รู้จัก CPANEL เตรียมเทรด mai วันนี้ (30 ก.ย.)

รู้จัก CPANEL

ทำความรู้จัก บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) หรือ CPANEL เข้าซื้อขายในตลาด mai วันที่ 30 ก.ย.         

วันที่ 29 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จะเพิ่มหลักทรัพย์เข้ามาซื้อขาย จำนวน 2 บริษัท ในวันที่ 30 กันยายนนี้ หนึ่งในนั้นคือ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) หรือ CPANEL

โดย CPANEL จะเข้าซื้อขายในตลาด mai ในกลุ่มอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง โดยมีจำนวนหุ้นจดทะเบียนกับ ตลท. 150 ล้านหุ้น (พาร์ 1 บาท) จำนวนหุ้น IPO 39.5 ล้านหุ้น จัดสรรให้แก่ประชาชนทั่วไป 35.55 ล้านหุ้น และกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานของบริษัทหรือบริษัทย่อย (ESOP) จำนวน 3.95 ล้านหุ้น ราคา IPO (บาท) 6.00 ตามรายงานของตลาด mai 

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ CPANEL ซึ่งในการเสนอขายหุ้น IPO เมื่อวันที่ 21-23 กันยายนที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี

CPANEL คืออะไร ?

บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) (CPANEL) คือผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete) ด้วยระบบอัตโนมัติ (Fully Automated Precast) สำหรับงานก่อสร้างทุกประเภท ภายใต้เครื่องหมายการค้า “CPanel”

นอกจากการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด บริษัทยังเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนการผลิต โดยมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้บริการตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ขั้นตอนการผลิต และขั้นตอนการจัดส่ง 

แนวคิดในการก่อตั้ง CPANEL

เส้นทางเศรษฐี รายงานว่า ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในธุรกิจก่อสร้าง “ชาคริต ทีปกรสุขเกษม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) มองว่า ในอนาคตต้องมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมก่อสร้างใหม่ ๆ เข้ามาแทนแรงงานคนแน่นอน เพราะนับวันแรงงานยิ่งหายาก และค่าแรงยิ่งเพิ่มขึ้น จึงได้หันมาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังนานกว่า 2 ปี

กระทั่งได้ข้อสรุปว่าจะผลิตผนังคอนกรีตสำเร็จรูป โดยใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรการผลิตระบบ Fully Automatic ซึ่งมีความทันสมัยและได้รับการยอมรับในระดับสากล และเป็นรายแรกในประเทศไทยที่ไม่ใช่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้นำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้  โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ระยะเวลาการพัฒนาสินค้าของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สู่ตลาดนั้นสั้นที่สุด ในต้นทุนที่ดีที่สุด และเพื่อให้บ้านที่มีคุณภาพที่สุด

“สมัยก่อนลูกค้ากลุ่มผู้พัฒนาอสังหาฯ จะเข้าใจว่า Precast มีกระบวนการที่ยาก ใช้เวลาอย่างน้อย 8 เดือน กว่าจะได้บ้านหลังแรก หลังจากที่ผมเปิดโรงงานมา ลูกค้ารายแรก ๆ ใช้เวลาแค่ 90 วัน ตอนนี้เหลือ 45-60 วัน และที่เคยทำให้เร็วที่สุดอยู่ที่ 25 วัน หลังจบราคา (แบบที่ไม่เคยมีการสร้างบ้านแบบนั้นๆ เลย) ลูกค้าก็มีโครงสร้างบ้านหลังแรกพร้อมทำงานระบบและงานสถาปัตย์แล้ว ยังไม่นับว่าหากมีการก่อสร้างต่อเนื่อง เฉพาะโครงสร้างบ้านลูกค้า สามารถลดเวลาในส่วนโครงสร้างบ้านได้ถึง 80%” ผู้บริหารซีแพนเนลกล่าวและว่า

นอกจากความรวดเร็วแล้ว ยังสามารถลดแรงงานได้ประมาณ 90% คือถ้าจะผลิตบ้าน 2 ชั้นให้ได้ 300 หลัง เฉพาะในส่วนของงานโครงสร้างการก่อสร้างแบบก่ออิฐฉาบปูน (conventional) ใช้คนประมาณ 1,000 คน ระยะเวลาก่อสร้าง 60 วัน/หลัง Precast แบบ manual ใช้คนประมาณ 700 คน ผลิตไม่ต่ำกว่า 48 ชั่วโมง ระยะเวลาติดตั้ง 10 วัน/หลัง Precast แบบ Automatic ใช้คนประมาณ 100-200 คน ผลิตไม่เกิน 24 ชั่วโมง ระยะเวลาติดตั้ง 7 วัน/หลัง

Business model ของ CPANEL

“Business model ของ CPANEL คือ Experience and Words of Mouth เน้นการสร้างประสบการณ์การใช้ Precast ของลูกค้า ใช้แล้วต้องมีคำสั่งซื้อซ้ำและต่อเนื่อง มีการบอกต่อ ซึ่งทำให้ฐานลูกค้าของ CPANEL ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ

“ในฐานะเจ้าของกิจการ ผมต้องการสร้างวัฒนธรรมให้พนักงานพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เรียนรู้เป็นคนที่เก่งขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ลูกค้าสามารถคุยงานกับพนักงานของ CPANEL ได้ทุกคน ให้พนักงานทุกคนมีมาตรฐานเดียวกันหมด” ชาคริตกล่าว พร้อมอธิบายเสริมว่า

“CPANEL มีความเป็นไชนิสแฟมิลี่ค่อนข้างมาก ผมพยายามทำให้พนักงานรู้สึกว่าสามารถฝากชีวิตกับเราได้ ถ้าอยู่กับผมต้องมีความเป็นมืออาชีพ ต้องทำงานเป๊ะ ผมมีการวางแผนอาชีพให้พนักงาน มีแนวทางการเติบโตในสายอาชีพ ทักษะอะไรที่ควรมีก็หาคนมาเทรนนิ่ง รวมถึงดูจุดอ่อนจุดแข็งของพนักงานด้วย เพื่อสนับสนุนให้เขามีพัฒนาการที่ดีกว่าเดิม”

ผลตอบรับจากลูกค้า

ชาคริตเล่าว่า ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ลูกค้าให้ความเชื่อใจ ไว้วางใจ มากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันมีลูกค้าหลายแห่งที่ปฏิบัติกับบริษัทเหมือนเป็นหนึ่งในทีมของเขา

“ทีม CPANEL จะนั่งทำงานคู่กับทีมออกแบบของลูกค้า เพื่อช่วยลดต้นทุนตั้งแต่เริ่มคิดโปรเจ็กต์ อีกเรื่องคือลักษณะการสั่งซื้อของลูกค้า ส่วนใหญ่เลือก CPANEL อยู่แล้ว แต่ก็มีบางรายที่ลูกค้าต้องซื้อของเจ้าอื่นด้วยเพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะไม่อยากผูกขาดไว้กับรายเดียว ซึ่ง CPANEL เป็น Supplier รายแรกที่ลูกค้าไว้วางใจเลือกใช้ เราขอให้เราได้นั่งในตำแหน่ง Preferred Partner”

เป้าหมายการระดมทุน

ชาคริต กล่าวว่า การระดมทุนจะส่งผลให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจและสร้างการเติบโตได้ตามกรอบเวลาที่ทางบริษัทวางไว้

“ภายหลังการระดมทุน บริษัทพร้อมเดินหน้าก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ด้วยระบบการผลิต Fully Automated ที่มีกำลังการผลิต 720,000 ตร.ม. ต่อปี หรือเท่ากับกำลังการผลิตเพิ่มอีก 1 เท่าตัว เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต รวมถึงชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังจากหักสำรองต่าง ๆ” 

ด้าน นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เผยว่า ภายหลังการระดมทุน CPANEL จะสามารถสร้างการเติบโตเพิ่มขึ้น จากฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และความพร้อมในการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับความต้องการ Precast Concrete มีแนวโน้มสูงขึ้น จากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

รวมถึงข้อกฎหมายที่กำหนดจำนวนแรงงานในพื้นที่ก่อสร้าง โดย CPANEL ถือเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสากล เชื่อว่าจะมีโอกาสเติบโตได้อีกในอนาคต

“ชาคริต ทีปกรสุขเกษม” ผู้ก่อตั้ง

“ชาคริต” เป็นลูกชายคนเล็กของ “ประทีป ทีปกรสุขเกษม” ผู้ปลุกปั้น บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี (CCP) ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่เกี่ยวข้องงานสาธารณูปโภคอย่างครบวงจร จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ตั้งแต่ปี 2526

“ชาคริต” ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ สืบทอดกิจการครอบครัว เมื่อ 30 ธันวาคม 2549 หรือประมาณ 3 ปี หลังจากบริษัทฯเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เส้นทางเศรษฐีเล่าภูมิหลังของ “ชาคริต” ไว้ว่า เขาเติบโตขึ้นจากการเลี้ยงดูแบบคนจีนโบราณ ที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ผ่านความยากลำบาก จึงสั่งสอนให้ลูก ๆ ประหยัด ขยัน และอดทน

“ในส่วนของการทำธุรกิจ คุณพ่อสอนว่า ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจไหน การได้เป็นเจ้าแรกของธุรกิจนั้น จะทำให้เราอยู่ในจุดที่ได้เปรียบเสมอ ไม่เพียงแค่นั้น เรายังต้องตั้งเป้าหมายให้สูงและสามารถต่อยอดธุรกิจได้ ทำให้จากธุรกิจครอบครัวเล็ก ๆ เติบโตมาได้จนถึงทุกวันนี้” ชาคริตกล่าว

เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการเงินและการธนาคาร                 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ชาคริต” ออกแสวงหาประสบการณ์ด้านการเงินในหลากหลายรูปแบบ โดยในช่วงเริ่มต้นการทำงาน ได้ร่วมงานกับหน่วยงานด้านการเงินหลายแห่ง เช่น ธนาคารดีบีเอสไทยธนุ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โดยระหว่างนั้นต้องช่วยดูแลธุรกิจบางส่วนของครอบครัวด้วย

“ชาคริต” เผยว่า เมื่อได้ทำงานแล้ว รู้สึกว่าสิ่งที่เรียนมายังไม่เพียงพอ จึงไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา คว้าปริญญาโทจาก 2 สาขา ทั้งด้านการบริหารการจัดการการผลิต และการบริหารระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งทำให้มุมมองการทำงานของเขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เขายังได้นำสิ่งที่เรียนไปประยุกต์ใช้ สร้างการเปลี่ยนแปลงตามแผนกต่าง ๆ

“การทำธุรกิจและการบริหารจะเกิดผลสำเร็จได้ ต้องผนวกทั้งวิธีการคิด การปฏิบัติอย่างถูกต้อง และการควบคุมที่มีประสิทธิภาพเข้าด้วยกัน การขายสินค้าใด ๆ ก็แล้วแต่ ต้องตอบโจทย์ แก้ปัญหาของลูกค้าในราคาที่ลูกค้าสามารถจ่ายได้ การดำเนินงานต่าง ๆ จึงจะเกิดเป็นผลสำเร็จ” ชาคริตกล่าว

หลังดูแลกิจการครอบครัวมาหลายปี “ชาคริต” ตัดสินใจลาออกจากทุกตำแหน่งของบริษัท เมื่อปี 2556 เพื่อร่วมกับหุ้นส่วนก่อตั้งบริษัทของตัวเอง