เช็กเทรนด์ “SSF & RMF” กองทุนหุ้นนอกฮอต-รีเทิร์นสูง

เข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีแล้วหลายคนคงเริ่มมองหากองทุนประเภทลดหย่อนภาษีกันมากขึ้น อย่างกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่มีอยู่มากมายหลากหลายกองให้เลือกลงทุน โดยนอกจากจะช่วยลดหย่อนภาษีได้แล้ว ยังให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจอีกด้วย

8 เดือนแรก “SSF-RMF”

โดย “ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองทุน SSF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเกือบ 2.8 หมื่นล้านบาทแล้ว โดยช่วง 8 เดือนแรกปี 2564 มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิที่ 3,300 ล้านบาท โดยเฉพาะกองทุนหุ้นโลก (Global Equity) มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดที่ 1,200 ล้านบาท ตามด้วยกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) เม็ดเงินไหลเข้าสุทธิ 674 ล้านบาท

ส่วนกองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.6 แสนล้านบาท มีเงินไหลเข้ารวม 4,100 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งโดยปกติกองทุน RMF จะมีเม็ดเงินไหลเข้าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีราว 2 หมื่นล้านบาท โดยปีที่แล้วกองทุนหุ้นจีน (China Equity) มีเงินไหลเข้าสูงสุดรวม 6,000 ล้านบาท ขณะที่กองทุนหุ้นไทยมีเม็ดเงินไหลออกสุทธิเกือบ 5,000 ล้านบาท

กองทุนหุ้นนอกมาแรง-รีเทิร์นสูง

ทั้งนี้ ข้อมูลจากมอร์นิ่งสตาร์ฯ ระบุว่าผลตอบแทนกองทุน SSF ย้อนหลัง 1 ปี สูงสุด ได้แก่กองทุน K-CHANGE-SSF จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 45.0% ตามด้วยกองทุน LHSMARTDSSF-SSF จาก บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ผลตอบแทนอยู่ที่ 41.8% นอกจากนี้ ยังมีกองทุนจาก บลจ.แอสเซท พลัส, บลจ.ไทยพาณิชย์ และ บลจ.เอ็มเอฟซี ที่ให้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 30%

ขณะที่กองทุน RMF นำโดยกองทุน B-INDIAMRMF จาก บลจ.บัวหลวง ให้ผลตอบแทนสูงถึง 71.2% และกองทุน ASP-VIETRMF จาก บลจ.แอสเซท พลัส ผลตอบแทนอยู่ที่ 70.8% นอกจากนี้ ยังมีกองทุนจาก บลจ.ทิสโก้ และ บลจ.กรุงศรี ให้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 40% (ดูตาราง)

“ชญานี” กล่าวว่า เม็ดเงินกองทุนลดหย่อนภาษีทั้ง 2 แบบ สะท้อนภาพความนิยมกองทุนต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมายังขาดปัจจัยสนับสนุน อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นกองทุนประหยัดภาษีทั้ง 2 แบบ มีผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมปีนี้ราว 14% ใกล้เคียงกับกลุ่มกองทุนหุ้นโลก แสดงให้เห็นว่าเป็นจังหวะการลงทุนที่ดี ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยยังไม่ปรับตัวขึ้น และเป็นอีกตัวเลือกสำหรับการลงทุนในระยะยาว

ขณะที่ “พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า กองทุน SSF-RMF มีนโยบายหลากหลายไม่จำกัดที่หุ้นไทย และปัจจุบันมุมมองของนักลงทุนในกองทุนรวม เชื่อว่ากองทุนหุ้นต่างประเทศมีความน่าสนใจกว่ากองทุนหุ้นไทย จึงคาดว่าเม็ดเงินจะกระจายไปยังกองต่างประเทศมากกว่า ไม่ได้เน้นที่กองทุนหุ้นไทยจนเป็นปัจจัยดันดัชนี

“แนะนำนักลงทุนควรมีพอร์ตหลัก เป็นกลุ่มกองทุนแบบ active (บริหารแบบเชิงรุกให้ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด) ที่มีการกระจายความเสี่ยงและมีโอกาสเติบโตได้ในระยะยาวที่ครอบคลุมการเติบโตของโลก เช่น กองทุนในหุ้นสหรัฐ, จีน หรือกองที่กระจายลงทุนในหุ้นทั่วโลก และเลือกพอร์ตเสริม เป็นธีมที่มีโอกาสเติบโตได้ดีในอนาคต เช่น เทคโนโลยี, เฮลท์แคร์ และความยั่งยืน ซึ่งการเลือกกองทุนลักษณะนี้ จะมีการลงทุนที่กระจุกตัวในหุ้นมากกว่า จึงควรใช้เป็นพอร์ตเสริม สำหรับการลงทุนระยะยาว”

“พีรพงศ์” กล่าวด้วยว่า โดยปกติเงินจะทยอยเข้ากองทุนลดหย่อนภาษีมากในช่วงไตรมาส 4 และจะเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ พ.ย. สำหรับปีนี้ไม่มี SSF แบบพิเศษหรือ SSFX แล้ว กองทุนลดภาษีจึงเหลือเพียง SSF และ RMF ซึ่งเชื่อว่าเงินจะไหลเข้ากองทุนทั้ง 2 แบบไม่ลดน้อยลง

บัวหลวงออกขาย 5 กองรวด

ล่าสุด “วศิน วัฒนวรกิจกุล” กรรมการผู้จัดการ Head of Business Distribution กองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ กองทุนบัวหลวงเตรียมเสนอขายหน่วยลงทุนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) สำหรับกลุ่มกองทุนรวมประหยัดภาษี ทั้ง RMF และ SSF ไม่ต่ำกว่า 5 กองทุน เพื่อรองรับความต้องการของผู้ลงทุนที่ชื่นชอบและสนใจลงทุนกับ Thematic Fund ที่จะเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว ตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้น รวมถึงกองทุนที่เน้นลงทุนในประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโต ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นยั่งยืนเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-SIPRMF) กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นยั่งยืนเพื่อการออม (B-SIPSSF) กองทุนเปิดบัวหลวงยูเอสอัลฟ่าเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-USALPHARMF) กองทุนเปิดบัวหลวงยูเอสอัลฟ่าเพื่อการออม (B-USALPHASSF) และกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเวียดนามเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-VIETNAMRMF)

“เป็นการนำกองทุนที่เน้นการลงทุนแบบยั่งยืน การลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐและการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม มาเสนอในรูปแบบของ RMF และ SSF เนื่องจากกองทุนบัวหลวงมองว่า มีโอกาสเติบโต และสอดคล้องกับรูปแบบการลงทุนของ RMF และ SSF ซึ่งเป็นการทยอยลงทุนในระยะยาว รวมทั้งผู้ลงทุนต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมากอีกด้วย”

จับตานักลงทุนเข้าซื้อ 2 เดือนท้าย

“ชาคริต พืชพันธ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายบริหารกองทุน บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่า กองทุน SSF-RMF จะยังคงได้รับความสนใจเหมือนกับทุก ๆ ปีที่ผ่านมา โดยปกตินักลงทุนมักจะเข้าซื้อกองทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงปลายปีของทุก ๆ ปี ซึ่งตอนนี้อาจจะยังไม่เห็นกระแสที่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากเพิ่งเริ่มเข้าสู่ไตรมาสสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นการทยอยเข้าซื้อเพิ่มขึ้นในช่วง พ.ย.-ธ.ค.

“อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนสนใจลงทุนในกองทุน SSF-RMF เพื่อเป็นตัวช่วยลดหย่อนภาษีและรับผลตอบแทนระยะยาว สำหรับในปีนี้ก็ยังคงมุมมองการลงทุนโดยให้น้ำหนักไปที่หุ้นต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า แต่ก็อาจจะมีความผันผวนได้บ้างตามภาวะตลาด ขณะที่ก็ยังสามารถมีหุ้นไทยติดไว้ได้เช่นกัน” นายชาคริตกล่าว


พร้อมทิ้งท้ายด้วยว่า “การเลือกกองทุนก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่ตัวนักลงทุนจะรับไหว”