หุ้นไอพีโอ “BBIK” เปิดเทรดวันแรก 36.75 บาท ราคาเหนือจองพุ่ง 104%

“บลูบิค กรุ๊ป (BBIK)” หุ้นเทคโนโลยี เปิดซื้อขายวันแรก 36.75 บาท ราคาเหนือจอง 104.17% ปรับตัวเพิ่มขึ้น 18.75 บาท จากราคาไอพีโอที่ 18 บาท เล็งนำเงินซื้อกิจการ-ว่าจ้างคนเทคฯ-พัฒนาซอฟต์แวร์-ขยายพื้นที่สำนักงาน-ทุนหมุนเวียน จ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 50%

วันที่ 16 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ธุรกิจที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยีและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้เริ่มซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) วันนี้เป็นวันแรกในหมวดเทคโนโลยี(Technology) โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “BBIK” จำนวนหุ้นที่เสนอขาย 25 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายครั้งนี้ มีมูลค่าการเสนอขายรวม 450 ล้านบาท โดยมีราคาเปิดตลาดวันแรกอยู่ที่ 36.75 บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 18.75 บาท หรือคิดเป็น 104.17% จากราคาเสนอขายครั้งแรก (IPO) ที่ราคา 18 บาทต่อหุ้น

โดยสัดส่วนการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.บุคคลตามดุลพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 12.5 ล้านหุ้น คิดเป็น 50% 2.ผู้ลงทุนสถาบัน 6.25 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% 3.ผู้มีอุปการคุณของบริษัท 3.75 ล้านหุ้น คิดเป็น 15% 4.พนักงานของบริษัทและบริษัทย่อย 2.5 ล้านหุ้น คิดเป็น 10%

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BBIK กล่าวว่า บริษัทมีวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนในครั้งนี้ประมาณ 431.63 ล้านบาท (หลังจากหักค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้แล้ว โดยจะนำเงินไปใช้ดังนี้

นายพชร อารยะการกุล

1.เพื่อใช้ว่าจ้างบุคลากรและเสริมสร้างทักษะด้านเทคโนโลยีให้กับบุคลากรเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจของกลุ่มบริษัท จำนวน 67.50 ล้านบาท ช่วงปี 2564 จนถึงไตรมาส 2/2565

2.เพื่อใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล จำนวน 67.50 ล้านบาท ช่วงปี 2564 จนถึงไตรมาส 4/2565

3.เพื่อใช้พัฒนาและปรับปรุงซอฟต์แวร์สำหรับใช้งานภายในองค์กร จำนวน 22.50 ล้านบาท ช่วงปี 2564 จนถึงไตรมาส 4/2565

4.เพื่อใช้ขยายพื้นที่สำนักงาน จำนวน 45 ล้านบาท ช่วงปี 2564 จนถึงไตรมาส 4/2565

5.เพื่อใช้ลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มบริษัท ซึ่งขึ้นอยู่กับโอกาสทางธุรกิจและความเหมาะสมในการลงทุนในอนาคต ซึ่งอาจจะรวมถึงการควบรวมหรือการซื้อกิจการ จำนวน 135 ล้านบาท ช่วงปี 2564 จนถึงไตรมาส 4/2565

6.เงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท ส่วนที่เหลือจากที่ระบุไว้ข้างต้น ช่วงปี 2564 จนถึงไตรมาส 4/2565

 

ในปี 2564 ประเมินภาพรวมตลาด Digital Transformation ในประเทศไทย จะมีมูลค่ารวม 280,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 442,000 ล้านบาท ในปี 2568 ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตของ GDP เฉลี่ยปีละ 0.4% (อ้างอิงจากข้อมูลของ Microsoft และไอดีซี เอเชีย-แปซิฟิก) สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวของตลาดโลก ซึ่งในปี 2563 มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 469,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,009,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 16.5% ต่อปี (ข้อมูลจาก Markets and Markets)

การขยายตัวของตลาดสืบเนื่องมาจากบริษัทต่าง ๆ เห็นถึงความจำเป็นในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานสู่ดิจิทัล ส่งผลให้การใช้งานระบบเชื่อมต่อข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต (IOT), Big Data และเทคโนโลยีคลาวด์ มีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้น โดยมีโควิดเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในองค์กร เพื่อรับมือกับกระแสดิสรัปชั่นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)

 

โดย BBIK มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิจากงบฯเฉพาะกิจการ หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล เงินสำรองตามกฎหมาย และเงินสำรองต่าง ๆ ทั้งหมดในแต่ละปีที่มีผลกำไรจากการดำเนินงาน

 

ขณะที่ผลการดำเนินงานปี 2561-2563 มีรายได้จากการขายและบริการ 132.76 ล้านบาท 184.94 ล้านบาท และ 200.53 ล้านบาทตามลำดับ เติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 22.90% และมีกำไรสุทธิ 19.22 ล้านบาท 31.71 ล้านบาท และ 44.29 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 51.8% ส่วนในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีรายได้จากการขายและบริการ 126.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรสุทธิ 30.06 ล้านบาท คิดเป็นอัตราทำกำไรสุทธิที่ 23.67%

 

ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 บริษัทจะรับรู้รายได้จากบริษัท ออร์บิท ดิจิทัล จำกัด (ORBIT) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ถือหุ้นผ่านบริษัทย่อย 40% และบริษัท ถือหุ้น 60% เพื่อเติมเต็มนวัตกรรมและศักยภาพด้านดิจิทัลสู่การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่การเพิ่มมูลค่าและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับ OR เป็นผู้นำด้านดิจิทัลในอุตสาหกรรมค้าปลีกต่อไป

 

ทั้งนี้ BBIK ประกอบธุรกิจในการเป็นธุรกิจที่ปรึกษาด้านกลุยทธ์และการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยีและ
ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งด้านธุรกิจและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการสร้างสรรค์และนำเสนอบริการเพื่อให้คำแนะนำ และความช่วยเหลือแก่ลูกค้าในการเตรียมความพร้อมทางธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล โดยปัจจุบันแบ่งประเภทการให้บริการตามลักษณะการประกอบธุรกิจได้เป็น 5 ประเภทคือ

1.บริการให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการ (Management Consulting)

2.บริการที่ปรึกษาการบริหารจัดการโครงการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic PMO)

3.บริการพัฒนาระบบดิจิทัลและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี (Digital Excellence and Delivery) โดยบลูบิคและออร์บิท (สำหรับลูกค้าในเครือโออาร์)

4.บริการที่ปรึกษาด้านการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Big Data & Advanced Analytics) โดยบลูบิค และอินเจนิโอ
(Approved Supplier List) และจะส่งมอบงานใหแก่อินเจนิโอเป็นผู้ดำเนินงานโครงการ

5.บริการด้านทรัพยากรบุคคลชั่วคราวที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอที (IT Staff Augmentation) โดยแอดเดนด้า

สัดส่วนรายได้ BBIK

สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นหลังการเสนอขายหุ้น IPO มีดังนี้