แบงก์กำไรงวด 9 เดือนโตพุ่ง เหตุภาระตั้งสำรองหนี้เบาลง

แบงก์โชว์กำไรงวด 9 เดือน ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อน แม้ยังอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เหตุปีนี้ภาระตั้งสำรองหนี้ลดลง หลังจากปีก่อนอัดสำรองเต็มสูบไปแล้ว

วันที่ 21 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัปดาห์นี้ ธนาคารพาณิชย์ของไทยได้แจ้งรายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 3 ณ สิ้นเดือน ก.ย.2564 และ งวด 9 เดือนแรกปี 2564 โดยหลายแบงก์ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) แล้ว ซึ่งวันนี้ (21 ต.ค.) จะเป็นวันสุดท้ายของการรายงาน มาดูกันว่าผลประกอบการแต่ละแบงก์เป็นอย่างไรบ้าง

“กสิกรไทย” กำไร 9 เดือน 73.47%

โดยนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3 ปี 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 8,631 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนจำนวน 263 ล้านบาท หรือ 2.96% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,024 ล้านบาท หรือ 3.45% หลัก ๆ จากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ระดับ 3.23% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 1,936 ล้านบาท หรือ 17.38% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด

สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงเล็กน้อยจำนวน 104 ล้านบาท หรือ 0.61% จากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 42.47% นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss: ECL) เพิ่มขึ้นจำนวน 489 ล้านบาท หรือ 4.53% จากไตรมาสก่อน

ส่วนงวด 9 เดือนแรกปีนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 28,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 11,922 ล้านบาท หรือ 73.47% หลัก ๆ เกิดจากในงวด 9 เดือน ปี 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss: ECL) ลดลง 28.28% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งงวด 9 เดือนของปีก่อนธนาคารและบริษัทย่อยได้ตั้งสำรองฯ ในระดับที่สูงเป็นจำนวนถึง 42,879 ล้านบาท ภายใต้หลักความระมัดระวัง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจากสถานการณ์โควิด-19 อันเป็นวิกฤติการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในลักษณะนี้มาก่อน รวมถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ต้องติดตามดูแลคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด

“แม้ภาวะเศรษฐกิจไทยในงวด 9 เดือนของปี 2564 จะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่และมาตรการควบคุมการระบาดที่มีความเข้มงวดในหลายพื้นที่ ธนาคารและบริษัทย่อยได้ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และยังคงให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ลูกค้า ธนาคารและบริษัทย่อยจึงได้พิจารณาตั้งสำรองฯ ในงวด 9 เดือนของปีนี้รวมทั้งสิ้นจำนวน 30,752 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นระดับสำรองฯ ภายใต้หลักความระมัดระวัง”

ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้สำหรับงวด 9 เดือน ปี 2564 มีจำนวน 70,259 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 4,003 ล้านบาท หรือ 6.04% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 6,171 ล้านบาท หรือ 7.49% สอดคล้องกับการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ แม้ว่าธนาคารได้ลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดภาระทางการเงินของลูกค้า

โดยอัตราการเติบโตของเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ 8.87% ส่วนใหญ่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าที่มีศักยภาพ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือลูกค้า เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ปกติ ซึ่งธนาคารได้ติดตามดูแลคุณภาพของลูกหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าบางส่วนอยู่ภายใต้มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้ธนาคารต้องมีการบริหารจัดการดอกเบี้ยค้างรับที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ลดลง เกิดจากการบริหารต้นทุนทางการเงินให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.21%

ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 1,326 ล้านบาท หรือ 3.95% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลง แม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,864 ล้านบาท หรือ 7.55% หลัก ๆ จากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน และค่านายหน้ารับจากการซื้อขายหลักทรัพย์ สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 842 ล้านบาท หรือ 1.69% เกิดจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน และค่าใช้จ่ายจากโครงการที่ธนาคารช่วยบรรเทาภาระของลูกค้าในช่วงที่มีมาตรการควบคุมการระบาด โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 41.85%

ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,029,831 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 จำนวน 371,033 ล้านบาท หรือ 10.14% ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ และการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนสุทธิ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 อยู่ที่ระดับ 3.85% โดยธนาคารมีการติดตามดูแลคุณภาพเงินให้สินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด ขณะที่สิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 3.93% อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 อยู่ที่ระดับ 156.96% โดยสิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 149.19% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 อยู่ที่ 18.82% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่1 อยู่ที่ 16.53%

“ไทยพาณิชย์” กำไร 9 เดือน โต 24.6%

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ ในไตรมาส 3 ของปี 2564 จำนวน 8,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากความสามารถในการทำกำไรจากของธุรกิจที่ดีขึ้นและการตั้งเงินสำรองที่ลดลง ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองมีจำนวน 21,097 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของการเติบโตที่แข็งแกร่งของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและการบริหารค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2564 ธนาคารมีกำไรสุทธิจานวน 27,720 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ของปี 2564 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 23,533 ล้านบาท ลดลง 0.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสะท้อนถึงแรงกดดันต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิภายใต้สภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลง รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 13,377 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง การฟื้นตัวของธุรกรรมการค้า และกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 15,813 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารอยู่ที่ 42.8% ในไตรมาส 3 ของปี 2564

ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 10,035 ล้านบาท สำหรับไตรมาส 3 ของปี 2564 และเป็นจำนวน 30,071 ล้านบาท สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2564

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 3.89% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.79% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 137.6% และเงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.4%

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของฐานะการเงินของธนาคารและความสามารถในการปรับตัวภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธนาคารยังคงเน้นบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือลูกค้าและสังคมผ่านโครงการช่วยเหลือทางการเงิน ในไตรมาส 3 ธนาคารได้เริ่มกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จภายใต้กรอบของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยให้ลูกค้าของธนาคารมีโอกาสฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งนี้แบบยั่งยืน

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยผ่านแพลตฟอม์ส่งอาหารโรบินฮู้ด โดยในไตรมาสนี้ ธนาคารมีผู้ใช้งานใหม่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพิ่มขึ้นกว่า 1.9 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการขยายฐานผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มส่งอาหารโรบินฮู้ด ธนาคารจะยังคงมุ่งมั่นยกระดับการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าบนช่องทางดิจิทัลให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้บนแพลตฟอร์มต่อไป

ธนาคารกรุงเทพ กำไรสุทธิ 9 เดือน พุ่ง 36.6%

รายงานจากธนาคารกรุงเทพ แจ้งว่า ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับ 9 เดือน ปี 2564 จำนวน 20,189 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 รวมถึงการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากการบริหารต้นทุนเงินรับฝาก โดยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.10

สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 ส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ รวมถึงกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด

สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานลดลงเป็นร้อยละ 48.4 ทั้งนี้ ธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการตั้งสำรอง โดยพิจารณาปัจจัยผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า และจากมาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้
การบริโภคและการใช้จ่ายภาคเอกชนปรับตัวลดลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอ แม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาช่วยชดเชยรายได้และพยุงกำลังซื้อไว้บางส่วน

นอกจากนี้ เศรษฐกิจโดยรวมยังได้รับผลจากข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ และจากการส่งออกของไทยที่เริ่มชะลอตัวตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าซึ่งชะลอลงตามการระบาดในต่างประเทศที่มีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือนกันยายน หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มลดลงและสัดส่วนของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเพิ่มขึ้นตามลำดับ รัฐบาลจึงเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองบางส่วน ทำให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นบ้าง

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป จะยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยนโยบายสนับสนุนของภาครัฐจะมีส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และประคับประคองให้ทุกภาคส่วนสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตได้

ธนาคารกรุงเทพได้สนับสนุนมาตรการของภาครัฐและดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งดูแลลูกค้าอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกค้าแต่ละราย ครอบคลุมทั้งลูกค้าธุรกิจ และลูกค้าบุคคล ขณะเดียวกันธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่องและเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อรองรับผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าและยังคงมีความไม่แน่นอน

ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,523,772 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 จากสิ้นปี 2563 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ทั้งนี้ ธนาคารยังคงตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าและยังคงมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 198.9

โดยธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 จำนวน 3,124,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 จากสิ้นปีก่อน เป็นผลจากการที่ลูกค้ายังคงต้องการดำรงสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงในภาวะที่มีความไม่แน่นอน
ทำให้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 80.8 นอกจากนี้ ในเดือนกันยายน 2564 ธนาคารออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ อายุ 15 ปี ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ภายใต้หลักเกณฑ์ Basel III จำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างเงินกองทุนของธนาคารให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 19.7 ร้อยละ 16.1 และร้อยละ 15.3 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

“กรุงไทย”กำไรสุทธิ 9 เดือน โต 25.3%

ขณะที่นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 5,055 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15.9 จากไตรมาสที่ผ่านมา จากกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองและภาษีเงินได้ที่ลดลงร้อยละ 8.3 ตามรายได้จากการดำเนินงานที่ลดลงร้อยละ 1.8 แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะขยายตัวร้อยละ 1.1 จากสินเชื่อที่ขยายตัวได้ดีและการบริหารต้นทุนทางการเงิน โดย NIM อยู่ที่ร้อยละ 2.51 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.55 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 จากค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการขาดทุนจากการด้อยค่าทรัพย์สินรอการขาย

เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.4 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ลดลงร้อยละ 34.5 มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองและภาษีเงินได้ ลดลงร้อยละ 8.0 มาจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ลดลงร้อยละ 6.4 เป็นผลจากในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยพิเศษเงินให้สินเชื่อจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนอง ประกอบกับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงจากดอกเบี้ยรับเงินลงทุนในตราสารหนี้ และรายได้จากการดำเนินงานอื่นที่ลดลง

ทั้งนี้ ธนาคารบริหารต้นทุนทางการเงินประกอบกับสินเชื่อขยายตัวได้ดี ซึ่งช่วยลดผลกระทบดังกล่าว รวมถึงการบริหารค่าใช้จ่ายในการภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง ร้อยละ 4.4 ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 46.21 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 47.16 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ไม่รวมรายได้ดอกเบี้ยพิเศษ)

สำหรับผลประกอบการช่วง 9 เดือนของปี 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 16,645 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 24,291 ล้านบาท แม้ว่าลดลงร้อยละ 31.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังเป็นการตั้งสำรองในระดับสูง ส่งผลให้ Coverage ratio เท่ากับร้อยละ 163.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 147.3 ณ สิ้นปี 2563 และ NPLs Ratio-Gross อยู่ที่ร้อยละ 3.57 ลดลงจากร้อยละ 3.81 ณ สิ้นปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี ผลจากการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองและภาษีเงินได้ เท่ากับ 47,841 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ลดลงร้อยละ 8.3 ตามรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง แม้ว่าสินเชื่อจะขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 9.6 จากสิ้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยพิเศษเงินให้สินเชื่อจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนอง รวมถึงการลดลงของดอกเบี้ยเงินลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งส่งผลให้ NIM เท่ากับร้อยละ 2.52 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 3.8 จากการบริหารจัดการในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 44.28 ใกล้เคียงกับร้อยละ 44.45 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไม่รวมรายได้ดอกเบี้ยพิเศษ)

ณ 30 กันยายน 2564 ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 322,626 ล้านบาท และมีเงินกองทุนทั้งสิ้นเท่ากับ 389,100 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 16.10 และร้อยละ 19.42 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงตามลำดับ

“แม้เศรษฐกิจในประเทศมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 และการเปิดประเทศ แต่ในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง ธนาคารจึงยังคงรักษาระดับการตั้งสำรองในระดับสูง ติดตามสถานการณ์ของลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้ทันการณ์ ตรงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งมาตรการลดภาระทางการเงิน การเสริมสภาพคล่อง และเพิ่มช่องทางการขายสินค้าผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้ง Krungthai NEXT เป๋าตัง และถุงเงิน พร้อมเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าทุกกลุ่ม โดยร่วมมือกับพันธมิตรทุกกลุ่มนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น พร้อมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” นายผยงกล่าว

“กรุงศรี” กำไร 9 เดือน เพิ่ม 39.5%

รายงานจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา แจ้งว่า ผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2564 กำไรสุทธิจำนวน 27,409 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติลดลง 2.2% หรือจำนวน 431 ล้านบาท จากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 โดยส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อหลายครั้งเพื่อบรรเทาภาระหนี้ของลูกค้า และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อลูกหนี้รายย่อย

เมื่อรวมกำไรพิเศษจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นใน บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ส่งผลให้ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่จำนวน 27,409 ล้านบาท สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เป็นการเพิ่มขึ้น 39.5% จากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563

ขณะที่เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 1.2% หรือจำนวน 21,294 ล้านบาทจากสิ้นเดือนธันวาคมปี 2563 ซึ่งเกิดจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของสินเชื่อ SME และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ 4.4% และ 4.2% ตามลำดับ ส่วน เงินรับฝาก ลดลง 2.8% หรือจำนวน 51,564 ล้านบาทจากสิ้นเดือนธันวาคมปี 2563 โดยส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารจัดการสภาพคล่องเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ และการเพิ่มสัดส่วนเงินรับฝากออมทรัพย์และจ่ายคืนเมื่อทวงถาม

ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.23% เทียบกับ 3.63% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อหลายครั้ง และการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อลูกหนี้รายย่อย

ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจำนวน 12,104 ล้านบาท หรือ 50.5% จากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 โดยปัจจัยหลักมาจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นเงินติดล้อ หากไม่รวมรายการพิเศษจากการขายเงินลงทุนข้างต้น รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากการดำเนินธุรกิจปกติเพิ่มขึ้นจำนวน 1,377 ล้านบาท หรือ 5.7% จากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563

นอกจากนี้ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 42.1% ในไตรมาส 3 ปี 2564 จาก 43.0% ในไตรมาส 2 ปี 2564 โดยเกิดจากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของธนาคารท่ามกลางปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยืดเยื้อ และอยู่ที่ 43.0% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับ 41.2% ในช่วงเดียวกันของปี 2563

ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.27% ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2564
ส่วนอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ธนาคารยังคงรักษาระดับการตั้งเงินสำรองอย่างรอบคอบระมัดระวัง เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงทำให้อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 177.5% ณ สิ้นเดือนกันยายน ปี 2564
และ อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.46% จาก 17.92% ณ สิ้นเดือนธันวาคมปี 2563

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธย กล่าวว่า การเติบโตของสินเชื่อเพื่อธุรกิจสะท้อนถึงความมุ่งมั่นและความทุ่มเทของกรุงศรีในการสนับสนุนลูกค้าผ่านหลายมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบ อาทิ การสนับสนุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูธุรกิจ และการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

“แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเปราะบางที่เพิ่มขึ้น แต่การเร่งฉีดวัคซีนทั่วประเทศที่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในช่วงต้นไตรมาสที่สี่ของปีนี้ ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นความต้องการสินเชื่อในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 กรุงศรีจึงคงเป้าหมายการเติบโตของเงินให้สินเชื่อในปีนี้ ในกรอบล่างของ 3-5%” นายเซอิจิโระกล่าว

ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.85 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.78 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.49 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 291.72 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 18.46% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 13.50%

“ทีทีบี” กำไรงวด 9 เดือนลดลง 5%

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2564 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 2,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากนโยบายการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าที่ได้ทำในปีที่แล้ว ซึ่งธนาคารได้ตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญไปในไตรมาส 3 ปี 2563 เพื่อเตรียมรับมือกับปี 2564 โดยแม้ว่าในปีนี้ธนาคารจะยังคงตั้งสำรองฯ ในระดับสูงกว่าปกติ แต่ก็ยังลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จึงทำให้กำไรสุทธิปรับตัวดีขึ้น สำหรับเป้าหมายทางการเงินด้านอื่น ๆ ยังคงทำได้ตามแผน ไม่ว่าจะเป็นด้านการรวมกิจการ การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย และการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์

“ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อและการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างจนนำไปสู่การประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ยังคงเห็นแรงกดดันต่อด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง ในสถานการณ์เช่นนี้ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาเรายังคงทำได้ดี ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรวมกิจการ (Integration) ก็ตาม แต่ด้วยการรักษาวินัยด้านค่าใช้จ่าย ประกอบกับการรับรู้ผลประโยชน์ด้านต้นทุนจากการรวมกิจการได้ตามแผน จึงช่วยให้ค่าใช้จ่ายไม่เพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้ที่ชะลอตัว โดยในไตรมาส 3 ปี 2564 ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 15,663 ล้านบาท ลดลง 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,268 ล้านบาท ลดลงเช่นกันที่ 2.2%” นายปิติกล่าว

สำหรับค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองฯ อยู่ที่ 5,527 ล้านบาท ยังคงเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงเศรษฐกิจปกติ แต่ลดลง 19.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2563 ที่ธนาคารได้วางแผนตั้งสำรองฯ ล่วงหน้าเป็นจำนวน 6,863 ล้านบาท จึงเป็นที่มาของกำไรสุทธิที่ปรับตัวดีขึ้นจากปีที่แล้ว ทั้งนี้ ภายใต้ภาพเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางธนาคารจะยังรักษาระดับการตั้งสำรองฯ ไว้ในระดับสูง และเน้นการประเมินความเสี่ยงของพอร์ตปัจจุบันและการจัดชั้นคุณภาพสินเชื่ออย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นพอร์ตสินเชื่อปกติหรือพอร์ตโปรแกรมให้ความช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 12% ของสินเชื่อรวม เพื่อให้มั่นใจว่าการบริหารจัดการและการตั้งสำรองฯ เป็นไปอย่างเหมาะสมและเพียงพอ ทั้งนี้ หากเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2664 ก็ยังคงเห็นแรงกดดันด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง เพราะไตรมาส 3 เป็นช่วงเวลาของการประกาศใช้มาตรการคุมเข้มขั้นสูงสุดก่อนค่อย ๆ ผ่อนคลายลงในช่วงปลายไตรมาส

ขณะที่ผลการดำเนินงานรอบ 9 เดือน ปี 2564 ก็จะให้ภาพชัดเจนถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาตลอดตั้งแต่ต้นปี เทียบกับปี 2563 ซึ่งสถานการณ์ในไตรมาส 1 ยังคงเป็นปกติ

โดยรอบ 9 เดือน ปี 2564 ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงาน 48,406 ล้านบาท ลดลง 5.0% จากรอบ 9 เดือน ปี 2563 ด้านค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอยู่ที่ 22,597 ล้านบาท ลดลง 4.0% และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้อยู่ที่ 46% เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนค่าใช้จ่ายสำรองฯ มีจำนวน 16,497 ล้านบาท ทรงตัวจากรอบ 9 เดือนปีก่อนหน้า เนื่องจากธนาคารยังคงตั้งสำรองฯ ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาส ส่งผลให้มีกำไรสุทธิสำหรับรอบ 9 เดือน ปี 2564 อยู่ที่ 7,675 ล้านบาท ลดลง 13.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 อยู่ที่ 1,359 พันล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ชะลอลง 2.4% จากสิ้นปีที่แล้ว เป็นผลจากการที่ธนาคารยังคงเน้นการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ทำให้ยอดชำระหนี้คืนยังคงสูงกว่ายอดสินเชื่อใหม่ ด้านหนี้เสียอยู่ที่ 44.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 43.5 พันล้านบาท และ 39.6 พันล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 2 และสิ้นปีที่แล้ว ทั้งนี้ จากฐานสินเชื่อที่ชะลอตัวจึงทำให้สัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมขยับมาอยู่ที่ 2.98% ยังคงเป็นไปตามแผนบริหารจัดการหนี้เสียและอยู่ในกรอบเป้าหมายที่วางไว้

ด้านเงินฝากอยู่ที่ 1,325 พันล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ชะลอลง 3.5% จากสิ้นปีที่แล้ว การเคลื่อนไหวด้านเงินฝากเป็นผลจากการบริหารสภาพคล่องให้สอดคล้องกับภาวะสินเชื่อ รวมทั้งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างเงินฝากภายหลังการรวมกิจการ โดยการปรับลดสัดส่วนเงินฝากประจำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเน้นการเติบโตของเงินฝากที่เป็นผลิตภัณฑ์หลัก เช่น บัญชี ttb all free ซึ่งยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ด้านความเพียงพอของเงินกองทุนก็ยังอยู่ในระดับสูงและเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมธนาคาร โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 อัตราส่วน CAR และ Tier I (เบื้องต้น) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.7% และ 15.6% ตามลำดับ ยังคงสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5%

“สำหรับภาพรวมในไตรมาส 4 นั้น แม้ว่าการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ จะช่วยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่การฟื้นตัวไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 ยังคงต้องใช้เวลา ดังนั้น เราจึงยังคงเน้นการดำเนินธุรกิจแบบระมัดระวัง ไม่สร้างความเสี่ยงด้วยการเร่งเติบโตสินเชื่อฝ่าคลื่นลมทางเศรษฐกิจ จุดประสงค์หลักก็เพื่อคงสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่ง และสร้างชีวิตการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งวันนี้และอนาคต ด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการและดีที่สุดสำหรับลูกค้าแต่ละคน ตลอดทุกช่วงชีวิต พร้อมรับมือกับความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 และรอโอกาสที่จะกลับมาเติบโตเมื่อเศรษฐกิจเอื้ออำนวย นอกจากนี้ การดูแลความปลอดภัยของพนักงานก็ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญเช่นกัน” นายปิติกล่าว

“ซีไอเอ็มบี ไทย” กำไรสุทธิงวด 9 เดือน โต 16.4%

นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 มีกำไรสุทธิจำนวน 1,708.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 240.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.4 เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2563 สาเหตุหลักเกิดจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 12.3 และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงร้อยละ 6.0 ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 5.4%

โดยรายได้จากการดำเนินงาน สำหรับงวด 9 เดือนปี 2564 มีจำนวน 10,883.8 ล้านบาท ลดลงจำนวน 620.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.4 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2563 เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 783.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.4 เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้ออันเนื่องมาจากการขยายตัวของสินเชื่อลดลง สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 159.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.7 ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าขายประกันและหน่วยลงทุน ส่วนรายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้นจำนวน 3.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.2 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน

ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือนปี 2564 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2563 ลดลงจำนวน 849.9 ล้านบาทหรือร้อยละ 12.3 เนื่องจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารด้านทรัพยากรบุคคลและการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดเก้าเดือนปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 55.7 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 60.1

อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) สำหรับงวดเก้าเดือนปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 เป็นผลจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้อ

ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 216.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 251.0 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.2 จากสิ้นปี 2563 ซึ่งมีจำนวน 251.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็นร้อยละ 86.3 จากร้อยละ 90.3 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 9.6 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ร้อยละ 4.4 ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 4.6 สาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2564 การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และกระบวนการในการเก็บหนี้

อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 อยู่ที่ร้อยละ 105.9 เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 93.3 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 9.4 พันล้านบาท เป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.7 พันล้านบาท


ด้านเงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 30 กันยายน 2564 มีจำนวน 54.0 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 20.7 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 15.0