ปี’64 ยืดหนี้ “หุ้นกู้” 11 บริษัท มูลค่ารวม 1.3 หมื่นล้าน

AGE เตรียมขายหุ้นกู้ 800 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6.50% 23-25 พ.ย.นี้

“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” เผยปี 2564 ยืดหนี้หุ้นกู้รวม 11 บริษัท “รายเดิม” 7 บริษัท-“รายใหม่” 4 บริษัท มูลค่ารวม 13,100 ล้านบาท ด้านยอดออกไฮยีลด์บอนด์ 9 เดือนแรกปีนี้ 35,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.69% จากช่วงเดียวกันปีก่อน กว่า 77% มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน-ชี้เริ่มกังวลรายย่อยซื้อหุ้นกู้ส่อผิดนัดชำระหนี้ หวั่นฟ้องร้องทำได้ยาก

วันที่ 7 ตุลาคม 2564 นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) เปิดเผยว่า 9 เดือนแรกปี 2564 พบว่ามีบริษัทผู้ออกหุ้นกู้รายเดิมจากปีที่แล้วแต่ยืดหนี้รุ่นใหม่รวมกัน 7 บริษัท มูลค่ารวม 9,300 ล้านบาท และมีบริษัทผู้ออกรายใหม่ยืดหนี้เพิ่มอีก 4 บริษัท มูลค่ารวม 3,800 ล้านบาท โดยมีมูลค่ารวมกันประมาณ 13,100 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ถ้าเปรียบเทียบปีที่แล้วมีมูลค่าลดน้อยลง โดยปีที่แล้วมีการยืดหนี้มูลค่า 14,000 ล้านบาท (ไม่รวม บมจ.การบินไทย)

“แต่อย่างไรก็ดีเราเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นของหุ้นกู้ที่มีการยืดหนี้ปีที่แล้ว คือมีประมาณ 3 บริษัทที่ชำระคืนหนี้ได้ทั้งหมด และมีอีก 2-3 บริษัทที่ทยอยคืนหนี้ได้บางส่วน” นางสาวอริยา กล่าว

ขณะที่การออกหุ้นกู้ภาคเอกชนของผู้ออกในกลุ่มเรียลเซ็กเตอร์ช่วง 9 เดือนแรกพบว่าเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มเรทติ้ง แม้กระทั่ง Non-rated Bond และเรทติ้งต่ำกว่า BBB- (กลุ่มไฮยีลด์บอนด์) โดยมีมูลค่าการออกอยู่ที่ 35,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.69% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มูลค่าการออกรวม 22,049 ล้านบาท

โดยเทรนด์การออกหุ้นกู้กลุ่มไฮยีลด์บอนด์ เห็นชัดเจนว่าจะต้องนำหลักทรัพย์มาค้ำประกันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน, หุ้น และนิติบุคคลอื่น เป็นต้น เพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจในการลงทุน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขอเน้นย้ำว่าแม้หุ้นกู้มีประกัน(Secured bond) แต่ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ลดลง แต่ยังสูงเท่าเดิม โดยหลักทรัพย์ค้ำประกันจะมีความหมายก็ต่อเมื่อหุ้นกู้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว และต้องมาพิจารณาการบังคับหลักประกันว่าเป็นหลักประกันที่มีคุณภาพขนาดไหน เพื่อนำมาชดเชยหรือคืนให้กับผู้ถือหุ้นกู้สำหรับเงินต้นและดอกเบี้ยที่ผิดนัด

“โดยปีนี้พบว่าหุ้นกู้กลุ่มไฮยีลด์บอนด์ ช่วง 9 เดือนแรกเป็นหุ้นกู้ที่มีประกันในสัดส่วนที่สูงขึ้นกว่า 77.98% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้ำโดยนิติบุคคลอื่น อาทิ บริษัทแม่ เป็นต้น” นางสาวอริยา กล่าว

นางสาวอริยา กล่าวต่อว่า สมาคมฯ มีความกังวลเหมือนกันว่าหากนักลงทุนรายย่อยซื้อหุ้นกู้ที่มีปัญหาเกิดการยืดหนี้หรือผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มไฮยีลด์บอนด์ เวลาฟ้องร้องทำได้ยากมาก เพราะการจ้างทนายหรือกระบวนการคลาสแอกชั่น ต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องเงินและเสียเวลาดำเนินการสูง จึงพยายามผลักดันศึกษาการจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนหุ้นกู้กลุ่มเสี่ยงสูง แต่ต้องเน้นกระจายความเสี่ยงหลายๆ บริษัทเพื่อไม่ทำให้นักลงทุนเสียประโยชน์

ประเมินจากกองทุนต่างชาติที่ลงทุนเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกองทุน ETF และมีบางกองทุนไทยเข้าไปลงทุนด้วย แต่ด้วยการกระจายสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก จึงมีแค่สัดส่วนลงทุนแค่ 0.01-0.05% เพราะฉะนั้นไม่กระทบกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(NAV) ของกองทุนใหญ่ และไม่ทำให้นักลงทุนเสียประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ก็พยายามผลักดันออกเกณฑ์ไฮยีลด์บอนด์ฟันด์ออกมา