“ลีสซิ่ง” จี้ สคบ.รื้อดอกเบี้ยคุมเช่าซื้อ 15%

รถ

“ลีสซิ่ง-แบงก์” ค้าน สคบ.คุมสัญญาเช่าซื้อรถชี้ตีกรอบเพดานดอกเบี้ย 15% ไม่สอดคล้องต้นทุนธุรกิจ บีบเรียกเงินดาวน์เพิ่ม 5-6 เท่า เสนอแยกตามประเภทรถ โวยไอเดีย “คืนรถจบหนี้” ส่อทำธุรกิจเจ๊งแถมไม่เห็นด้วยกับแนวทางแก้ “ติ่งหนี้” ร่วมจ่าย 50% “ฐิติกร” ฟันธงยอดรีเจ็กต์พุ่งหวั่นซัพพลายเชนเจ๊งกระทบจ้างงานกว่า 5 แสนคน

แหล่งข่าวจากสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. … ที่เตรียมจะออกมาบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สถาบันการเงินต่าง ๆ รวมถึงผู้บริโภคเข้าร่วม

แยกคุม ดบ.ตามประเภทรถ

ประเด็นที่มีการพูดคุยและให้ความสำคัญ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อธุรกิจเช่าซื้อ และสถาบันการเงินค่อนข้างมาก มี 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ ซึ่งคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (effective interest rate) ต้องไม่เกินอัตรา 15% ต่อปี ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าการกำหนดเพดานดังกล่าวและใช้กับทุกธุรกิจ หรือรถยนต์ทุกประเภท เป็นอัตราที่ไม่เหมาะสม

เนื่องจากประเภทรถและอายุรถแตกต่างกัน เช่น กรณีรถอายุ 1 วัน กับอายุรถ 35 ปี มีความเสี่ยงและต้นทุนต่างกัน ที่ประชุมจึงเสนอให้มีการเสนอการคิดอัตราดอกเบี้ย แยกกันในส่วนรถยนต์ใหม่ รถยนต์เก่า และรถจักรยานยนต์ ไม่ควรกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเดียวกัน

ภายในที่ประชุมยังมีการเสนออัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับธุรกิจ ความเสี่ยง และต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยในส่วนของรถจักรยานยนต์ สมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไทยเสนอให้กำหนดเพดานดอกเบี้ยที่ไม่เกิน 36% ต่อปี จากปัจจุบันคิดเฉลี่ยที่ 32-36% ต่อปี

ขณะที่สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยเสนอกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยรถยนต์ใช้แล้ว (มือสอง) ที่ไม่เกิน 24% โดยบังคับกับอายุรถยนต์ 10 ปีขึ้นไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและต้นทุนค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี หากลูกค้ามีประวัติการชำระหนี้และเครดิตดี สถาบันการเงินก็มักคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำลงมา

“ข้อเสนอเพดานดอกเบี้ย 24% เป็นเพียงแค่กรอบ ปัจจุบันตลาดคิดกันคงที่อยู่ที่ 4-8% หากรถอายุเก่ามาก อัตราดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นแตกต่างกัน ส่วนรถยนต์ใหม่คิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (effective interest rate) เฉลี่ยที่ 3-6% ซึ่งไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก หากมีการคิดเพดาน 15%” แหล่งข่าวกล่าว

คืนรถจบหนี้-แก้ติ่งหนี้ป่วน

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ 2.การคืนรถจบหนี้ หรือการเปิดให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบรถยนต์คืนได้ พร้อมห้ามเก็บหนี้ส่วนขาด เป็นข้อกำหนดที่ไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบการ เพราะไม่คำนึงถึงต้นทุนของผู้ประกอบการที่ต้องเผชิญอยู่ โดยจะถึงขั้นกิจการล้มได้

“ถ้าลูกค้าอยากคืนรถตั้งแต่ 3 เดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่ได้เริ่มผ่อนรถ หรือผ่อนค่อนข้างน้อยมาก ๆ กระทบแน่ เพราะหลังจากลูกค้าออกรถไปจากโชว์รูม ราคารถจะตกทันที 20% จึงเสนอให้ สคบ.พิจารณาจุดคุ้มทุนของผู้ประกอบการด้วย หากจะให้มีการคืนรถก็ขอให้คืนหลังจุดคุ้มทุนแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่มากเท่ากับให้ลูกค้าคืนรถเมื่อใดก็ได้” แหล่งข่าวกล่าว

และประเด็นที่ 3.กรณีติ่งหนี้ ที่เกิดจากการยึดรถมาแล้วขายทอดตลาด สคบ.จะกำหนดให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบหนี้ส่วนที่คงเหลือกับลูกค้าคนละครึ่ง หรือ 50% แต่กรณีขายทอดตลาดได้กำไรต้องคืนเงินให้ลูกค้าทั้งหมด ตรงนี้เป็นการบังคับให้ผู้ประกอบการตัดหนี้ส่วนลด (แฮร์คัต) ให้ลูกค้า

“ตัดหนี้แบบนี้ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดขึ้น ขนาดเรื่องไปที่ศาลก็ยังจะพิจารณาให้แยกมูลหนี้ เงินต้น ติ่งหนี้ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ออกจากกัน โดยให้ลูกค้าต้องคืนเงินต้นให้ผู้ประกอบการทั้งหมด ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะพิจารณาให้ตามเรตของธนาคารกรุงไทย แม้ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จะตัดทิ้งก็ตาม” แหล่งข่าวกล่าว

ฝั่งผู้ประกอบธุรกิจลีสซิ่งจึงมีข้อเสนอในประเด็น “ติ่งหนี้” คือ 1.ขอให้ลูกค้าคืนเงินต้นทั้งหมด เพราะเป็นเงินที่ผู้ประกอบการไปกู้มาหรือรับฝากเงินจากประชาชน เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อจึงมีต้นทุนเช่นกัน 2.ภาระดอกเบี้ยควรให้ลูกค้าชำระบางส่วน ซึ่งอาจเป็นไปตามส่วนลดของการปิดบัญชี

“ถ้ายึดรถมา ผู้ประกอบการขาดทุนทุกราย แต่ สคบ.บอกว่า ถ้าขายมีกำไรให้คืนให้ลูกหนี้ทั้งหมด แต่ถ้ามีหนี้ส่วนเหลือ หลังประมูลขายให้ผู้ประกอบการช่วยรับผิดชอบกับลูกหนี้คนละ 50% แบบนี้ไม่ถูกต้อง ไม่ควรผลักภาระให้ผู้ประกอบการ หรือสถาบันการเงิน

การช่วยเหลือต้องมองทุกแง่มุม ไม่โยนภาระให้ผู้ประกอบการทางเดียว เช่นเดียวกับดอกเบี้ย 15% จะดูแค่มุมว่ามีหลักประกัน ดอกเบี้ยต่ำได้ แต่ควรมองมุมตัวลูกค้าด้วย ซึ่งมีทั้งเสี่ยงและไม่เสี่ยง รวมถึงต้นทุนการดำเนินงานเพื่อความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย” แหล่งข่าวกล่าว

แยกคุมแทรกเตอร์-อุปกรณ์เกษตร

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจลีสซิ่งยังขอให้ สคบ.ทบทวน และศึกษาเพดานอัตราดอกเบี้ยและกฎเกณฑ์เพิ่มเติมในส่วนของรถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรกลการเกษตร โดยเสนอให้ประกาศแยกอีกฉบับ เนื่องจากรถเหล่านี้มีความเฉพาะตัว เช่น กำหนดให้ยึดรถได้ หากมีการค้างชำระเกิน 3 งวด แต่หากดูไส้ในการชำระหนี้ของลูกค้าเหล่านี้จะเป็นการชำระหนี้รอบเดียว หรือ 2 ครั้งต่อปี ขึ้นอยู่กับผลผลิตที่จะเก็บเกี่ยว หากจะมีการยึดรถต้องรอนานถึง 3 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องความเป็นจริง

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า หากท้ายที่สุด สคบ.กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ย 15% น่าจะเห็นผู้ให้สินเชื่อมีการปรับอัตราการวางเงินดาวน์เพิ่มสูงขึ้นในระดับ 25-30% จากปัจจุบันเฉลี่ย 0-5% เช่น รถยนต์ 1 ล้านบาท วางดาวน์ราว 3 แสนบาท ปรับเพิ่ม 5-6 เท่า

และกรณีคนไม่มีเงินวางดาวน์อาจไปกู้นอกระบบทำให้เสียดอกเบี้ย 2 ต่อ ประกอบกับมีร่างประกาศ สคบ.ที่โอนสิทธิ์ให้บุคคลภายนอกซื้อรถคืนได้เป็นการเปิดช่องโหว่ให้เจ้าหนี้นอกระบบให้ลูกค้าเซ็นยินยอมมอบรถให้ หากผ่อนเงินกู้ที่นำมาวางดาวน์ไม่ไหว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า หลังจากนี้ สคบ.กำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถส่งความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ถึงภายในวันที่ 7 พ.ย.นี้ หลังจากนั้น สคบ.จะมีการพิจารณาเป็นการภายใน และเสนอต่อคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาอีกครั้ง ก่อนลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งภายหลังจากลงประกาศจะมีผลบังคับใช้แล้ว ภายใน 90 วัน จะบังคับใช้จริง ทั้งนี้ น่าจะภายในต้นเดือน มี.ค. 2565

เช่าซื้อมอ’ไซค์อ่วม

ด้านนายประพล พรประภา รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ฐิติกร หรือ TK กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่มองว่าเพดานดอกเบี้ยต่ำเกินไปไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ เนื่องจากความเสี่ยงของลูกค้าแตกต่างกัน จึงเสนอให้ สคบ.ประเมินให้รอบด้าน ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยอัตราดอกเบี้ยไม่ควรต่ำกว่าหรือเทียบเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์และพิโกไฟแนนซ์ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 33-36% ต่อปี

“หาก สคบ.ยืนยันเพดานดอกเบี้ย 15% จะกระทบธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์แน่นอน จะเห็นผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจ หรือบางรายอาจไม่สามารถไปต่อได้ เพราะไม่คุ้มกับต้นทุนและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ภาพรวมการเติบโตจะหดตัวอย่างรุนแรง กระทบไปยังผู้ผลิตและตลาดแรงงานในซัพพลายเชนรถจักรยานยนต์ที่มีกว่า 5 แสนคน รถจักรยานยนต์ 75% ผลิตใช้ในประเทศ อีก 25% ส่งออก”

ปัจจุบันอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์มียอดขายเฉลี่ย 1.7-2 ล้านคันต่อปี 80% ใช้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ หากคำนวณราคาเฉลี่ยต่อคันอยู่ที่ 4-5 หมื่นบาท หากคิดเป็นเม็ดเงินปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยอยู่ที่ 6 หมื่น-1 แสนล้านบาทขึ้นอยู่กับภาวะตลาด หากกำหนดเพดานดอกเบี้ย 15% ต่อปีจะทำให้สัดส่วนที่ใช้สินเชื่อเช่าซื้อหดตัวรุนแรง และลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงจะโดนผลักไปนอกระบบ สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและเลือกลูกค้า จะเห็นยอดการปฏิเสธสินเชื่อ (rejection rate) เพิ่มขึ้น

“อาจเห็นลูกค้า 100 คน เข้ามาขอสินเชื่อผ่านการอนุมัติเพียง 20 คน จากเดิมเฉลี่ย 40-60 คน และเพื่อให้ครอบคลุมความเสี่ยงผู้ประกอบการจะปรับเพิ่มวงเงินดาวน์สูงขึ้นเป็น 30-40% หากดาวน์ต่ำลูกค้าจะแบกภาระค่าผ่อนชำระต่องวดสูงขึ้น การแคปเพดานดอกเบี้ยไม่มีประเด็น


แต่หากแคปต่ำจนเกินไปจะทำให้ผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ จะเห็นว่าแม้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์หรือนาโนไฟแนนซ์อัตราดอกเบี้ยยังเฉลี่ย 33-36% เม็ดเงินปล่อยรวมแค่ 2 หมื่นล้านบาท แต่อัตราหนี้เสียของพิโกไฟแนนซ์สูงถึง 32% สะท้อนความเสี่ยงของลูกค้า จึงอยากให้ สคบ.บาลานซ์ให้เหมาะสม”