กล่าวว่า ตลาดสินเชื่อดิจิทัลแนวโน้มการแข่งขันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ในส่วนของเฟิร์สช้อยส์หลังจากเปิดตัว “U CASH” สินเชื่อดิจิทัลผ่านแอป “UCHOOSE” เพื่อใช้เป็นเงินสดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ผลตอบรับค่อนข้างดี โดยมียอดปล่อยกู้ใหม่สูงถึง 1,000 ล้านบาทต่อเดือน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเงินสดผ่าน U CASH ปีนี้อยู่ที่ 8,500 ล้านบาท

บีทีเอส-เซ็นทรัลร่วมศึก

นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ยังมี บมจ.อิออน ธนทรัพย์ (ไทยแลนด์) ได้ร่วมทุนกับ “แรบบิท กรุ๊ป” ในเครือบีทีเอส และ “ฮิวแมนิก้า” ตั้งบริษัท “แรบบิท แคช” เพื่อปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เน้นทำตลาด 2 กลุ่ม คือ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ปล่อยกู้กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หรือธุรกิจขนาดเล็กที่มีรายได้ไม่ชัดเจน และกลุ่มพนักงานองค์กร จะเป็นการปล่อยสินเชื่อสวัสดิการอัตราดอกเบี้ยต่ำผ่านบัญชีเงินเดือนของฮิวแมนิก้า

รวมทั้งบริษัท เซ็นทรัล เจดี มันนี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเครือเซ็นทรัล และบริษัท เจดี ผู้นำด้านค้าปลีกออนไลน์จากประเทศจีน ได้เปิดบริการ “Dolfin Money” วงเงินพร้อมใช้ โดยร่วมกับธนาคารกสิกรไทย อนุมัติไวภายใน 5 นาที อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกสูงสุดไม่เกิน 25% วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ผ่อนชำระสูงสุด 36 เดือน

ซี.พี.บุกตลาดเงินดิจิทัล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) สยายปีกเข้าสู่ธุรกิจเทคโนโลยีด้านการเงิน (ฟินเทค) ภายใต้กลุ่มแอสเซนด์ กรุ๊ป 1 ใน 3 สาขาธุรกิจ คือ บริการด้านการเงินดิจิทัลหรือ “อีมันนี่” ครอบคลุมตั้งแต่กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีวอลเลต) ในชื่อ “ทรูมันนี่” ปัจจุบันมีฐานผู้ใช้กว่า 19 ล้านราย และขยายสู่ธุรกิจให้บริการสินเชื่อ micro credit โดยบริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด ให้บริการสินเชื่อสำหรับลูกค้าตามคุณสมบัติที่บริษัทกำหนด เช่น วงเงินกู้กับลูกค้ากลุ่มทรูที่มีบัตรทรูการ์ด (4 เท่าของรอบบิลทรูรายเดือน แต่ไม่เกิน 10,000 บาท) แบ่งจ่ายสูงสุด 3 เดือน อัตราดอกเบี้ยปกติอยู่ที่ 24% ต่อปี

ปัจจุบันมีบริการสินเชื่อดิจิทัล 3 รูปแบบ ได้แก่ สินเชื่อสำหรับซื้ออุปกรณ์สื่อสาร (device loan) ผ่อนสูงสุด 36 เดือน และบริการ micro credit กับลูกค้าทรูที่ถือบัตรทรูการ์ด และบริการวงเงินพร้อมใช้ (pay next)

เจมาร์ทจ่อยื่นไลเซนส์ปล่อยกู้

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ มาร์ท กล่าวในวันประกาศความร่วมมือกับกลุ่มบีทีเอส ว่า หลังกลุ่มบีทีเอส โดยบริษัท วีจีไอ และยูซิตี้ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในเจมาร์ท และซิงเกอร์ ก็จะผนึกกำลังร่วมกันโดยดึงศักยภาพในการดำเนินธุรกิจด้าน offline-to-online (O2O) ทั้งในธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจบริการชำระเงิน และธุรกิจโลจิสติกส์ รวมกับความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลทำให้บริษัทเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น

“รวมถึงบริการสินเชื่อของซิงเกอร์ ต่อไปก็จะพัฒนาเข้าไปให้สินเชื่อกับไรเดอร์ของเคอรี่ฯ รวมถึงเครือข่ายปิกอัพที่อาจต้องการเงินทุนเพิ่มเติม ซึ่งคนกลุ่มนี้แต่เดิมเข้าไม่ถึงสินเชื่อธนาคาร แต่จากความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล และฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่เราก็จะสามารถปล่อยกู้ให้กับคนกลุ่มนี้ได้”


นอกจากนี้ กลุ่มเจมาร์ทอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตให้บริการสินเชื่อบุคคลดิจิทัลกับ ธปท.เช่นกัน ภายใต้บริษัท เคบีเจ แคปิตอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเคบี คุกมิน การ์ด จากเกาหลีใต้ และเจมาร์ท