คาดแรงขายหุ้นไทยไม่หนัก เฟดคงดอกเบี้ย-หั่น QE เดือนละ 15,000 ล้านดอลล์

เงินบาท ตลาดหุ้น ปันผล
แฟ้มภาพ

บล.ฟิลลิป ประเมินตลาดหุ้นไทยแกว่งตัว 1,600-1,620 จุด อิงทางลงก่อนรับผลประชุม “เฟดคงดอกเบี้ย-หั่น QE เดือนละ 15,000 ล้านดอลล์” แต่ดาวน์ไซต์ถูกประคองด้วยปัจจัยภายในอย่างการเปิดประเทศ เชื่อเป็นตามตลาดคาดการณ์นักลงทุนตอบรับไประดับหนึ่งแล้ว อาจไม่เห็นแรงขายลดสถานะที่รุนแรง แต่ฟันด์โฟลว์อาจชะลอลงเล็กน้อย

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานภาวะตลาดหุ้นไทยวันนี้ว่า คาดดัชนี SET Index เช้านี้แกว่งตัวในกรอบระหว่าง 1,600-1,620 จุด แต่อาจอิงทางลงก่อนหลังเมื่อคืนนี้ประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ประกาศทำ QE Tapering อย่างเป็นทางการตามที่ตลาดคาดการณ์ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) สหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้นแตะระดับ 1.59% พร้อมด้วยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ และการดิ่งหนักของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

แต่ดาวน์ไซต์จะถูกประคองด้วยปัจจัยภายในอย่างการเปิดประเทศ และวันนี้ติดตามผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในโค้งสุดท้ายของปีหรือไม่

สำหรับผลการประชุม FOMC ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 2-3 พ.ย. 2564 ทาง Fed ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.00-0.25% และประกาศทำ QE Tapering อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเริ่มในช่วงหลังของเดือนนี้ด้วยการลดวงเงินลงเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (พันธบัตรรัฐบาล 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และพันธบัตรจำนองบ้าน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนมุมมองเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นนั้น Fed ยังคงนิยามว่าเป็น “ภาวะชั่วคราว” แม้อัตราเงินเฟ้อจะสูงที่สุดในรอบ 30 ปี อีกทั้งเชื่อว่าจะกลับมาที่ป้าหมายระดับ 2% แต่ด้วยระยะเวลาที่นานขึ้น

ส่วนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น Fed มีแนวโน้มที่จะขึ้นหลังจากการทำ QE Tapering สิ้นสุดลงในช่วงเดือน มิ.ย. 2565 ซึ่งจะใกล้เคียงกับคาดการณ์ของตลาดว่า Fed จะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน ก.ค. 2565 แต่เบื้องต้นทางฝ่ายมองว่า Fed อาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงแค่ครั้งเดียว

โดยสรุปการประชุมครั้งนี้ป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์และ Fed ได้ส่งสัญญาณมาก่อนหน้าที่คาดว่าตลาดตอบรับไประดับหนึ่งแล้ว จึงอาจไม่เห็นแรงขายลดสถานะที่รุนแรง แต่ฟันด์โฟลว์อาจมีชะลอลงเล็กน้อย

ส่วนวานนี้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเซาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนา Boost Up Thailand 2022 โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มจะขยายตัว 5-6% หากไม่มีการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และมีโอกาสเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณามาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ทางฝ่ายประเมินว่าอาจเป็นมาตรการด้านการลดภาษีนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าและสนับสนุนการเปิดฐานการผลิตในประเทศไทย


โดยกลยุทธ์การลงทุน เน้นเก็งกำไรในธีม 1.แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น และ Inflation Hedge หลัง Fed ส่งสัญญาณนโยบายทางการเงินเข้มงวด อาทิ กลุ่มธนาคาร, กลุ่มอุปโภคบโภค 2.ยานยนต์ไฟฟ้า EV และ 3.Earning Play