สรรพสามิตเล็งออกมาตรการภาษีจูงใจซื้อรถอีวี

สรรพสามิตเล็งออกมาตรการภาษีจูงใจคนไทยซื้อรถอีวี ชี้ชงบอร์ดพิจารณาแล้ว คาดคืบหน้าต้นเดือน ต..นี้ ไม่หวั่นหากอนาคตรีดภาษีน้ำมันลดลง เล็งเก็บภาษีคาร์บอนทดแทน คาดปีงบ’65 เก็บรายได้ 6 แสนล้าน

วันที่ 4 ตุลาคม 2564 นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า มาตรการภาษีรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี จะเห็นความคืบหน้าในช่วงต้นเดือน ต..นี้ โดยจะมีการหารือร่วมกับคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเพื่อสรุปเรื่องนี้ และประกาศนโยบายที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งกรมมีหน้าที่ศึกษามาตรการภาษี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนสนใจซื้อรถอีวีมาใช้ ตามนโยบายที่อยากให้เกิดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และขณะนี้กรมได้ส่งรายละเอียดมาตรการให้บอร์ดอีวีพิจารณาแล้ว

การเปลี่ยนแปลงไปใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีจนกระทบกับเรื่องภาษีน้ำมัน แต่จะค่อยเป็นค่อยไป โดยในปี  2573 มีเป้าหมายขยายจำนวนการผลิตรถอีวีเป็น  30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในประเทศ  และระยะถัดไปพัฒนาเป็นการผลิตรถอีวีให้ได้ 100% นอกจากนี้ยังมีเรื่องแบตเตอรี่ ที่กรมจะต้องพิจารณาจัดเก็บภาษีด้วย แต่คงไม่ได้เป็นรายได้หลักของกรม

ทั้งนี้ โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในปัจจุบัน เป็นการคำนวณภาษีตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออไซด์ของการทำงานรถยนต์ ดังนั้น ยิ่งรถยนต์แบบใช้น้ำมันที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงอัตราภาษีจะแพง ส่วนรถยนต์แบบผสม หรือ ไฮบริด ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่า อัตราการเก็บภาษีก็ถูกลง ในขณะที่รถอีวี แทบไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเลย ก็ควรจะต้องเก็บภาษีอัตราถูกที่สุด ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการสร้างแรงจูงใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี หากในอนาคตมีการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แล้วการใช้น้ำมันน้อยลง ซึ่งถือเป็นรายได้ภาษีหลักของกรม อาจส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ลดลง โดยหากมีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นนั้นแล้ว แนวคิดที่จะทดแทนได้ คือภาษีคาร์บอน ซึ่งเป็นทิศทางที่ทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน แม้ว่าไทยยังไม่ศึกษาเรื่องภาษีคาร์บอนอย่างจริงจังแต่ถ้าเริ่มก็เริ่มต้นที่กรมสรรพสามิต โดยการเก็บภาษีนี้จะต้องดูทั้งหมด ตั้งแต่รถยนต์ ถึงภาคโรงงานอุตสาหกรรม ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น ถ้าต้องการลดการจ่ายภาษี โรงงานก็ต้องมีกระบวนการลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด ก่อนออกจากโรงงาน หรือ การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เพื่อลดการเกิดก๊าซคาร์บอน หรือสารอื่น ๆ ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในปีงบประมาณ 2564 สามารถเก็บได้ 5 แสนกว่า ต่ำกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณเล็กน้อย ตัวสำคัญคือภาษีน้ำมันที่หายไปค่อนข้างเยอะ เนื่องจากรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ทำให้ประชาชนเดินทางลดลง และภาษีรถยนต์ที่เก็บได้ลดลง เนื่องปัญหาจากการขาดแคลนชิป บางตัวที่ขาด ทำให้รถยนต์ประกอบออกมาเป็นคันสมบูรณ์ไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นอกเหนือการควบคุม

ส่วนรายได้ในปีประมาณ 2565 นั้น คาดว่าจัดเก็บได้ประมาณ 6 แสนล้านบาท โดยขณะนี้สถานการณ์เรื่องน้ำมันเริ่มดีขึ้น หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เพราะฉะนั้น กรมมองว่า หากไม่มีการระบาดของโควิดจนถึงขั้นประกาศล็อกดาวน์อีก ก็จะจัดเก็บรายได้ภาษีได้ใกล้เคียงเป้าหมาย